ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เห็นด้วย สพศท. ผลิตแพทย์ต้องมีคุณภาพ แต่ค้านปม “หมอเพียงพอ” เหตุหลายพื้นที่ยังสีแดง ขณะที่การกระจายตัวมีปัญหา  ยังเห็นต่างกรณีตำแหน่ง ขรก.จำกัดทำให้เพิ่มแพทย์ไม่ได้ แท้จริงควรเพิ่มหมอตามความต้องการของประชาชน เดินหน้าลดชม.ทำงานดีสุดเท่ากม.แรงงาน 48ชม./สัปดาห์ หากรบ.ใหม่ รมว.ใหม่มาเตรียมข้อมูลเข้าหารือ

ตามที่สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) ทำหนังสือถึงแพทยสภาเรื่อง ขอให้แพทยสภาพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษา หลักเกณฑ์การรับรองหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษา และสถาบันผลิตแพทย์ โดยใจความสำคัญกังวลว่า หากผลิตแพทย์มากเกินไปอาจมีเรื่องคุณภาพ ต้องมีการควบคุมคุณภาพให้สำคัญ  ขณะที่จำนวนแพทย์ในปัจจุบันมีจำนวนมากพอ ไม่จำเป็นต้องเร่งผลิตเพิ่มอีก โดยแพทยสภาได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย(กสพท) เพื่อพิจารณาด้วยนั้น 

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร   สมาชิกสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน  ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงกรณีดังกล่าว ว่า  เห็นด้วยที่ไม่ควรลดคุณภาพแพทย์ เพราะความรับผิดชอบต้องมาพร้อมกับความสามารถที่เพียงพอ  การผลิตแพทย์ ต้องมีคุณภาพด้วย เพราะแพทย์ต้องรับผิดชอบชีวิตของคน เราไม่ควรลดมาตรฐาน แต่การที่ระบุว่า ภาพรวมประเทศไทยมีแพทย์เพียงพอแล้ว อันนี้ไม่น่าจะใช่  แม้พิจารณาตัวเลขเฉลี่ยขององค์การอนามัยโลกระบุว่า สัดส่วนแพทย์ควรมี 1 ต่อคนไข้ 1,000 คน หรือประเทศที่กำลังพัฒนาจะมีสัดส่วนแพทย์ประมาณ 1 ต่อคนไข้ 1,000-1,200 คน แต่ทั้งหมดเป็นตัวเลขกลมๆ  เราไม่รู้ว่ามีแพทย์ทำงานจริงๆ กี่คน แต่ละเขตสุขภาพ แต่ละจังหวัดมีจำนวนเท่าไหร่ และยังไม่มีการเก็บข้อมูลละเอียดว่า แพทย์ 1 คนทุกวันนี้ดูแลคนไข้เท่าไหร่ อย่างไร

 

หมอดูแลคนไข้ยังขาดแคลน หลายพื้นที่สีแดง

นพ.ณัฐ กล่าวอีกว่า  จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข เราจะเห็นภาพจำนวนแพทย์แต่ละจังหวัด อย่างกรุงเทพฯ ขึ้นสีเขียว มีแพทย์จำนวนมาก แต่หลายจังหวัดก็ยังเป็นพื้นที่สีแดง แพทย์ไม่พอ  ดังนั้น จากข้อมูลตรงนี้ก็ยังบอกไม่ได้ว่า แพทย์เพียงพอแล้วจริงหรือไม่ และการกระจายตัวแพทย์ให้ดีจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ หากตอนนี้หมอเพียงพอจริง ทำไมเรายังเห็นหมออินเทิร์น อยู่เวรเกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ดังนั้น เรื่องนี้จึงต้องร่วมกันแก้ไข ร่วมกันหารือ และกำหนดทิศทางในการแก้ปัญหาจริงๆ

“จริงๆ เราเข้าใจทางสมาพันธ์แพทย์รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป เพราะคำนึงถึงคุณภาพของการเรียนการสอน ซึ่งไม่ควรลดคุณภาพ อันนี้เห็นด้วย แต่มีจุดหนึ่งที่อยากเพิ่มเติมคือ กรณีที่ระบุว่า ด้วยตำแหน่งข้าราชการไม่พอ ทำให้การเพิ่มแพทย์มีปัญหานั้น เรื่องนี้ไม่ควรเพิ่มแพทย์ตามตำแหน่งที่มี แต่ควรผลิตแพทย์เพิ่มตามความต้องการของประชาชน และค่อยไปเพิ่มตำแหน่งข้าราชการให้เท่ากับความต้องการ เราควรอิงประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่อิงตำแหน่ง” นพ.ณัฐ กล่าว

ใช้คำว่า "แพทย์" อย่างเดียวไม่ได้ ต้องเป็น "แพทย์ที่ทำงานต้องพอ"

นพ.ณัฐ กล่าวอีกว่า  เมื่อพูดภาพรวมว่าแพทย์เพียงพอก็อาจคิดเช่นนั้นได้ แต่ที่จริงก็ยังมีแพทย์ที่ไม่ได้ลงมาทำงาน เหมือนแพทย์อินเทิร์น แพทย์ใช้ทุน เพราะแพทย์บางคนเป็นผู้บริหาร บางคนไปเรียนต่อ บางคนไปเป็นอาจารย์ ไม่ได้อยู่เวรเต็มที่เหมือนแพทย์จบใหม่ ดังนั้น หากพูดได้ถูกต้อง ต้องระบุให้ชัดว่า แพทย์ที่ทำงานต้องพอ ไม่ใช่ใช้คำว่า “แพทย์” อย่างเดียว จริงๆไม่ใช่แค่แพทย์อินเทิร์นที่มีปัญหาภาระงาน แพทย์อื่นๆ อย่างแพทย์สาขาอื่น เช่น ศัลยกรรมต่างๆ ก็ยังมีปัญหา เรื่องนี้ต้องแก้ไขให้เป็นระบบ

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้ากรณีร่วมกับคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เข้าหารือกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แก้ปัญหาภาระงาน นพ.ณัฐ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ร่วมกับกมธ.การแรงงาน เพื่อหารือ สธ.ช่วยแก้ปัญหาชั่วโมงการทำงานที่มากเกินกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และควงเวรติดต่อกัน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์  ซึ่ง สธ.รับทราบปัญหา เข้าใจว่าล่าสุดแต่ละโรงพยาบาลกำลังรับนโยบายและขับเคลื่อนเรื่องนี้ ซึ่งตนยังไม่ทราบความคืบหน้าว่า ผลดำเนินการเป็นอย่างไร  

ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ดีที่สุดต้องเท่ากฎหมายแรงงาน 48 ชม./สัปดาห์

นพ.ณัฐ กล่าวอีกว่า  ขณะนี้ไม่ทราบว่าผลการดำเนินการแก้ไขเป็นอย่างไร มีความคืบหน้าถึงไหน ทางสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงานก็จะยังขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป โดยหากรัฐบาลใหม่มา มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขท่านใหม่ เราก็จะขอเข้าพบ เพื่อขอทำงานร่วมกันกับกระทรวงฯ ในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้มีทิศทาง และติดตามผลการดำเนินงานอย่างชัดเจน

“เบื้องต้นเรายังคงเสนอให้ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ต้องต่ำกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และให้ลดลงไปถึง 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และสุดท้ายในอนาคตที่แพทย์เพียงพอ ถ้าลงไปได้ถึงเท่ากฏหมายแรงงาน ก็คือ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์  ส่วนการควงเวรติดต่อกันไม่ควรเกิดขึ้น ควงให้แพทย์ได้พัก เพราะมีข้อมูลการศึกษาว่า หากแพทย์ไม่ได้พักย่อมมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุ ส่งผลกระทบทั้งแพทย์ และผู้ป่วยได้” สมาชิกสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน กล่าว

 

 

"นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร   สมาชิกสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน "

นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร   สมาชิกสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

  

ข่าวเกี่ยวข้อง : สพศท. ห่วงหลายสถาบันเร่งผลิตแพทย์จำนวนมาก หวั่นส่งผลคุณภาพ จ่อหารือ สธ.ขอทิศทางชัดเจน