ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค – กรมปศุสัตว์-  กรมอุทยานฯ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ในการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรคไข้หวัดนก ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว หลังกัมพูชาพบผู้เสียชีวิต ขณะที่ไทยยังไม่พบรายงานทั้งสัตว์ และคน ด้าน อธิบดี คร. เตรียมประชุมซักซ้อมแผนรับมือ รพ.ทั่วประเทศสัปดาห์หน้า  พร้อมเตรียมยาโอเซลทามีเวียร์กรณีพบผู้ป่วย

 

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นสพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และนายอรรถพล เจริญชันษา  อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมลงนามแสดงเจตนารมณ์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้หวัดนก ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว ในการประชุมคณะทำงานศูนย์ประสานงานสุขภาพหนึ่งเดียว (Coordinating Unit for One Health) ครั้งที่ 1/2566 การประชุมในครั้งนี้

นพ.ธเรศ ให้สัมภาษณ์ว่า จากการประชุมได้มีการพิจารณาเตรียมการเรื่องไข้หวัดนก ตามที่มีข่าวการระบาดในประเทศเพื่อนบ้น ทั้ง 3 หน่วยงานภาครัฐและทุกภาคส่วนมีการเตรียมการ เฝ้าระวังการระบาดอย่างต่อเนื่อง อย่างของกรมควบคุมโรค ได้มีการเฝ้าระวังการระบาดมาสู่คน โดยขณะนี้มีการเฝ้าระวังป้องกันคนป่วย มีกลไกด่านควบคุมโรคชายแดน หากพบผู้ป่วย หรือมีอาการปอดบวม มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกต้องมีการตรวจสอบ สอบสวนโรค รวมไปถึงการเตรียมยาคุรุภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งขณะนี้เรามียาโอเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม(อภ.) สำรองไว้หากพบผู้ป่วยในประเทศไทย  รวมไปถึงการขอความร่วมมือสถานพยาบาลในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทั้งหมด

“ขอให้มั่นใจกระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อม จากการเฝ้าระวังยังไม่มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดนกในประเทศไทย เมื่อวานเราได้มีการประชุมกัน ซึ่งจะมีการทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติสอบสวนโรค การรักษา โดยสัปดาห์หน้าจะมีการซักซ้อมกันกับทางโรงพยาบาล รวมทั้งจะมีการซ้อมในระดับพื้นที่ร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย”  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงอาการของผู้ป่วยไข้หวัดนก นพ.ธเรศ กล่าวว่า มีไข้หวัด ระบบทางเดินหายใจ มีไข้ ปอดบวม แต่ประเด็นสำคัญต้องมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก สัตว์ป่วย โดยรวมเรามีวางระบบไว้แล้ว ขอย้ำว่า ยังไม่พบผู้ป่วยเข้าข่ายไข้หวัดนกเลย  อย่างไรก็ตาม จังหวัดทางภาคตะวันออกได้ร่วมกับด่านควบคุมโรคซักซ้อมหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ รวมไปถึงคนป่วยด้วย

เมื่อถามว่าจำเป็นต้องคัดกรองเข้มเฉพาะประเทศที่มีการระบาดไข้หวัดนกหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า  ยังไม่ต้อง โดยขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 โดยเน้นเฝ้าระวังคัดกรอง หากเราพบก็จะเป็นการสืบสวนสอบสวนโรค แต่ปัจจุบันยังไม่พบผู้ป่วย

“ขณะนี้กัมพูชาพบผู้ป่วย 2 ราย ซึ่งตอนนี้สถานการณ์ถือว่า ควบคุมได้ ไม่มีการระบาดทั้งคนและสัตว์” นพ.ธเรศ กล่าว

นสพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์เฝ้าระวังตามจุดเสี่ยงต่างๆ อย่างเคสที่พบในกัมพูชาจะอยู่ไปทางพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และตราดของไทย ซึ่งเรามีระบบการเฝ้าระวัง อย่างนกอพยพ เป็ดไล่ทุ่ง รวมไปถึงผู้ที่เลี้ยงสัตว์ปีก โดยกรมปศุสัตว์มีระบบการเฝ้าระวังต่อเนื่องทุกปี มีการเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการ  8 แห่งทั่วประเทศ รวมไปถึงการประสานงานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. อาสาปศุสัตว์ ฯลฯ ในการเฝ้าระวังหากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ เช่น ตายกระทันหัน อาการชัก คอบิด หงอนสีดำคล้ำ มีอาการระบบทางเดินหายใจ หากพบสิ่งเหล่านี้ให้รีบแจ้งผ่านเครือข่าย เจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 หากพื้นที่ไหนมีเหตุสงสัยเราสามารถทำลายสัตว์ปีกนั้นๆ บริเวณรัศมีโดยรอบได้ เพื่อเป็นการป้องกันดีกว่าแก้ไข

ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ผ่านมาเคยมีรายงานพบสัตว์ป่วยไข้หวัดนกหรือไม่ นสพ.สมชวน กล่าวว่า ไม่เคยมีรายงานพบโรคในสัตว์ อย่างไรก็ตาม เรามีมาตรการเฝ้าระวังต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงปลอดโรคไข้หวัดนก

ผู้สื่อข่าวถามถึงสถานการณ์การลักลอบนำเข้าสัตว์ปีก  นสพ.สมชวนกล่าวว่า มีเล็กๆ น้อยๆ ผู้โดยสารลงมาสนามบินมีชิ้นส่วนไก่บ้าง สารวัตรบีเกิลก็ตรวจจับได้เยอะ แต่ชิ้นส่วนก็ไม่ได้มีอะไร จุดเสี่ยงตรงนี้มีน้อยมาก แต่จุดเสี่ยงอาจเป็นนกลักลอบเข้ามา เราไม่ได้ให้วีซ่า เขาลักลอบเข้ามาก็จะไล่จับไล่ตรวจ ปกติสัตว์ปีกเข้ามาต้องได้รับอนุญาต มิเช่นนั้นคนนำเข้ามาก็ถูกจับ แต่ตัวนกที่มาเองก็ต้องจับนก จะมีการประสานกรมอุทยานฯ ที่มีพื้นที่ชุ่มน้ำ แหล่งนกธรรมชาติตรงไหนเยอะจะเข้าไปเก็บตัวอย่างตรวจเฝ้าระวังว่า พาโรคมาด้วยหรือไม่ ถ้าพาโรคมาจะได้ระวังหรือต้องจัดการอย่างไร 

ถามถึงพื้นที่เป็ดไล่ทุ่งมีมากแค่ไหน  นสพ.สมชวนกล่าวว่า มีไม่เยอะแล้ว สมัยก่อนอาจเยอะ แต่พอมีเรื่องไข้หวัดนกก็น้อยลง ที่มีอยู่ก็ขึ้นทะเบียนทั้งหมด เพราะตามมาตรการต้องมีการสุ่มตรวจโรคเป็นระยะ ถ้ามีซากเป็นตายต้องส่งตรวจ ส่วนสัตว์ปีกเลี้ยงหลังบ้านมีเยอะอยู่ ต้องระวังโดยารเฝ้าระวังโดยแจ้งผู้เลี้ยง กนันผู้ใหญ่บ้านว่าถ้าไก่มีโอกาสไปสัมผัสกับนกหรือมูลนก ถ้ามีเชื้อมาก็ต้องเฝ้าระวัง ถ้าตายกะทันหัน มีอาการตายแบบชักก้ต้องรีบแจ้งมาแล้วเราจะไปตรวจ ก่อนส่งแล็บตรวจหากเราสงสัยเราก็กวาดทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ว่าจะใช่หรือไม่ ถือเป้นจุดแข็งดีกว่ารอไปตรวจเจอ 

ถามต่อว่าเกษตรกรรุ่นใหม่มีการเลี้ยงไก่สวยงามส่งขายทางออนไลน์ต้องมีการลงทะเบียนเพื่อการตรวจสอบด้วยหรือไม่  นสพ.สมชวนกล่าวว่า เราให้ประเทศไทยเป็นเขตเฝ้าระวังไข้หวัดนก ฉะนั้น การที่จะขายเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปที่หนึ่งข้ามจังหวัดต้องขออนุญาต โดยฟาร์มจะมี 2 มาตรฐาน คือ GAP สำหรับฟาร์มเลี้ยงขนาดใหญ่ และ GFM สำหรับชาวบ้านที่ให้ขึ้นทะเบียนและไปรับรองไว้เราก็จะตรวจสอบย้อนกลับได้ สำคัญคือขายในโซเชียลแล้วไม่ได้ขออนุญาตเคลื่อนย้ายผิด ซึ่งตอนนี้กรมปศุสัตว์ตั้งหน่วยงานสารวัตรปศุสัตว์ไซเบอร์คอยมอนิเตอร์มีเจ้าหน้าที่เข้าไป ส่วนมาตรการการขนส่งสัตวืปีกให้มีความปลอดภัย ต้องมีการตรวจก่อนเคลื่อนย้าย ที่ต้องขออนุญาตเพื่อเช็กว่ามีโรคหรือไม่ ถ้าไม่มีโรคก็ไปได้ ไม่มีโรคก็ไปไม่ได้ ไม่ใช่แค่หวัดนก แต่รวมถึงโรคระบาดอื่นด้วย เช่น นิวคาสเซิลถ้าเจอก็เบรกหมด ส่วนใหญ่การเคลื่อนย้ายไกลๆ เป็นสัตว์ปีกสวยงาม ถ้าสัตว์ปีกหลังบ้านจะไปไม่ไกล ส่วนใหญ่ก็ไปเพื่อชำแหละ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า วัคซีนสำหรับสัตว์ปีกจำเป็นต้องใช้หรือไม่ นสพ.สมชวนกล่าวว่า มี แต่ยังไม่ให้ใช้วัควีน เนื่องจากเราอยากรู้ว่ามีสัตวืปีป่วยตายตรงไหนหรือไม่ หากใช้ก็จะมองไม่เห็น และคู่ค้าหลายประเทศก็ไม่แนะนำให้ใช้ แต่ถ้ามีการประชุมองค์กรสุขภาพสัตว์ระหว่างประเทศทั่วโลกถ้ามีมติอย่างไรก็ตามนั้นถ้ามีมติให้ใช้ก็ใช้ตอนนี้ยังไม่มีมติให้ใช้ 

ถามว่าแหล่งท่องเที่ยวที่ให้มีการถ่ายรูปกับนกต้องห้ามไปก่อนหรือไม่ นสพ.สมชวนกล่าวว่า กรมอุทยานฯ มีการเฝ้าระวัง แต่คำแนะนำคือไม่ควรสัมผัสสัตว์ปีกมากจนเกินไป

นายอรรถพล เจริญชันษา  อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า  กรมอุทยานฯ จะรับผิดชอบป้องกันการแพร่ระบาดจากสัตว์ป่า รวมถึงนกอพยพ มีสัตวแพทย์ไปเก็บข้อมูลต่อเนื่อง โดยสัตว์ปีกทั้งหมด รวมถึงค้างคาว ซึ่งเรามีระบบติดตาม ไม่ต้องกังวล   

คลิปวิดีโอ: https://youtu.be/xqcYLMSDGL8

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org