ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอทวีศิลป์” เผยกรณีนักวิชาการสาธารณสุข จัดกิจกรรมสัปดาห์ขอความเป็นธรรมสายงาน ชี้ สธ.ดำเนินการมาตลอด หลายเรื่องนอกอำนาจกระทรวงฯ  ล่าสุดดูแลทุกวิชาชีพ เตรียมถก ก.พ. แนวทางดำเนินการ HR Sandbox   

 

ตามที่ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย) ร่วมกับเครือข่ายนักสาธารณสุข กำหนดให้วันที่ 13-17 มีนาคม 2566 เป็นสัปดาห์เรียกร้องความเป็นธรรมให้นักสาธารณสุขทั่วประเทศ และในวันที่ 14 มีนาคม จะมีผู้แทนยื่นหนังสือที่ กพร. ทำเนียบรัฐบาล กรณีกำหนดตำแหน่งเป็น “นักสาธารณสุข” การบรรจุข้าราชการโควิด ฯลฯ

สธ.หารือ ก.พ.ความก้าวหน้า บุคลากรสาธารณสุข

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า  จริงๆข้อเรียกร้องต่างๆ ไม่เพียงแต่ของนักวิชาการสาธารณสุข แต่รวมถึงทุกวิชาชีพได้มีการรับฟัง และดำเนินการเพื่อสร้างขวัญกำลังใจมาตลอด โดยท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีการประชุมกับทางเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ทุกเดือน ซึ่งมีการหารือกันเป็นประจำในการขับเคลื่อนสิทธิสวัสดิการอย่างเหมาะสมให้กับบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข

“การกำหนดตำแหน่งใหม่ของ นักวิชาการสาธารณสุข เป็น นักสาธารณสุข มีการดำเนินการแล้ว ขณะนี้อยู่ที่การพิจารณาของ ก.พ. โดยกระทรวงสาธารณสุขมีการติดตามตลอด ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้มีหลายเรื่อง ไม่ใช่แค่วิชาชีพเดียว ยังมีอีกหลายวิชาชีพ โดยเราก็พยายามดำเนินการตลอด แม้แต่เรื่องการบรรจุข้าราชการโควิด ขณะนี้ตามมติ ครม.ก็ต้องบริหารอัตราตำแหน่งภายใน หรือบริหารตำแหน่งว่างก่อน แต่ทุกอย่างก็ดำเนินการตามขั้นตอนและทำอย่างดีที่สุด” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าจำเป็นต้องสื่อสารระหว่างวิชาชีพต่างๆของสธ.อีกหรือไม่ เพราะอาจยังไม่เข้าใจขั้นตอนการทำงานของกระทรวงฯ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ท่านปลัด สธ.เคยพบชมรม วิชาชีพต่างๆ ตั้งแต่เดือนตุลาคม ซึ่งก็มีการติดตามความก้าวหน้าตลอด และคาดว่าเร็วๆนี้จะมีการสื่อสารร่วมกันทุกวิชาชีพอีกครั้ง ซึ่งขอย้ำว่า กระทรวงสาธารณสุข ไม่เคยทอดทิ้ง ปลัดสธ.ติดตามเรื่องนี้ด้วยตนเองมาตลอด มีการประชุมหัวหน้าหน่วยราชการ อย่างของสธ.ประชุมกับทางเลขาธิการ ก.พ.ทุกเดือน ซึ่งกระทรวงฯ มีบุคลากรข้าราชการ เจ้าหน้าที่กว่า 3-4 แสนคน

 

สธ.มองไปข้างหน้าหวังดูแลทุกวิชาชีพ

“ปัญหาบุคลากรมีมาต่อเนื่อง หลายเรื่องก็จัดการจนสำเร็จ อย่างกรณีการบรรจุข้าราชการโควิด อาจเป็นกระทรวงเดียวที่ได้ตำแหน่งจากโควิด จริงๆเราไม่ได้มองแค่ ณ ปัจจุบัน เรายังมองไปข้างหน้าถึงกรอบอัตรากำลังอื่นๆ ทั้งสาขาขาดแคลน อย่างแพทย์ พยาบาล ก็ยังขาดแคลน จำเป็นต้องเพิ่มจำนวน รวมไปถึงทันตแพทย์ การเข้าถึงทันตกรรม ท่านปลัดสธ.มีนโยบายโรงพยาบาลทันตกรรม ก็ต้องมาดูการผลิตบุคลากรเพิ่มเติมด้วย รวมทั้งยังมีนักรังสีการแพทย์ ช่วงโควิดทำให้รู้ว่าไม่เพียงพอ ยังมีเรื่องการบำบัดยาเสพติด จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ฯลฯ ก็ยังขาด ซึ่งมีหลายเรื่องมาก มีความเร่งด่วนหลายระดับ ทุกวิชาชีพเราดูแลอย่างเต็มที่” รองปลัด สธ. กล่าว

 

จ่อคุย ก.พ. ดันโมเดลพัฒนาบุคลากรรูปแบบใหม่

ผู้สื่อข่าวถามว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเพราะสื่อสารไม่เพียงพอหรือไม่ ทำให้บุคลากรไม่เข้าใจ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า  ที่ผ่านมาก็สื่อสารมาตลอดว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายดำเนินการอะไรบ้าง อย่างล่าสุดมีเรื่อง HR Sandbox     ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังเตรียมการ แต่ไม่ใช่ว่าวางแผนวันนี้ พรุ่งนี้ได้ ก็ต้องใช้เวลา ซึ่งการประชุมครั้งหน้าระหว่าง สธ.และสำนักงาน ก.พ. คือ การพัฒนาเอชอาร์ แซนด์บ็อกซ์ หรือโมเดลการพัฒนาบุคลากรรูปแบบใหม่ๆ มาเสนอ เพื่อคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งกำลังพิจารณาว่าจะใช้พื้นที่ใด โดยจะมีคณะทำงานร่วมกันระหว่างสธ.และก.พ.ดำเนินการ

เช่นเดียวกับเรื่องแพทย์ ก็เพิ่งจะประชุมระหว่างแพทยสภา และสธ. เกี่ยวกับการจัดสรรแพทย์ที่เข้ามาในระบบ เพื่อแก้ปัญหาแพทย์ขาดแคลน  โดยทำงานร่วมกันผ่านสถาบันแพทยศาสตร์แห่ง ประเทศไทย (Consortium of Thai Medical Schools)  ตรงนี้จะพิจารณาแนวทางการผลิตแพทย์ การกระจายแพทย์ ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาชั่วโมงการทำงานของแพทย์ได้

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :  อัปเดต! ค่าเสี่ยงภัยโควิด19  จ่อเสนอครม. ประชุมอีก 1-2 นัด ส่วนบรรจุข้าราชการรอบสอง รอ ก.พ.