ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน” พร้อมอธิบดีกรมการแพทย์  เปิดตัว รถฟอกไตเคลื่อนที่ นวัตกรรมต้นแบบเพื่อประชาชน คันแรกของประเทศไทยและประชาคมอาเซียน   ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทาง ผู้ป่วยเข้าถึงบริการที่สะดวก  ใกล้บ้าน นำร่องอ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี ก่อนถ่ายทอดเทคโนโลยีให้โรงพยาบาลอื่นๆทั่วประเทศ

 

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน  ที่อาคารภูมิจิต กระทรวงสาธารณสุข  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดรถฟอกไตเคลื่อนที่ นวัตกรรมต้นแบบเพื่อประชาชน ของกรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายขยายบริการฟอกไตฟรีให้ครอบคลุมทุกอำเภอ โดยผลักดันให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เน้นให้บริการผู้ป่วยโรคไตแบบเชิงรุก มุ่งการเข้าถึงบริการแบบไร้รอยต่อ ลดแออัด ลดรอคอย สะดวกและใกล้บ้าน ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์โรคไตเรื้อรังในประชากรไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปี 2565 พบว่า 1 ใน 25 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง กลายเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรายใหม่ ต้องล้างไตเพิ่มจำนวนมากขึ้น

รพ.นพรัตน์ จัดรถฟอกไตเคลื่อนที่คันแรกของไทย

“ล่าสุดกรมการแพทย์ โดย รพ.นพรัตน์ฯ มีโมบายยูนิตเพื่อฟอกไตให้กับผู้ป่วยโรคไต ซึ่งเป็นคันแรกของไทยและอาเซียน ต่อไปก็จะมีการใช้และพัฒนาต่อยอด คำนึงถึงประโยชน์และความคุ้มค่าของสูงสุดต่อไป เช่น การเพิ่มจำนวนเตียงในรถโมบาย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สธ. มีนโยบายฟอกไตฟรีให้กับผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการฟอกไตได้ที่หน่วยฟอกไตใกล้บ้านได้ แต่ยังต้องเน้นย้ำเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค ไม่ใช่ว่ามีบัตรทอง รักษาฟรีแล้วจะไม่ต้องดูแลสุขภาพ เพราะจะส่งผลต่อการให้บริการในสถานพยาบาลได้” นายอนุทิน กล่าว

 

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวว่า ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ระยะที่ 5 ที่ต้องรับการรักษาด้วยการล้างไตทางหน้าท้อง (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis : CAPD) 23,414 ราย และฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) 49,609 ราย มีคลินิกให้บริการฟอกไตด้วยวิธี Hemodialysis 1,151 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ยังมีบางพื้นที่ที่ห่างไกล ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงบริการได้สะดวก ส่งผลต่อคุณภาพและความต่อเนื่องในการรักษา รถฟอกไตเคลื่อนที่ จึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังได้มากขึ้น

ฟอกไตได้ 3 รอบต่อวัน

“ภายในรถ ประกอบด้วย เครื่องฟอกไต 2 เครื่อง ให้บริการได้ 3 รอบต่อวัน มีระบบน้ำและไฟฟ้า ระบบการกำจัดน้ำเสียจากการล้างไตผู้ป่วย ที่ได้มาตรฐานและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยมีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญไตเทียม 1 คน และผู้ช่วยพยาบาลอีก 1 คน ประจำรถให้บริการ และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต ติดตามอาการผู้ป่วยขณะฟอกเลือดผ่านทางแอปพลิเคชัน ซึ่งจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศนำไปใช้บริการต่อไป” นพ.ธงชัย กล่าว

ด้าน นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า สำหรับ รพ.นพรัตน์ฯ ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตวันละ 50 ราย รถฟอกไตคันแรกนี้ จะนำร่องให้บริการที่ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี เพราะยังไม่มีหน่วยฟอกไต ทำให้ผู้ป่วยต้องเดินทาง จึงมีการนำร่องในพื้นที่ดังกล่าวก่อน

ขณะที่ผู้ป่วยโรคไตของ รพ.นพรัตน์ฯ 2 ราย คือ น.ส.สายยล ชุมแสง และ น.ส.นันท์ลภัส รังสรรค์ปัญญา กล่าวว่า ตนทั้ง 2 คนเป็นผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตสัปดาห์ละ 3 วัน มานานกว่า 10 ปี โดยแต่ละครั้งก็มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ส่วนการฟอกไตด้วยรถโมบาย ตนมองว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ติดเตียงแล้วต้องใช้รถพยาบาลในการเดินทาง ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายวันละ 1,600 บาท ดังนั้น ถ้ามีรถฟอกไตไปหาใกล้บ้าน ก็จะลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้มาก โดยรถฟอกไตก็มีความสะดวก เย็นสบายตัว และมีความเป็นส่วนตัวสำหรับผู้ป่วยมาก จึงต้องขอบคุณ สธ. ที่ให้ความสำคัญและคำนึงถึงผู้ป่วยโรคไต