ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย การถ่ายโอนภารกิจ สอน./ รพ.สต. จะครบกำหนดการช่วยเหลือในระยะเปลี่ยนผ่าน 6 เดือน ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ได้สั่งการ สสจ.ให้ อบจ.ที่มีความพร้อมบริหารจัดการภารกิจ สอน./ รพ.สต. เอง 100% โดยยังเฝ้าระวังผลกระทบกับประชาชนต่อเนื่อง เพื่อรวบรวมเสนอต่อคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รอบปีงบประมาณ 2566 ได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 จำนวน 3,263 แห่งใน 49 จังหวัด และมีการทยอยถ่ายโอนจนครบตามเป้าหมาย ซึ่งแม้ว่าจากการประเมินของกระทรวงสาธารณสุขจะพบระบบการเตรียมพร้อมของ อบจ.ในการรับถ่ายโอนภารกิจยังดำเนินการได้ไม่เต็มที่ใน 3 เดือนแรก และได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดติดตามให้การช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบในการจัดบริการประชาชน เป็นระยะเวลา 6 เดือน

ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 1 เมษายน 2566 นี้ แต่จากการแถลงข่าวของทาง อบจ.ในคราวต่างๆ รวมถึงในการประชุมคณะอนุกรรมการถ่ายโอนฯ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และการตอบข้อซักถามของคณะกรรมาธิการวุฒิสภา เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ได้ยืนยันว่ามีการเตรียมพร้อมและแก้ไขระเบียบต่างๆ เพื่อรองรับการถ่ายโอนเรียบร้อยแล้ว อยากให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลด้านวิชาการและ regulator

นพ.พงศ์เกษม กล่าวต่อว่า ดังนั้น สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะได้สั่งการเชิงนโยบายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ อบจ.มีความพร้อมแล้ว มอบให้ อบจ.บริหารจัดการภารกิจทั้งหมดเอง และให้ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบต่อประชาชนเพื่อให้การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาทันที พร้อมรายงานข้อมูลต่อสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรวบรวมเสนอต่อคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมาธิการวุฒิสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับการสอบถามข้อมูลมาอย่างต่อเนื่องต่อไป

นอกจากนี้ ได้ปรับวิธีการรับรองการทำงานของ อสม. จากเดิมที่ต้องผ่านเจ้าหน้าที่ของ สอน./รพ.สต. มาเป็นการรับรองผ่านระบบดิจิทัล หรือเอกสารรับรองเท่าที่จำเป็นให้ผ่าน สสอ.แทน โดยออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดการเบิกจ่ายเงินค่าป่วยการ อสม. ผ่านระบบ e-Social welfare และรายงานผลการปฏิบัติงานผ่านแอปพลิเคชัน Smart อสม. เป็นการลดขั้นตอนการทำงาน เพิ่มความคล่องตัว และเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น