ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ลงนามร่วมราชทัณฑ์-สปสช. ป้องกันควบคุมโรคในเรือนจำ เผยตัวเลขช่วง "โควิด" พบป่วยแสนคน ตาย 207 คน ส่วนภาพรวมปีที่แล้วเจอ "ไข้หวัดใหญ่" มากสุด ลุยฉีดวัคซีน 2 ชนิดพร้อมกัน ด้านสปสช.เตรียมกลไกแผนเชิญชวนคนฉีดวัคซีนคู่ “โควิด-ไข้หวัดใหญ่” เข้าบอร์ดพิจารณา 1 พ.ค.นี้   

 

เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พล.อ.อ.สุบิน ชิวปรีชา กรมวังผู้ใหญ่ในพระองค์ 904 พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และนางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นสักขีพยานลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระบบการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพที่สำคัญ สำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ ระหว่าง นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค  นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์

MOU ดูแลสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำ

นพ.โอภาสกล่าวว่า การลงนาม MOU ดูแลสุขภาพผู้ต้องขัง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นขั้นตอน มีกำลังพัฒนางานให้สำเร็จขึ้น คืนคนดีสู่สังคมทั้งทัศนคติ การดำเนินชีวิต และสุขภาพ เนื่องจากผู้ต้องขังถูกจำกัดหลายเรื่อง บางรายตอนเข้าไปมีโรคประจำตัวเก่าก็จะได้รับการดูแลต่อเนื่อง และการรวมตัวจำนวนมากมีโอกาสเกิดโรคติดต่อหรือโรคติดต่อทางเดินหายใจ หากมีมาตรการที่ดีในการป้องกันควบคุมโรคและการดูแลรักษาให้มีสุขภาพกายและใจที่ดี ตรงกับเจตนารมณ์แนวนโยบายและโครงการราชทัณฑ์ปันสุข

 

นางพงษ์สวาท กล่าวว่า ในเรือนจำมีความเป็นอยู่ที่แออัด ระบบสุขภาพจึงสำคัญ การเข้าถึงตั้งแต่การเสริมสร้างป้องกัน เฝ้าระวัง เมื่อเกิดโรคระบาดจะต้องเข้าไปแก้ไขให้ทันท่วงที ที่ผ่านมามีโครงการราชทัณฑ์ปันสุขดำเนินการ และหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วันนี้การลงนามบันทึก MOU จึงสำคัญมากในการช่วยดูแลผู้ต้องขังให้มีสุขภาพดีเป็นมาตรฐานสากล แม้เป็นผู้กระทำความผิดก็ต้องดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนให้ครบถ้วน

 

นายอายุตม์ กล่าวว่า ช่วงโควิด เรือนจำมีผู้ต้องขังติดเชื้อหลักแสนคน เราฉีดวัคซีน 1 ล้านกว่าโดส บางเรือนจำมีการฉีดถึงเข็ม 5 แล้ว จะเห็นจากสถิติการเสียชีวิตผู้ต้องขังจากโควิดประมาณ 207 คน คิดเป็น 0.02% สำหรับเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 2 คน ส่วนจากนี้ที่จะฉีดวัคซีนประจำปี กรมควบคุมโรคยืนยันว่ามีวัคซีนพร้อม กรมราชทัณฑ์จึงแจ้งเรือนจำทั่วประเทศให้ประสาน ผอ.รพ.แม่ข่ายขอวัคซีนมาฉีด และได้รับการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ทำให้สามารถฉีดเองได้ในเรือนจำ สำหรับการป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ในเรือนจำ เรามีการคัดกรองตามหลักของ สธ. เรามีห้องกักโรค โดยกักในช่วง 7 วัน พอพ้นไม่มีก็ไปคัดกรองอีก 7 วันไม่เกิน 14 วัน ว่าไม่มีโควิดถึงจะจำแนกไปยังแดนที่เหมาะสม กรณีติดก็จะเอามารักษาที่ รพ.ราชทัณฑ์ ปัจจุบันผู้ต้องขังมีภูมิสู้กับเชื้อโรค คนอยู่ในเรือนจำไม่น่าจะมีปัญหา แต่คนเข้าใหม่ต้องคัดกรองเพราะอาจยังฉีดวัคซีนไม่ครบโดสก็จะฉีดให้ สำหรับการติดซ้ำมีประมาณ 2-3 ครั้ง แต่ไม่รุนแรง ส่วนโรคอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค นั้น การเข้ามาใหม่ต้องคัดกรองตรวจสุขภาพ มีโรคประจำตัวหรือไม่ ฉีดวัคซีนกี่เข็ม หรือยังไม่ฉีด มีจิตเวชหรือไม่ เพื่อลงข้อมูลไว้สำหรับการรักษาในช่วงอยู่ในเรือนจำ

 

ข้อมูลระบาดวิทยาปี 65 ในเรือนจำ

นพ.ธเรศ กล่าวว่า โรคหลักๆ ในเรือนจำ จากข้อมูลกองระบาดวิทยาปี 2565 มีรายงานการระบาด 33 เหตุการณ์ ผู้ต้องขังป่วย 3,586 ราย และเสียชีวิต 2 ราย โรคที่รายงานมากที่สุด คือ โรคไข้หวัดใหญ่รายงาน 18 ครั้ง ป่วย 2,119 ราย ส่วนปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. 2566 ผู้ต้องขังป่วย 1,377 ราย เสียชีวิต 4 ราย พบอาหารเป็นพิษมากสุด 911 ราย ไข้หวัดใหญ่ 435 ราย จึงหารือกรมราชทัณฑ์และ สปสช.ในการเพิ่มสิทธิประโยชน์การฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง ส่วนการคัดกรองเช่นวัณโรค ซิฟิลิส โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ มีความร่วมมือกันมาก่อนแล้ว ส่วนการฉีดวัคซีนโควิดประจำปีในเรือนจำ ก็จะฉีดพร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เริ่มใน พ.ค.เช่นกัน เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อยู่กันเยอะ เป้าหมายคนในเรือนจำประมาณ 2.7 แสนกว่าคนในการกระตุ้นต่อปี อย่างไรก็ตาม ภาพรวมโรคต่างๆ ในเรือนจำจากการคัดกรองที่ดี การให้การรักษาอย่างรวดเร็ว เช่น วัณโรค ทุกภาวะอยู่ในการดูแลอย่างครบถ้วน

 

สปสช.สนองนโยบายเชิญชวนฉีดวัคซีน 2 ชนิด

ถามถึงการจัดแพคเกจเพื่อจูงใจคนฉีดวัคซีนโควิดควบคู่ไข้หวัดใหญ่  นพ.จเด็จกล่าวว่า เรากำลังเตรียมการตามนโยบาย รมว.สธ.ที่อยากให้ความสะดวกแก่ผู้มาฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิด อาจใช้กลไกการเงินที่เรามี และดูกิจกรรมอื่นๆร่วมกับ สธ. กำลังทำอยู่ในภาพรวม โดยจะเข้าบอร์ด สปสช.วันที่ 1 พ.ค.นี้ โดยจะเร่งทำการบ้านโดยปรึกษากับ สธ.ว่าจะจัดระบบอย่างไร ซึ่งเรามีงบของโควิดประมาณ 1,560 ล้านบาทตั้งแต่ต้นปี ก็กระจายเป็นก้อนๆ ทั้งการตรวจ ATK การรับบริการ Telemedicine การไปรับบริการร้านยา ค่าฉีดวัคซีนโควิด ส่วนกรณีผู้ต้องขัง การลงนามจะมีกลไกการคุยเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของผู้ต้องขัง ด้วยข้อจำกัดของการอยู่ร่วมกันในเรือนจำ ทำให้บางครั้งสิทธิประโยชน์มีความแตกต่างจากคนอื่น เช่น ไม่สามารถไปรับบริการได้ ต้องปรับยุทธวิธีเชิงรุก กลไกการเงินเราจะปรับให้เหมาะกับผู้ต้องขังที่อยู่เป็นกลุ่มรวมกัน แทนที่จะเปิดให้ผู้ต้องขังไปข้างนอก การเงินก็ต้องปรับ เราทำมาหลายปีแล้ว แต่แง่สิทธิประโยชน์จะเน้นมากขึ้น อย่างวัณโรคเราเอกซเรย์ปอดทุกปี เพราะรู้ว่าคนอยู่รวมกันจำนวนมาก ไม่เหมือนคนภายนอกที่เชิญไปตรวจ สปสช.ในฐานะผู้สนับสนุนงบประมาณก็มั่นใจว่าจะทำงานร่วมกับ สธ. กรมราชทัณฑ์อย่างดี

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง