ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ลงพื้นที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เยี่ยมชมการจัดบริการ "ดูแลผู้ป่วยล้างไตทางหน้าท้องและผู้ป่วยติดเตียง" ในพื้นที่ห่างไกลใช้ โดยใช้ telemedicine เป็นหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญ  ชี้ ผู้ป่วยล้างไตได้เองที่บ้านช่วยลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนของผู้ป่วยได้ดีมาก 

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสปสช. พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผอ.สปสช.เขต1 เชียงใหม่ และคณะสื่อมวลชน เดินทางลงพื้นที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เพื่อเยี่ยมชมการจัดบริการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ล้างไตผ่านทางช่องท้อง (CAPD) และผู้ป่วยติดเตียง ของโรงพยาบาลบ่อเกลือและเครือข่ายหน่วยบริการในพื้นที่

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวขณะลงพื้นที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ว่า การจัดบริการสุขภาพในพื้นที่ห่างไกลที่อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เป็นอีกตัวอย่างสะท้อนให้เห็นว่า กลไกต่างๆ ในระบบสุขภาพของประเทศไทย ยังสามารถจัดบริการได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลจากบุคลากรสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง พร้อมเข้าถึงยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสิทธิประโยชน์บัตรทองจะทำให้ประชาชนไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยายาล แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายทางอ้อม เช่น ค่าเดินทางไปพบแพทย์ตามนัด ซึ่งต้องไปโรงพยาบาลแม่ข่าย และมีค่าใช้จ่ายวันละหลายร้อยบาท แต่ทั้งนี้ โรงพยาบาลบ่อเกลือ พยายามใช้การแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine สำหรับดูแลผู้ป่วยได้พบแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ ขณะเดียวกัน สปสช.มีสิทธิประโยชน์ในการให้ค่าตอบแทนเพิ่มเติมสำหรับบริการ Telemedicine ขณะเดียวกัน สปสช.พร้อมจะรับฟังทุกข้อเสนอแนะ เพื่อปรับปรุง เพิ่มเติมให้การบริการสุขภาพสำหรับประชาชนให้ดี และเข้าไปช่วยแก้ปัญหา โดยเฉพาะกฎระเบียบที่อาจทำให้หน่วยบริการทำงานได้ไม่สะดวก ซึ่ง สปสช.พร้อมจะรับข้อมูลไปเพื่อปรับให้การบริการตามชุดสิทธิประโยชน์ดีมากขึ้น

"การแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine อาจจะมีปัญหาในบางพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่แล้วสัญญาณอินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงได้ ขณะเดียวกัน ประชาชนบางส่วนในพื้นที่ห่างไกลอาจไม่มีสมาร์ทโฟนใช้ แต่ก็ยังสามารถใช้บริการ Telemedicine ได้ผ่านสมาร์ทโฟนของ อสม. หรือของรพ.สต.ในพื้นที่ได้เช่นกัน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องเทคโนโลยีเหล่านี้ได้" ทพ.อรรถพร กล่าว

ด้านนายอดิศักดิ์ สุยะ ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านผักเฮือก กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยโรคไตรายดังกล่าวอาศัยอยู่ห่างจาก รพ.สต. ไม่ต่ำกว่า 20 กม. จึงให้ผู้ป่วยล้างไตทางหน้าท้องที่บ้าน แต่เนื่องจากผู้ป่วยมีฐานะยากจน จึงได้ขอความร่วมมือชุมชน ในการจัดทำห้องสำหรับล้างไตให้ รวมทั้งขอรับการสนับสนุนเตียงจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดน่าน ขณะที่ รพ.สต. จะจัดทีมออกเยี่ยมบ้านในทุกๆ วันจันทร์และพฤหัสบดีของทุกสัปดาห์

ขณะที่ผู้ป่วยติดเตียงจะมี อสม. ให้การดูแลเข้าไปเยี่ยมวัดไข้ วัดความดันโลหิต ตลอดจนให้คำแนะนำในการดูแลต่างๆทุก 2 วัน อีกทั้งผู้ป่วยจะมีหมายเลขโทรศัพท์ของ รพ.สต. สำหรับติดต่อ หากมีอาการแทรกซ้อนใดๆ ก็สามารถแจ้งมาที่ รพ.สต. ได้ทันที เจ้าหน้าที่จะออกไปเยี่ยมบ้านโดยไม่จำเป็นต้องรอตามกำหนดการเดิม 

“การที่ผู้ป่วยได้ทำการล้างไตที่บ้านอย่างถูกต้องผ่านคำแนะนำ และได้รับการติดตามของแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางเข้าไปยังโรงพยาบาลอำเภอบ่อเกลือเพื่อไปล้างไตสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ซึ่งช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าเดินทางได้สัปดาห์ละ 600 บาท ทำให้ผู้ป่วยมีเงินเหลือเก็บได้อีกเดือนละกว่า 2,000 บาท” นายอดิศักดิ์ กล่าว 

นายจรัส พนะสัน ผู้ใหญ่บ้าน บ้านยอดดอยวัฒนา ม.10 ต.บ่อเกลือ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน กล่าวว่า การปรับปรุง และจัดทำห้องสำหรับล้างไตให้ผู้ป่วยในหมู่บ้านที่มีฐานะยากจน จะอาศัยความร่วมมือของคนในหมู่บ้าน ชุมชน ได้มาช่วยกันปรับปรุงตามกำลังที่มี โดยไม่ได้ขอรับการสนับสนุนจากท้องถิ่น ซึ่งห้องล้างไตที่จัดทำขึ้น ได้ดำเนินการร่วมกันกับรพ.สต.ในพื้นที่ ซึ่งใช้ระยะเวลาแค่ 1 วันก็จัดการได้เสร็จ 

นอกจากนี้ คณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมบ้านนางวรรณภา ชราชิต อายุ 38 ปี ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ล้างไตผ่านทางช่องท้อง ซึ่งได้รับการดูแลและฉีดยากระตุ้นเม็ดเลือดโดยสถานบริการสาธารณสุขชุมชน (สสช.) บ้านยอดดอยวัฒนา และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านผักเฮือก

ซึ่งผู้ป่วยได้รับการสนับสนุนการปรับปรุงห้องสำหรับการล้างไตผ่านทางหน้าท้องจากความร่วมมือของชุมชนในการออกค่าใช้จ่ายและออกแรงในการก่อสร้าง และได้รับการสนับสนุนเตียง แอลกอฮอล์ อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์จาก สสช. บ้านยอดดอยวัฒนา รพ.สต.บ้านผักเฮือก และ รพ.บ่อเกลือ สำหรับการจัดการขยะติดเชื้อผู้ป่วยจะนำถุงน้ำยาล้างไตมาทิ้งในขยะติดเชื้อที่สสช.บ้านยอดดอยวัฒนา

จากนั้นเดินทางไปเยี่ยมบ้าน นายสุรสิทธิ์ ปารมี อายุ 24 ปี ประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ชนต้นไม้และเป็นผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งได้รับการดูแลจาก รพ.สต.บ้านผักเฮือก  และทีมสหวิชาชีพจากโรงพยาบาลบ่อเกลือได้สนับสนุนอุปกรณ์และผ้าอ้อมผู้ใหญ่ในการใช้ชีวิตประจำวันด้วย

ด้าน น.ส.พิมพิไล ช่างทอง หัวหน้ากลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลบ่อเกลือ กล่าวว่า อ.บ่อเกลือ อยู่ห่างจาก อ.ปัวประมาณ 46 กม. และห่าง อ.เมืองน่าน ประมาณ 106 กม. พื้นที่ส่วนใหญ่ 80% เป็นพื้นที่ภูเขา อีก 20% เป็นที่ราบ ประชากรตามทะเบียนราษฎร์ 13,000 คน ในส่วนของผู้ป่วยต้องฟอกไตทางหน้าท้องมี 11 ราย ที่รับส่งต่อมาจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัวและโรงพยาบาลน่าน เมื่อส่งมาที่บ่อเกลือแล้วจะมีพยาบาลผู้รับผิดชอบงานโรคไตทำหน้าที่ติดตามอาการ โดยจะมีการลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมประเมินที่อยู่อาศัยว่าเอื้อต่อการล้างไตทางหน้าท้องหรือไม่ หากทำที่บ้านไม่ได้ก็จะประสานองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลจัดสถานที่ล้างไตที่เหมาะสมให้

นอกจากนี้ พยาบาลจะลงพื้นที่ติดตามอาการผู้ป่วยทุกเดือน รวมทั้งส่งข้อมูลให้ รพ.สต. ในพื้นที่ติดตามซ้ำ กรณีผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อน พยาบาลผู้รับผิดชอบสามารถโทรปรึกษาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัวหรือโรงพยาบาลน่านได้ตลอด 24 ชม. และหากต้องมีการส่งต่อ ทางโรงพยาบาลบ่อเกลือก็จะจัดรถพยาบาลไปส่ง

ขณะที่การดูแลผู้ป่วยติดเตียง เมื่อโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัวหรือโรงพยาบาลน่านส่งตัวมาแล้ว พยาบาลก็จะแจ้ง รพ.สต. เพื่อติดตามอาการ พร้อมลงพื้นที่ไปกับทีม รพ.สต. ในสัปดาห์แรก หลังจากนั้นจะเยี่ยมประเมินทุก 3 เดือน หรือหากเป็นผู้ป่วยในที่แพทย์อนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลบ่อเกลือแล้ว จะมีการประเมินกิจวัตรประจำวัน (ADL) หากได้คะแนนต่ำกว่า 20 จะประเมินซ้ำเป็นระยะ 1 สัปดาห์ 1 เดือน และ 3 เดือน ขณะเดียวกัน จะมีนักกายภาพบำบัดและนักโภชนาการ ร่วมออกหน่วยไปกับทีมสหวิชาชีพเพื่อให้้คำแนะนำในการทำกายภาพบำบัดด้วย