ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นโยบายสาธารณสุข 3 พรรคการเมือง “ชาติพัฒนากล้า” ไม่รวม 3 กองทุน แต่สิทธิ์รักษาต้องเท่ากัน โดยเฉพาะประกันสังคม ขณะที่บัตรทองต้องยกเลิกขอใบส่งตัวก่อนส่งรักษารพ.เฉพาะทาง ให้ความสำคัญบุคลากรสาธารณสุข ชูพยาบาลควรได้บรรจุขรก. ด้านภท. ปรับ “30 บาทรักษาถึงบ้าน” ขณะที่ พท.ชูรพ.ควรเป็นองค์การมหาชน เพื่อความคล่องตัว

 

ตามที่ 5 สำนักข่าวประกอบด้วย Hfocus,  The Better,  Today,  The Active  และคมชัดลึก ผนึกกำลังร่วมจัดเวทีดีเบต ”นโยบายสาธารณสุขเลือกตั้ง 66“  เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วม  ซึ่งแต่ละพรรคได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายด้านสาธารณสุข ประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงคือ สิทธิการรักษาพยาบาล จำเป็นต้องรวม 3 กองทุน (บัตรทอง ประกันสังคม สิทธิสวัสดิการข้าราชการ) หรือไม่ หรือควรยกระดับอย่างไร  

พรรคชาติพัฒนากล้า ชูเทคโนโลยีแก้ปัญหาคอขวดระบบสาธารณสุข

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคชาติพัฒนากล้า ยืนยันว่า ไม่รวม 3 กองทุนสุขภาพ เพราะที่ผ่านมามีการสอบถามประชาชนก็จะพบว่า สิทธิประกันสังคมจำนวนมากไม่ได้อยากรวมกองทุน แต่ต้องการสิทธิการรักษาที่เท่าเทียม อีกทั้ง แต่ละกองทุนทำงานคนละฟังก์ชั่น แต่หัวใจหลัก สิทธิการรักษาต้องเท่ากัน โดยเฉพาะสิทธิประกันสังคมครอบคลุมโรคได้น้อยกว่าหลักประกันสุขภาพฯ หรือบัตรทอง แต่ในเรื่องบัตรทอง หรือ 30 บาทนั้น จะมีปัญหาเรื่องการจราจรการเข้ารับการรักษา หรือพูดง่ายๆ คือ การรอคิวนาน ติดขัดมาก ยิ่งรพ.รัฐด้วยแล้ว แต่ประกันสังคมจะไม่ค่อยมีปัญหาตรงนี้ ส่วนใหญ่ติดเรื่องครอบคลุมโรค จึงมีจุดแตกต่างกัน ดังนั้น เราต้องแก้ให้ถูกจุด

เรื่องภาระงานบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข อันดับแรกต้องลดงานเอกสารลง อย่างเรื่องการบรรจุข้าราชการโควิด เข้าใจว่ารัฐบาลชุดนี้ก็มีการบรรจุให้อยู่ แต่ในส่วนพยาบาล เรามองว่า ไม่ต้องให้พวกเขารอบรรจุ แต่ควรให้เขาได้รับบรรจุเลย  อย่างไรก็ตาม เรื่องภาระงานก็สำคัญ อย่างงานเอกสารเยอะเกิน ซึ่งข้อมูลในปี 2556 มีคนรอคิวตรวจรักษาถึง 155 ล้านครั้ง แต่มาถึงปี 2565 กลายเป็น 300 ล้านครั้ง แสดงว่าการไปรอคิวเยอะมากเพียงระยะเวลา 10 ปี ทั้งๆที่ประชากรไม่ได้เพิ่ม และประเด็นงานเอกสารก็เยอะเกิน จึงเสนอให้มีการทำเวชระเบียนออนไลน์ รวมทั้งการรับยาร้านขายยาที่บ้าน ซึ่งปัจจุบันนำร่องไปแล้ว แต่ก็ยังขยายไม่ทั่ว ดังนั้น จะต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นจริงทั้งหมด

นายอรรถวิชช์ ย้ำถึงเรื่องเวชระเบียนออนไลน์ ว่า สิ่งสำคัญต้องเป็นข้อมูลของประชาชนที่ประชาชนยินยอมในการขึ้นไปเก็บในชุดเก็บข้อมูล โดยจะมีการดีไซน์ที่มิใช่รัฐทำ แต่เป็นเอกชนที่รัฐสนับสนุน แต่ต้องอยู่บนความยินยอมของประชาชน ไม่ใช่ว่าทุกคนที่รักษาพยาบาลจะเอาขึ้นหมด ไม่ใช่ภาคบังคับ แต่บางคนมีความจำเป็นมาก เป็นโรคหลายอย่าง การทำแบบนี้จะอำนวยความสะดวก และลดค่าตรวจได้

 “ต้องยกเลิกความวุ่นวายเรื่องการส่งตัว เพราะปัจจุบันการไปหาหมอภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพฯ ที่สปสช.ดูแลนั้น จะต้องไปหน่วยบริการใกล้บ้านระดับปฐมภูมิก่อน จึงจะสามารถไปรพ.ใหญ่ หรือระดับทุติยภูมิได้ ประเด็นคือ หากรพ.ใหญ่ที่เรามีชื่อ และเราป่วยเกินศักยภาพที่เขาจะรักษา จำเป็นต้องส่งตัวต่อไปยังรพ.เฉพาะทาง ปัญหาคือ ผู้ป่วยหรือญาติต้องไปขอใบส่งตัว และเราต้องขอทุกรอบเวลาจะรักษา หรือแม้แต่ซีทีสแกน สุดท้ายก็ต้องไปรอ และเสียเวลามาก หลายครั้งจะรักษาไม่ทัน หากต้องไปรักษารพ.เฉพาะทาง ต้องไปได้เลย โดยการส่งตัวให้เป็นระบบที่รพ.สามารถดำเนินการเองโดยใช้เทคโนโลยีได้ และกรณีนี้ต้องไม่จำกัดเฉพาะโรค เราต้องให้ทุกโรค  เราจะใช้เทคโนโลยีมาแก้ปัญหาคอขวดของระบบสาธารณสุข” นายอรรถวิชช์ กล่าว

พรรคภูมิใจไทยชูนโยบาย 30 บาทรักษาถึงบ้าน

นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ พรรคภูมิใจไทย เผยถึงนโยบายสาธารณสุข ว่า   ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ทำงานมา 4 ปี อย่างเรื่องหลักประกันสุขภาพฯ จาก 30 บาทรักษาทุกโรค ปรับเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ และนโยบายที่จะเสนอในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ การปรับให้เป็น 30 บาทรักษาถึงบ้าน โดยมี อสม. ซึ่งเป็นจุดแข็งระบบสาธารณสุขของไทย โดย 3 ปีที่ผ่านมา อสม.ทำงานเชิงประสิทธิภาพของสาธารณสุขเชิงพื้นที่เข้มแข็งมาก  โดยเน้นมีการดูแลประชาชนถึงบ้าน มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมถึงที่ สำหรับคนเจ็บป่วยเล็กน้อย ประชาชนยังสามารถนำบัตรประชาชนใบเดียวไปรับยาได้  จากเดิมต้องขึ้นทะเบียนหน่วยบริการหลัก จะปรับเป็นทุกคนรักษาที่ไหนก็ได้ และสามารถรักษาที่บ้านได้ด้วย  มี 3 หมอ หมอแรก อสม. หมอที่สอง คือ รพ.สต. หมอคนต่อไป คือ รพ.

ปัญหาที่ผ่านมาคือช่วงโควิด มีจุดอ่อนและจุดแข็ง โดยระบบสาธารณสุขพื้นที่ค่อนข้างเข็มแข็ง แต่ในกทม.มีปัญหาเข้าถึงบริการ การเข้าถึงบริการคนกทม.มีปัญหา กระทรวงสาธารณสุขในช่วงโควิดได้ตั้งรพ.บุษราคัม และต่อไปนโยบายสำหรับคนกทม. คือ การตั้งโรงพยาบาลเครือข่ายคนสาธารณสุขในกทม. เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น   

 

พท.ชูนโยบายสิทธิ์ที่เท่าเทียม หนึ่งผู้ซื้อสามกองทุน

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี   ผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเพื่อไทย เสนอสร้างหนึ่งมาตรฐานภายใต้กองทุนประกันสุขภาพที่บริหารแบบองค์กรโดยให้ สปสช.เป็นองค์กรหรือบริษัทที่ซื้อประกันสุขภาพให้ประชาชน  โดยอธิบายถึงนโยบายนี้ ว่า นโยบายสาธารณสุขสำคัญที่พรรคเพื่อไทยจะนำเสนอคือ การยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งพรรคเพื่อไทยในอดีตที่เป็นพรรคไทยรักไทย ได้เริ่มต้นไว้เมื่อประมาณ 22 ปีที่แล้ว ซึ่งในอดีตมีปัญหาเรื่องการรับบริการ แม้มีการรับบริการใกล้บ้าน แต่ยังมีเรื่องความไม่สะดวก อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นเราต้องการให้ทุกคนได้เข้าถึงการบริการ ทั้งผู้มีปัญหาทางจิต ผู้ป่วยระยะสุดท้าย จนมีสถานพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยทางใจมากขึ้น ที่สำคัญเราต้องยกระดับในเรื่องการพัฒนา ทำให้โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ในอดีตต้องขึ้นทะเบียนกับโรงพยาบาล

โดยต่อไปนี้คนที่จะรับประกันดูแลสุขภาพประชาชน คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)  ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปที่ใดอีก สามารถรับบริการใกล้ใจได้ ใช้บัตรประชาชนใบเดียว มีระบบ AI สามารถตรวจสอบระบบต่างๆ ที่ท่านใช้บริการมาทั้งหมด

“ส่วนเรื่องบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขสำคัญมาก สิ่งที่เราตั้งใจทำและเริ่มต้นไว้ตั้งแต่ปี 2544 คือ การทำให้รพ.ต่างๆ เป็นองค์การมหาชน ก็จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการกระจายแพทย์ออกไปบริการได้ มีการปรับโครงสร้างเงินเดือน ปรับค่าตอบแทนต่างๆ เป็นต้น”

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org