ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนวทางเวชปฏิบัติ การรักษาโควิด19 ฉบับล่าสุด 18 เม.ย.2566  ปรับการให้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง และปรับเงื่อนไขของการให้แอนติบอดีสำเร็จรูป Long-acting Antibody หรือ LAAB  ส่วนไม่มีอาการ อาการไม่รุนแรงไม่ต้องใช้ยา

 

เมื่อวันที่ 18 เมษายน  นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์  กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) อัปเดตสถานการณ์โควิด19 : สายพันธุ์ แนวทางการรักษา  ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์กรมการแพทย์ ว่า หลังจากผ่านเทศกาลสงกรานต์ ช่วงท้ายเทศกาลเริ่มมีข่าวการติดเชื้อโควิด เชื้อกลายพันธุ์ หรือการรักษาที่อาจทำให้เกิดการสับสน โดยเมื่อวานนี้ ทางคณะกรรมการวิชาการได้มีการทบทวนเรื่องต่างๆเกี่ยวกับวิชาการ และจากการประชุมร่วมกันจึงจำเป็นต้องมีการสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ให้เกิดความสับสนเกิดขึ้น

หลังสงกรานต์โควิดเพิ่ม ขอให้มาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดทั่วโลกเริ่มลดลง สำหรับประเทศไทย ต้นเดือน เม.ย.มีผู้ป่วยน้อยมาก แต่หลังสงกรานต์ เริ่มเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าจากสัปดาห์ก่อนหน้า คาดว่าหลังสงกรานต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นระลอกเล็ก สำหรับสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยเสียชีวิต 2 คน อายุน้อยเพียง 23 ปี และ 24 ปี โดยคนหนึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ และอีกคนฉีดวัคซีนมานานมากกว่า 3 เดือน กรณีการรับวัคซีนโควิด-19 นั้น ขณะนี้ทั่วโลกเริ่มปรับการให้วัคซีนเป็นแบบประจำปี สำหรับไทยคาดว่าหลังสงกรานต์  จะมีผู้ป่วยเพิ่มตามคาดการณ์  และมีลักษณะการระบาดใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดใหญ่ คือ จะระบาดมากขึ้นในช่วงฤดูฝน และไทยมีผลสำรวจภูมิคุ้มกัน พบว่า ประชากรร้อยละ 94 มีภูมิฯจากธรรมชาติ และวัคซีน จึงมีคำแนะนำ ให้รับวัคซีนห่างจากเข็มสุดท้าย 3 เดือน และให้ฉีดวัคซีนพร้อมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยใช้วัคซีนรุ่นเดิมและรุ่นใหม่ สามารถใช้เป็นเข็มกระตุ้นได้  ซึ่งตอนนี้มีวัคซีนสำรองทุกชนิดมากกว่า 10 ล้านโดส

(ข่าวเกี่ยวข้อง : 

ปรับแนวทางเวชปฏิบัติฯ รักษาโควิด19 ฉบับล่าสุด

พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าว ในเรื่องอาการของ สายพันธุ์ XBB.1.16  จากประเทศอินเดีย ได้รวบรวมข้อมูลระบุว่า อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่  ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ  ส่วนอาการในผู้ใหญ่ กรณี XBB.1.16 มีไข้ ปวดหัว เจ็บคอ น้ำมูกไหล ส่วนในเด็กจะแตกต่างตรงมีไข้สูง และมีอาการตาแดง ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษ แต่เจอในเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่ไม่มีรายงาน

อย่างไรก็ตาม  เมื่อวานได้มีการประชุมผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ในการพิจารณาแนวทางเวชปฏิบัติฯ โดยปรับแนวทางฯ  2 ประเด็นคือ 1.ปรับการให้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง และ 2.ปรับเงื่อนไขของการให้ Long-acting Antibody หรือ LAAB

 

ทั้งนี้ แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 27 วันที่ 18 เมษายน  2566   ซึ่งเป็นความร่วมมือของคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ และผู้แทนทีมแพทย์ที่ปฏิบัติหน้างาน ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด ได้ทบทวนและปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย ตามข้อมูลวิชาการในประเทศ และต่างประเทศ  โดยแนวทางหลักๆ เหมือนเดิม ไม่ว่าจะอยู่โอพีดี คลินิก หรือ รพ. หากผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจและเข้าเกณฑ์ระบาดวิทยา สงสัยเป็นโควิดให้ตรวจ ATK หรือPCR ก็ได้ และแยกพื้นที่ที่เป็นสัดส่วน กรณีไม่พบเชื้อก็ปฏิบัติตามความเหมาะสม ทั้งรักษาระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ดูแลตัวเองเคร่งครัด 5 วัน หากไม่ดีขึ้นใน 48 ชั่วโมงให้ตรวจซ้ำ  แต่กรณีเจอเชื้อให้การรักษาตามอาการผู้ป่วย หากไม่รุนแรงรักษาแบบผู้ป่วยนอก ซึ่งตรงนี้ไม่เปลี่ยนแปลง

สำหรับการรักษาโควิดแบ่ง 4 กลุ่ม

1.กลุ่มไม่มีอาการ รักษาแบบผู้ป่วยนอก เน้นรักษาระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ อย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 5 วัน กรณีนี้เราพบมากกว่า 60% กรณีนี้ไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส

2.กลุ่มไม่รุนแรง ไม่มีปัจจัยเสี่ยงก่อโรครุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก ปฏิบัติตาม DMH เช่นกัน หากมีอาการอื่นให้รักษาตามอาการขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์

3.กลุ่มมีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงก่อโรครุนแรง หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบ โดยกลุ่มนี้มี 11 กลุ่ม คือ อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ร่วมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง เบาหวาน ภาวะอ้วนมากว่า 90 กิโลกรัม มีภาวะตับแข็ง มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และผู้ติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสัมพันธ์

โดยกรณีนี้มีการปรับเปลี่ยนในเรื่องคำแนะนำในการรักษา ให้เลือกยาตัวใดตัวหนึ่งตามภาพฉายดังนี้ แพกซ์โลวิด หรือเรมเดซิเวียร์ หรือโมลนูพิราเวียร์ หรือ LAAB เลือกตัวใดตัวหนึ่งให้พิจารณายาที่มีประสิทธิภาพและพิจารณาอาการผู้ป่วยเป็นหลัก ซึ่งยาอันดับแรก คือ แพกซ์โลวิด ต่อมาเรมเดซิเวียร์ หรือโมลนูฯ ส่วนกรณี LAAB ยังให้ได้เช่นกันจากข้อมูลกรมวิทย์ และกรมควบคุมโรคระบุว่า XBB.1.16 ยังพบไม่มาก ยังให้ได้แต่ต้องให้เร็วที่สุดภายใน 5-7 วัน นับตั้งแต่มีอาการ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 24 ถึง 48 ชั่วโมงให้ยาต้านไวรัสชนิดอื่นเพิ่มเติมได้ คือ แพ็กซ์โลวิด หรือเรมเดซิเวียร์ หรือยาต้านไวรัสตัวอื่นที่มีในไทยยังให้ได้เช่นกัน

 

การให้ยาต้านไวรัสพิจารณาจากปัจจัยต่อไปนี้ ได้แก่

1) ประสิทธิภาพของยาในการลดอัตราการป่วยหนักและอัตราตาย ประวัติโรคประจำตัว

2) ข้อห้ามการใช้ยา

3) ปฏิกิริยาต่อกันของยาต้านไวรัสกับยาเดิมของผู้ป่วย

4) การบริหารเตียง

5) ความสะดวกของการบริหารยา และราคายา 

การเลือกใช้ยาใดกับผู้ป่วยรายใดแพทย์อาจใช้ยาตามรายการข้างต้นนี้ได้ โดยพิจารณาจากปัจจัยดังกล่าว สถานพยาบาลแต่ละแห่งอาจจะมีความแตกต่างกัน

 

กรณีคำถามว่า หากป่วยโควิดทั้งประชาชนทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขสามารถหยุดได้หรือไม่ พญ.นฤมล กล่าวว่า ส่วนการหยุดงานจากการป่วยยังเป็นไปตามไกด์ไลน์เดิม

 

 

 

4.ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบ ยังใช้คำแนะนำตามเดิม

 

ทั้งนี้ สามารถอ่านแนวทางเวชปฏิบัติฯ ได้ตามลิงค์แนบด้านล่าง

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org