ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประชุมคณะทำงานหารือทางออก 6 ข้อเสนอลูกจ้าง พกส. เลื่อนเร็วขึ้นจาก 2 มี.ค. เป็น 21 ก.พ. 66 เบื้องต้นมีความหวัง 2 ข้อ กรณี “ค่าเสี่ยงภัยชายแดนใต้” เสนอกรมบัญชีกลางพิจารณา ส่วน “เงินเสี่ยงภัยโควิด” ชงเรื่องสำนักงบฯแล้ว ขณะที่ประเด็นอื่นๆ ยังต้องรอ เหตุมีขั้นตอน ด้านสหภาพลูกจ้างฯ ตัวแทนร่วมประชุมเตรียมหารือแนวทางเคลื่อนไหว  “โอสถ” เผยค่าโอทีหากต้องการเพิ่ม สธ.แนะให้คกก.ค่าจ้างจังหวัดพิจารณา

 

จากกรณีสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย(สลท.) พร้อมด้วยตัวแทนพนักงานกระทรวงสาธารณสุข(พกส.) ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างเหมาบริการ(รายวัน-รายเดือน) สายสนับสนุนบริการ 56 สายงาน เดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยื่นหนังสือและเรียกร้องสวัสดิการที่เป็นธรรม 6 ข้อ โดยได้ปักหลักนอนค้างกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 กระทั่งมีการเจรจาหารือในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ และตั้งคณะทำงานหาทางออกทั้ง 6 ข้อ โดยนัดประชุมหารือวันแรก 2 มีนาคม 2566 ส่งผลให้กลุ่มลูกจ้างยอมยุติการชุมนุมนั้น

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะทำงานพัฒนาและปรับปรุงสวัสดิการของลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) โดยมี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวงและผอ.ศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ สธ. นายโอสถ สุวรรณ์เศวต ประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.)   พร้อมคณะ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อร่วมกันหาแนวทางตาม 6 ข้อเรียกร้องของกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวและพกส. ซึ่งการประชุมครั้งนี้เลื่อนเร็วขึ้นจากเดิมกำหนดวันที่ 2 มีนาคม 2566

นพ.ทวีศิลป์   กล่าวภายหลังการประชุม ว่า  คณะทำงานพัฒนาและปรับปรุงสวัสดิการของลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานกระทรวงสาธารณสุขในวันนี้ สืบเนื่องมาจากกลุ่มผู้แทนสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย ตัวแทน พกส. ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างเหมาบริการ (รายวัน-รายเดือน) สายสนับสนุนบริการ 56 สายงาน ได้มายื่นหนังสือขอให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลสวัสดิการ 6 ข้อ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และได้มีมติให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งขอย้ำว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้ความสำคัญในการดูแลขวัญและกำลังใจของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานทุกคน โดยเรื่องใดดำเนินการได้ให้เร่งดำเนินการและต้องดูแลทุกวิชาชีพอย่างเป็นธรรม

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า จากการหารือร่วมกันได้มีมติทั้ง 6 ข้อ ดังนี้ ข้อ 1  การขอให้ พกส. สายสนับสนุนบริการ เข้าสู่ระบบการจ้างด้วยเงินงบประมาณผ่านกระทรวงการคลังโดยตรง และข้อ 2  การให้ยกเลิกสัญญาจ้างระยะสั้น 4 ปี และปรับระบบสัญญาจ้างงานจนถึงอายุ 60 ปี ทั้ง 2 เรื่อง เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและเกินอำนาจการบริหารจัดการของกระทรวงฯ จะต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ส่วนข้อ 3  การขอให้ยกเลิกการจ้างลูกจ้างชั่วคราว จ้างเหมาบริการ (รายเดือน/รายวัน) และปรับเป็นพกส. ทั้งหมดทั่วประเทศ กรณีนี้ไม่สามารถดำเนินการยกเลิกได้ทันที แต่จะทยอยลดการจ้างงานและผลักดันให้เข้าสู่ระบบการจ้างเป็น พกส. ต่อไป

ข้อ 4 การขอให้พกส.และลูกจ้างที่ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้รับค่าเสี่ยงภัยเหมือนข้าราชการ ได้หารือกับกรมบัญชีกลางแล้ว อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเพื่อผลักดันค่าตอบแทนพิเศษ โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่   ปริญญาตรี ค่าตอบแทน 1,000 บาท และต่ำกว่าปริญญาตรี 500 บาท โดยจ่ายจากเงินบำรุง ซึ่งจะได้รับทั้งข้าราชการและลูกจ้าง 

ข้อ 5  การขอให้ พกส.และลูกจ้างทุกประเภท ได้รับค่าเสี่ยงภัยจากการปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด 19 ได้ดำเนินการขอรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งสายวิชาชีพและสายสนับสนุนทั้งหมด ซึ่งเรื่องอยู่ที่สำนักงบประมาณ เพื่อเตรียมนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

ข้อ 6 การขอปรับค่าทำงานนอกเวลา (OT) ของพกส.และลูกจ้างชั่วคราว ให้ยึดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทนฯ ฉบับที่ 5 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมาก่อน โดยการเพิ่มอัตราค่าตอบแทนที่มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เป็นอำนาจของแต่ละจังหวัด/เขต ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานะเงินบำรุงของโรงพยาบาล ส่วนปัญหาความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนของแต่ละพื้นที่ที่ไม่เท่ากัน ได้ขอให้ทางสมาพันธ์ฯ รวบรวมข้อมูล เพื่อดำเนินการแก้ไขเป็นรายจังหวัดต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้ให้ทางสมาพันธ์ฯ สำรวจข้อมูลภาระหนี้ของพนักงาน เพื่อให้คณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ได้นำมาพิจารณาวางแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ทั้งนี้ หากบุคลากรในพื้นที่ใดไม่ได้รับความไม่เป็นธรรม สามารถแจ้งมายังศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตามระบบ

นายโอสถ กล่าวภายหลังการประชุมว่า จากการประชุมวันนี้มีเพียง 2 ข้อที่มองว่ายังพอมีหวัง คือ ขอให้พนักงานกระทรวงฯ และลูกจ้างที่ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ 5 อำเภอในจ.สงขลา ขอให้ได้รับเงินค่าเสี่ยงภัยเหมือนข้าราชการอื่นๆ  เรื่องนี้ทำเรื่องไปแล้วว่า ควรให้กับผู้ปฏิบัติงานที่มีวุฒิสูงกว่าปริญญาตรี จะได้รับ 1,000 บาท และวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีจะได้รับ 500 บาท ตรงนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ รอกรมบัญชีกลางเห็นชอบ  ส่วนเรื่องค่าเสี่ยงภัยโควิด-19 ทำเรื่องของบฯ จากสำนักงบประมาณแล้ว ต้องรอเช่นกัน

“ส่วนเรื่องอื่นๆ อีก 4 ข้อ  อย่างการขอปรับค่าทำงานนอกเวลา หรือโอทีของพวกตนให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่สูงขึ้น โดยขอปรับเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศในส่วนของสายที่กำหนดวุฒิขอให้ปรับตามที่กระทรวงกำหนด ที่ประชุมบอกว่า เพิ่งขึ้นค่าโอทีไปไม่ถึง 1 เดือน หากจะขึ้นอีกอาจจะลำบาก  ซึ่งเสนอว่า หากต้องการเพิ่มเติมสามารถเรียกร้องได้ที่คณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดแทน”

นายโอสถ กล่าวอีกว่า ส่วนอีก 3 ข้อยังไม่สามารถดำเนินการใดๆได้  คือ 1.ข้อเสนอให้พนักงานกระทรวงสาธารณสุข(พกส.) สายสนับสนุบริการ เข้าสู่ระบบการจ้างด้วยเงินงบประมาณผ่านกระทรวงการคลังโดยตรง มิใช่การจ้างงานด้วยเงินบำรุง  2.ข้อเสนอให้ยกเลิกสัญญาจ้างระยะสั้น 4ปี ให้จ้างถึง 60 ปี เพื่อความมั่นคงในการทำงาน  และ3.ข้อเสนอให้ยกเลิกการจ้างที่ไม่เป็นธรรม โดยให้จ้างเป็นลูกจ้างสายพันธุ์เดียว คือ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข  

“หลังจากนี้ต้องขอหารือกับสมาชิก และคณะกรรมการฯ ว่า พวกเราจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรต่อไป.. เพราะจากการประชุมทางผู้บริหารระบุว่า ส่วนใหญ่ยังต้องรอสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลางพิจารณา ” นายโอสถ กล่าว

 

ข่าวเกี่ยวข้อง

-ยุติชุมนุม! ม็อบลูกจ้าง หลังผู้บริหารสธ.หารือเตรียมตั้งคณะทำงานร่วมหาทางออก 2 มี.ค.นี้

ลูกจ้างสายสนับสนุนบุก สธ.ร้องสวัสดิการความเป็นธรรม “การจ้างงาน-ค่าเสี่ยงภัย-ค่าตอบแทน” ด้านผู้บริหารตอบทุกข้อ!!

 

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org