ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“นั่งรอครึ่งวัน พบหมอ 5 นาทีแล้วรับยากลับบ้าน” …ประโยคที่ประชาชนผู้บริการพูดถึงระบบสาธารณสุขไทยที่ยังคงได้ยินอยู่เสมอไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย เนื่องจากปัญหาความแออัดของคนไข้ในโรงพยาบาลทั่วไป ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ยังไม่เพียงพอต่อการให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างครอบคลุมและรวดเร็ว

          ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 พบว่า สัดส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อประชากรของไทยอยู่ที่ 1:1,680 ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด เป็นหนึ่งในที่มาของการผลักดันให้มีการยกระดับคุณภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้เป็นที่พึ่งพิงของประชาชน และเป็นหน้าด่านของระบบสุขภาพอย่างแท้จริง

          รพ.สต.บ้านบางนายสี อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เจ้าของรางวัลรพ.สต.ดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2565 คือหนึ่งในตัวอย่างที่สามารถเป็น “ต้นแบบ” ในการพัฒนาและช่วยฉายภาพให้เห็นถึงทางออกของความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขไทยและความแออัดในโรงพยาบาลทั่วไป

          Hfocus มีโอกาสได้พูดคุยกับนายวิษณุ วรรณวงศ์ ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านบางนายสี ถึงวิธีคิดและถอดบทเรียนความสำเร็จที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาให้กับที่อื่นต่อไป

 

ลบภาพจำรพ.สต.หลังเขา สร้างหน่วยบริการปฐมภูมิที่ทันสมัย

          “หน่วยบริการมาตรฐาน ประชาชนมีสุขภาพดี โดยภาคีเครือข่ายมีส่วน” คือวิสัยทัศน์ของรพ.สต.บ้านบางนายสีที่ทำได้จริง

          ด้วยมีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมสุขภาพ รักษาพยาบาล ควบคุมป้องกันโรค ฟื้นฟูสภาพและคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุข วิษณุ มองว่ารพ.สต.คือตัวแปรสำคัญที่จะลดปัญหาความแออัดในรพ.ทั่วไป ลดภาระงานแพทย์ล้นมือ และผู้ใช้บริการก็ไม่ต้องเสียสุขภาพจิต หากสามารถยกระดับมาตรฐานสร้างความเชื่อมั่นได้

          “อันดับแรกความพร้อมอาคารสถานที่คือองค์ประกอบสำคัญ มันต้องสวยงามจรรโลงใจ เพราะเมื่อโครงสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกภายในรพ.สต.มีมาตรฐานและทันสมัย คนก็อยากมาใช้บริการ ไม่ต้องไปเสียเวลารอคอยในโรงพยาบาลทั่วไป” ผอ.รพ.สต.บ้านบางนายสี เผยถึงแนวคิดในการพัฒนา

          นอกจากการปรับปรุงภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อมภายนอกอาคารให้เป็นพื้นที่สีเขียว รายล้อมด้วยธรรมชาติสร้างความร่มรื่น โดยคำนึงถึงความสะดวกและเข้าถึงง่ายของผู้มาใช้บริการ ภายใต้กรอบแนวคิดสะอาด มั่นใจ ปลอดภัยไร้มลพิษแล้ว ภายในอาคารยังมีการแบ่งสัดส่วนไว้อย่างชัดเจนและครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นห้องตรวจ ห้องส่งเสริมสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก ห้องทันตกรรม แพทย์แผนไทย อุบัติเหตุและฉุกเฉิน รวมทั้งคลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI Clinic) พร้อมด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัยและเพียงพอ

          วิษณุ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่าหมอนุ กล่าวว่า การทำให้สภาพแวดล้อมร่มรื่นจะช่วยให้สภาวะจิตใจของผู้มารับบริการรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน นั่งรอรับบริการด้วยความผ่อนคลาย มีไวไฟฟรีให้ใช้ ทำให้เขาอยู่กับสิ่งที่รอได้โดยไม่ขุ่นข้องหมองใจในกรณีที่มีผู้มาใช้บริการค่อนข้างเยอะ ขณะเดียวกันการให้บริการก็ต้องมีมาตรฐานสร้างความมั่นใจได้

          “อย่างห้องทันตกรรม เราจะมีเครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพ เป็นตัวกรั่นกรองเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อระหว่างผู้มารับบริการและผู้ให้บริการ เพราะต้องยอมรับว่าในงานทันตกรรม ตรวจสุขภาพในช่วงปาก ขูดหินปูนหรือถอนฟัน ต้องไปเกาะเกี่ยวกับสารคัดหรั่งที่อยู่ข้างในและมีโอกาสติดเชื้อได้ จึงเพิ่มศักยภาพของอุปกรณ์ในการรองรับความปลอดภัยให้กับทั้งเจ้าหน้าที่และผู้มารับบริการ” 

          นอกจากนี้ด้านนอกยังมีตู้คีออสสำหรับให้ผู้มารับบริการใช้บัตรประชาชนยืนยันสิทธิด้วยตัวเอง สามารถลดขั้นตอนในการรอคิวนานเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการรับบริการ อีกทั้งยังมีมุมวิชาการเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงความรู้ทั้งในรูปแบบของหนังสือ วารสารและคอมพิวเตอร์ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ของคนในชุมชน

(วิษณุ วรรณวงศ์)

 

ปลูกจิตสำนึกบริการด้วยใจ ถือประชาชนเป็นสำคัญ

          ไม่เพียงแค่ความพร้อมด้านอาคารสถานที่ แต่บุคลากรก็เป็นเรื่องที่ผู้บริหารแห่งนี้ให้ความสำคัญเช่นกัน นอกจากจะเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่มีสหวิชาชีพครบทุกสาขาแล้ว ที่นี่ยังยึดสโลแกน “รพ.สต.บ้านบางนายสีดูแลคุณด้วยหัวใจ”

          ผอ.รพ.สต.บ้านบางนายสี กล่าวว่า ด้วยภาวะผู้ป่วยที่มีความทุกข์กายไม่สบายตัวอยู่แล้ว เมื่อต้องมาเจอการบริการหรือบุคลากรที่มีปฏิสัมพันธ์ไม่ดี ไม่เท่าเทียม ไม่เอาใจใส่ ย่อมมีอารมณ์ได้ง่ายจนหลายครั้งบานปลายกลายเป็นประเด็นร้อนในโซเชียล

          “เราเห็น Pain Point เรื่องนี้ดี เลยนำมาปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่ทุกคนให้ถือประชาชนเป็นสำคัญ บริการอย่างเป็นมิตร ใช้ความรัก ความเข้าใจ ดั่งสุภาษิตที่ว่า น้ำขุ่นไว้ใน น้ำใสไว้นอก ต่อให้ผู้ป่วยจะโยนหินใส่เรา แต่ถ้าเราไม่เขวี้ยงตอบมันก็จะจบไป เพราะสุขภาพใจสำคัญไม่แพ้สุขภาพกาย ไม่ว่าจะเป็นที่หน่วยบริการหรือในชุมชน” ผู้บริหารรพ.สต.ดีเด่น เผยพร้อมใช้การบริหารจัดการเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดจากการรอนาน เช่น นัดกลุ่มเป้าหมายให้ถี่ขึ้น หรือการซอยผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ให้เป็นกลุ่มย่อย

          ด้วยเหตุนี้ทำให้รพ.สต.บ้านบางนายสีได้รับความไว้วางใจจากประชากรในความรับผิดชอบกว่า 6,000 คนใน 5 หมู่บ้านในการมีส่วนร่วมแทบทั้งหมดในหลากหลายด้าน รวมไปถึงการอบรมพัฒนาทักษะความรู้ต่างๆ

          “บุคลากรคือฟันเฟืองสำคัญที่ส่งผลต่อค่านิยมและความคิดที่มีต่อสถานพยาบาล เมื่อเขามาแล้วประทับใจก็เกิดการบอกต่อ ทำให้คนที่อยู่พื้นที่ห่างออกไปก็อยากเข้ามารับบริการ และมีความสุขสร้างสุขภาพจิตที่ดีจากการใช้บริการ และเมื่อสุขภาพใจดี สุขภาพกายก็จะดีตามไปด้วย”

         

 

บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย

          อย่างที่ทราบกันดีว่าบุคลากรของรพ.สต.มีน้อย ซึ่งในส่วนของบ้านบางนายสีมีทั้งหมด 6 คน ยากที่จะดูแลได้ทั่วถึง วิษณุ บอกว่าหัวใจสำคัญของรพ.สต.จึงหนีไม่พ้นทีมงาน ได้แก่ บุคลากร และภาคีเครือข่ายที่เข้ามามีส่วนร่วมผลักดันเพื่อจะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีสุขภาวะที่ดีขึ้นและได้รับการดูแลที่ที่ต่อเนื่อง       

          คำว่า ภาคีเครือข่าย หมายถึงผู้ร่วมผลักดันการดูแลสุขภาพภาคประชาชน เช่น โรงพยาบาลแม่ข่ายที่สนับสนุนทั้งงบประมาณ และบุคลากรเข้ามาเพิ่มศักยภาพให้กับรพ.สต. อาทิ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (Fam med) เภสัชกร หรือทันตแพทย์ รวมทั้งองค์กรท้องถิ่นอย่างเทศบาล อบต. ที่ให้การสนับสนุนเรื่องงบประมาณ ตลอดจนการเข้ามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพคนในชุมชน

          “แต่ที่ขาดไม่ได้คือ อสม. หรือหมอคนที่ 1 ซึ่งเป็นหน้าด่านในการคัดกรองสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ คอยเป็นแขนขา และหัวใจให้กับเราทำให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงและแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ได้จริง” หมอนุ ย้ำถึงความสำคัญ

          ปัจจุบันรพ.สต.บ้านบางนายสีมีอสม.ทั้งหมด 112 คนรับผิดชอบตั้งแต่ 10-15 ครัวเรือน/คน สำหรับพื้นที่ที่มีระยะห่าง ส่วนที่เป็นพื้นที่ชุมชนเมืองบางคนอาจรับผิดชอบ 30-40 ครัวเรือนโดยการปฏิบัติงานจะมีผอ.และเจ้าหน้าที่รพ.สต.เป็นพี่เลี้ยง ทำงานเป็นทีมมีการประชุมประจำเดือนเพื่อรับทราบปัญหา วางแผนช่วยเหลือและดูแลอย่างยั่งยืน

          อย่างเช่นงานหมอครอบครัวดูแลผู้ป่วยกลุ่ม NCDs (กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) เป็นความร่วมกันระหว่างทีมสหวิชาชีพ เทศบาลตำบล ผู้นำชุมชนและอสม. โดยมี Fam med ลงตรวจและเยี่ยมบ้านในเคสที่มีปัญหาซับซ้อนหรือไม่สะดวกในการเดินทางมารับบริการ ขณะที่โครงการ Care Giver ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากเทศบาลตำบลบางนายสี ซึ่งนายสมชาย ประเสริฐพรพงศ์ นายกเทศมนตรีฯเล็งเห็นความสำคัญและมีการจัดจ้างผู้บริบาล 1 คนเพิ่มเติมด้วยเงินของเทศบาลเพื่อร่วมดูแลกลุ่มผู้สูงอายุติดเตียง

          อย่างไรก็ตาม การบูรณาภาคีเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้น หมอนุ กล่าวว่า ผู้นำต้องกล้านำเสนอปัญหาและร้องขอในสิ่งจำเป็นเพื่อการพัฒนา โดยชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ และทำให้เห็นเชิงประจักษ์ด้วยผลงาน

          “สิ่งที่ทำให้เราเติบโตและได้รับการยอมรับจากภาคีเครือข่ายคือการลงมือทำจริง ตรงนี้ (รพ.สต.บ้านบางนายสี) ตั้งอยู่หมู่ 6 มีประชากรไม่ถึง 1,000 คน ส่วนหมู่ 7 มีประชากรกว่า 2,000 คนและอยู่ใกล้รพ.ตะกั่วป่ามากกว่า แต่พวกเขาก็ยังเดินทางมารับบริการในระดับปฐมภูมิที่นี่”

 

ต่อยอดเทคโนโลยี พัฒนานวัตกรรม

          ด้วยบริบทที่เป็นสังคมเมืองผสมผสานสังคมชนบท มีทั้งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและผู้ป่วยติดเตียงที่อาจเข้าไม่ถึงการรักษาอย่างที่ควรจะเป็น  รพ.สต.บ้านบางนายสี ปิดช่องว่างนี้ด้วยการนำเอาเทคโนโลยี Telehealth และ Telemedicine เข้ามาให้บริการ หลังมองเห็นโอกาสจากวิกฤตโควิด-19

          “มันเริ่มมากจากช่วงโควิดที่มีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดูแลผู้ป่วยผ่านแอพลิเคชั่นไลน์ ช่วยให้สามารถดูแลผู้ป่วยนับ 1000 คนได้ด้วย Fam med เพียงคนเดียว จึงนำมาต่อยอดเพื่อโอกาสในการเข้าถึงแพทย์และการรักษาที่มีประสิทธิภาพโดยไม่จำเป็นต้องมาที่หน่วยบริการประจำ” หมอนุ กล่าวถึงเทคโนโลยีการรักษาที่คุ้นหูคนไทยมากขึ้นหลังโควิด

          ส่วนข้อจำกัดเรื่องอุปกรณ์และความสามารถในการใช้งาน ไม่ใช่ปัญหา…

          “เราจะมีเจ้าหน้าที่และอสม.นำคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตเข้าไปให้บริการ ผู้ป่วยแค่อยู่ที่บ้านพูดถึงสุขภาวะของตัวเองผ่านเครื่องมือสื่อสารที่เราจัดเตรียมให้ ซึ่งตอนนี้เรากำลังฝึกให้หมอคนที่ 1 คือ อสม.มีความชำนาญในการใช้เครื่องมือเพื่อช่วยลดภาระเจ้าหน้าที่ในอนาคตอีกด้วย”

          นอกจากนี้ยังมีการพัฒนานวัตกรรมควบคู่กันไปเพื่อแก้ปัญหาสำคัญในผู้สูงอายุ ได้แก่ ชุดฟื้นฟูข้อไหล่ติดในผู้สูงอายุ โดยนำท่าการบริการข้อไหล่ติดของคลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์แผนกเวชศาสตร์ครอบครัวและแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยมหิดลมาประยุกต์ร่วมกับแนวคิดการทำงานของรอกเพื่อลดแรงเสียดทานในการเคลื่อนไหวแบบวงล้อจักรยาน โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่มาผลิตเป็นเครื่องบริหารข้อไหล่ที่เหมาะสมกับวัย

          ปรากฎว่าหลังใช้งาน ผู้สูงอายุมีองศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p-value  น้อยกว่า 0.001 และสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้บริการอย่างมาก ขณะเดียวกันก็มีการทำฐานข้อมูลผู้ป่วยเพื่อนำมาวิเคราะห์เป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพในชุมชน

 

ก้าวข้ามขีดจำกัดเรื่องงบประมาณด้วยพลังประชาชน

          จากผลงานทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่เพียงได้รับความร่วมมือจากชุมชน แต่ยังมีภาคประชาชนและเอกชนเข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการระดมทุนเพื่อเติมเต็มในสิ่งที่ขาดและก้าวข้ามข้อจำกัดในการขาดแคลนงบประมาณเพื่อการพัฒนา ที่เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของระบบรพ.สต.หลายๆ แห่ง

          “เมื่อเราทำให้เขาเห็น เกิดผลลัพท์ที่ดีในการดูแลสุขภาพของประชาชน และรับรู้ได้ว่าการมีส่วนร่วมของเขาจะมีส่วนผลักดันพวกเขาก็พร้อมสนับสนุนเต็มที่ บางครั้งมาโดยไม่ได้ร้องขอเพื่อให้คนในพื้นที่ซึ่งเป็นลูกหลาน ญาติพี่น้องของเขาเองมีสุขภาวะที่ดีขึ้น

          อย่างเช่นการก่อสร้างอาคารประชาร่วมใจพัฒนา ซึ่งเป็นที่ทำการและโรงเรียนอสม.ของบ้านบางนายสีก็ได้รับการสนับสนุนงบประมาณกว่า 5 แสนบาทจากชมรมอสม.รพ.สต.บ้านบางนายสีและภาคเอกชน ตลอดจนการปรับปรุงห้องบริการภายในรพ.สต.ให้ทันสมัยและได้มาตรฐาน ส่วนหนึ่งก็เป็นเงินบริจาคของภาคเอกชนและการจัดวิ่งของชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย จังหวัดพังงา เช่นเดียวกับคอมพิวเตอร์ทัชสกรีน และศูนย์เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับใช้ที่บ้านผู้ป่วย

          “การเติมเต็มจากภาคเอกชน ทำให้เราสามารถนำเงินสนับสนุนในส่วนของภาครัฐไปพัฒนาในด้านๆ อื่นอีก แต่สำคัญต้องทำให้เขาแน่ใจว่าเราจะเอาไปใช้อย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง”

 

ทางรอดระบบสุขภาพไทย

          จากที่เคยเป็นเหมือนทางเลือกในระบบสุขภาพไทย วิษณุ เชื่อว่าการพัฒนารพ.สต.ให้มีคุณภาพและเข้าถึงประชาชนจะกลายเป็นทางรอดในระบบสาธารณสุขที่จะช่วยลดภาระและความแออัดในโรงพยาบาลทั่วไป

          “ถ้าทำมาตรฐานของหน่วยปฐมภูมิให้ประชาชนเข้าถึงคุณภาพยาหรือการรักษาแบบองค์รวมโดยแพทย์หรือพยาบาลวิชาชีพที่ผ่านการอบรมเวชศาสตร์ครอบครัว ผมว่าไม่ต่างกับการไปโรงพยาบาล เพราะยาของรพ.สต.ก็เบิกจากรพ.ตะกั่วป่า คุณภาพยาเหมือนกัน ไม่มียาเกรด 1 เกรด 2”

          “ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต้องรับยาต่อเนื่อง ก็ไม่จำเป็นต้องไปรพ.ทุกครั้ง ไปเฉพาะเวลาหมอนัดตรวจ โดยมารับยาที่ รพ.สต. ซึ่งเป็นหน่วยประสานแทน ลดขั้นตอนของประชาชนที่ต้องไปนั่งรอนานๆ ดีต่อสุขภาวะจิตและลดปัญหาต่างๆ ได้ด้วย” 

          นอกจากนี้ ผลลัพท์จากดูแลสุขภาพในชุมชนยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูสุขภาพร่างกายกลับมาดำรงชีวิตกิจวัตรประจำวันได้เป็นอย่างดี จากข้อมูลพบว่าความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุ หรือ ADL ในปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 99.91 และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุกปี

          วิษณุยังเผยด้วยว่า จากประสบการณ์ที่อยู่หน้าด่านอยากสะท้อนให้แพทย์ฟังว่า  แพทย์คือฟันเฟืองสำคัญในการทำให้ประชาชนยิ้มได้ หัวเราะได้และเสียใจได้

          "เพียงแค่คำพูดเพราะๆ จริงใจ ให้ความสำคัญกับผู้ป่วย เขาก็พร้อมจะฟังคำแนะนำและปฏิบัติตาม คำพูดบางคำพูด มันคือยา เราจะรักษากายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรักษาใจด้วย”

          สำหรับอนาคต ผอ.รพ.สต.บ้านบางนายสียืนยันว่า จะไม่หยุดพัฒนาให้มีมาตรฐานสูงยิ่งขึ้นแน่นอน การประสบความสำเร็จว่ายากแล้ว แต่การรักษาให้ยั่งยืนนั้นสำคัญยิ่งกว่า

          “มันไม่ใช่แค่การประกวด แต่มันคือสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นและมีความยั่งยืน เราอาจจะได้รางวัลรพ.สต.ดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2565 แต่เราจะดีเด่นตลอดในหัวใจของประชาชน” วิษณุ ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าฟัง

ขอบคุณภาพ - รพ.สต.บ้านบางนายสี