ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โฆษกประจำตัวรมช.สธ. ในฐานะสูตินรีแพทย์ เผยกรณี “นิ่ม” เป็นตัวอย่างแม่วัยใสท้องไม่พร้อม ปัญหาสังคมเรื่องใหญ่ที่ต้องร่วมแก้ไข เหตุส่งผลทั้งร่างกายและจิตใจ ตัวแม่และลูก ความรุนแรงในครอบครัว ชี้ 4 P ร่วมหาทางออกด้วยกัน

 

จากกรณีพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยผลการสอบปากคำ น.ส.นิ่ม(สงวนชื่อจริง) แม่ของน้องต่อ เด็กอายุ 8 เดือนที่หายตัวไปจากบ้านพักในพื้นที่จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ให้การยอมรับสารภาพว่าเป็นคนทำให้ลูกเสียชีวิตและนำศพไปโยนทิ้งน้ำ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะแม่วัยใส ความรุนแรงในครอบครัว สิ่งเหล่านี้แก้ปัญหาได้หรือไม่นั้น

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์ และโฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.)  กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า  จากการที่ตนทำงานด้านสูตินรีเวช และอยู่กรมอนามัยด้วยนั้น พบปัญหาแม่วัยใสมาโดยตลอด โดยเฉพาะแม่วัยใสที่มาจากการท้องไม่พร้อม พบปัญหาหลัก 2 เรื่อง คือ 1.ปัญหาด้านสุขภาพ ของแม่และเด็ก อย่างดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์ไม่ดีพอ ทำให้มีความเสี่ยงลูกออกมาตัวเล็ก คลอดก่อนกำหนด   และ 2. ปัญหาสังคม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว อย่างที่มักพบเห็นคือ สามีภรรยาทำร้ายร่างกายกัน เด็กถูกทิ้ง  จึงเป็นที่มาของการมีพ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ซึ่งมี 6 กระทรวง ที่เกี่ยวข้องดูแล กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กระทรวงแรงงาน  กระทรวงมหาดไทย  และกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

 

“ปัญหาแม่วัยใสที่ไม่พร้อมมีเยอะมาก  บางคนต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง  จากการพูดคุยหลายคนไม่รู้ว่านี่เป็นปัญหา ซึ่งความที่ยังเป็นเด็ก ทำให้ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนเลี้ยงลูก  นอกจากนี้ ยังพบปัญหาซึมเศร้าหลังคลอด  โดยทั่วโลกอาจจะเกิดได้ราวๆ 7-8 %  ซึ่งในโรงพยาบาลจะมีทีมงานคอยติดตามดูแลหลังคลอดระยะเวลาหนึ่ง เรียกว่าเป็นทีมเยี่ยมบ้านว่า มีปัญหาอะไรหรือไม่ อย่างหากมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตก็จะมีการส่งต่อจิตแพทย์” นพ.โอฬาริก กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าปัญหาแม่วัยใสที่ไม่พร้อม กับครอบครัวที่ไม่เอื้อในการดูแลร่วมกันนั้น จะมีแนวทางป้องกันดูแลอย่างไร นพ.โอฬาริก กล่าวว่า ต้องร่วมกันทั้งหมด โดยต้องใช้ 4 P คือ Patient ตัวเราเองต้องรู้,  Public ภาคประชาชนต้องรู้,  Provider ผู้ให้บริการทุกระดับ ตั้งแต่อสม. คุณหมอ พยาบาล และที่สำคัญคือ Policy maker ระดับนโยบาย โดยทั้ง 4 P ต้องตระหนักรู้ในเรื่องนี้ การแก้ปัญหาต่างๆก็จะเป็นรูปธรรมมากขึ้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : จิตแพทย์เผย “นิ่ม” เป็นอุทาหรณ์ท้องไม่พร้อม หลุดออกนอกระบบการศึกษา ทำไม่รู้สิทธิ์สวัสดิการ)

 

ข่าวอื่นๆ : หมอสูติฯ ชี้ “บุหรี่ไฟฟ้า” กระทบหญิงตั้งครรภ์ ทำเด็กคลอดน้ำหนักน้อย -ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ หารือออกแนวทาง

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org