ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช. ห่วงกลุ่ม 608  ไฟเขียว สปสช. “จัดซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่ม 8.6 แสนโดส” รวมของเดิม 4.4 ล้านโดส เป็น 5,260,000 โดส เพื่อฉีดให้กับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง พร้อมกับวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น ด้าน สธ. ลดค่าบริการฉีดวัคซีนเหลือ 20 บาท/ครั้ง ช่วยหนุนงบประมาณจัดซื้อวัคซีน 

ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 6/2566 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566  โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม มีมติเห็นชอบข้อเสนอการจัดซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่มเติมและการจัดสรรค่าบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 

ที่มาของข้อเสนอนี้ สืบเนื่องจากการประชุมติดตามสถานการณ์โควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ได้มีคำแนะนำสำหรับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่ม 608 ที่เป็นผู้สูงอายุ ให้ได้รับวัคซีนโควิด319 เข็มกระตุ้นอย่างน้อย 1 เข็ม พร้อมรับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในคราวเดียวกัน ซึ่งจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค ลดภาวะแทรกซ้อนและเจ็บป่วยรุนแรง โดยมอบหมายให้ สปสช. ดำเนินการ

นายอนุทิน กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มระบาดอีกครั้ง รวมถึงขณะนี้ได้เข้าสู่ช่วงฤดูฝนที่เป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ทาง สธ. เห็นควรว่าต้องใช้สถานการณ์นี้เร่งรัด และโน้มน้าวให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นและวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในคราวเดียวกัน ซึ่งในทางการแพทย์ระบุว่า ประชาชนสามารถรับการฉีดพร้อมกันได้ โดยไม่มีเงื่อนไขของเวลา ซึ่งหากจะให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยง 608 ตามเป้าหมายได้นั้น สปสช.จำเป็นต้องจัดหาวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อให้บริการเพิ่มเติม ดังนั้นการเพิ่มจำนวนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จะทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงได้มากขึ้น ส่วนวัคซีนโควิด-19 นั้นยังมีจำนวนที่เพียงพอ

การจัดหาวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับกลุ่มเสี่ยง

นอกจากนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงนี้ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข จากเดิมที่จะได้รับค่าบริการฉีดวัคซีน 60 บาทต่อครั้ง ได้ลดค่าบริการฉีดวัคซีนเหลือเพียง 20 บาทต่อครั้ง โดยเงินส่วนต่างจากการลดค่าฉีดวัคซีน สปสช. จะนำไปจัดหาวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่มเติมให้กับกลุ่มเสี่ยงตามมติบอร์ดในวันนี้ ซึ่งเป็นการประหยัด และลดภาระงบประมาณของประเทศด้วย  

 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา สปสช. ได้จัดเตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไว้แล้วจำนวน 4.4 ล้านโดส เพื่อให้บริการสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม หรือกลุ่ม 608 และเพื่อให้เกิดการดูแลอย่างครอบคลุมมากขึ้นตามคำแนะนำของ สธ. นี้ สปสช. จึงได้พิจารณาขยายกลุ่มเป้าหมาย และงบประมาณสำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งนำมาสู่การปรับแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ประจำปีงบประมาณ 2566

โดยเพิ่ม “การจัดหาวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับกลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติมอีกจำนวน 8.6 แสนโดส วงเงินไม่เกิน 88 ล้านบาท” พร้อมข้อเสนอการใช้งบประมาณค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในส่วนงบเหมาจ่าย จำนวน 105.2 ล้านบาท เพื่อจัดหาวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่มเติมตามจำนวนดังกล่าว และให้จ่ายเป็นค่าฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับประชาชนในอัตราค่าบริการ 20 บาท/ครั้ง และนำเสนอต่อบอร์ด สปสช. พิจารณาซึ่งได้มีมติเห็นชอบในวันนี้ 

 
“ขณะนี้กลุ่มเสี่ยง 608 มีความต้องการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พร้อมกับวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นมากขึ้น ทำให้ต้องจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม สาเหตุมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลังช่วงเทศการลสงกรานต์ที่ผ่านมา รวมถึงการประชาสัมพันธ์บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนของโรค โดย สปสช. ทำให้เกิดการรับรู้และตื่นตัวของประชาชนกลุ่มเสี่ยงมากขึ้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว 

 

โรงพยาบาลที่ให้บริการฉีดวัคซีนกับประชาชนลดค่าบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

ขณะที่ นพ.สุวิทย์ วิบูลย์ผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ต้องชื่นชมกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้หน่วยบริการ โรงพยาบาลที่ให้บริการฉีดวัคซีนกับประชาชนลดค่าบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น เหลือค่าบริการ 20 บาท/ครั้ง จากเดิมที่ควรจะได้รับค่าให้บริการ 60 บาท/ครั้ง ทำให้สปสช. สามารถจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ในการจัดหาวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่มเติมให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้ แต่ขอฝากในเรื่องการติดตามบริการฉีดวัคซีนฯ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ 
 
ทั้งนี้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ที่ได้รับสิทธิในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ 1) หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3) ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4) บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5) โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 6) โรคอ้วน (น้ำหนัก > 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และ7) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ทั้งนี้กรณีหญิงตั้งครรภ์นั้นมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้บริการตลอดทั้งปี