ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.จุฬาลงกรณ์ เปิดงาน “สัปดาห์โรคหลอดลมเรื้อรัง” ตั้งแต่วันนี้ถึง 27 พ.ค.66 จัดเสวนาให้ความรู้ พร้อมตรวจมวลกล้ามเนื้อ-ไขมัน ตรวจสมรรถภาพปอดฟรี!  ด้านอาจารย์แพทย์เผยโรคหลอดลมเรื้อรังพบมากขึ้น เหตุหลายปัจจัย ทั้งภูมิแพ้ต่างๆ การติดเชื้อ และมลพิษฝุ่น PM.2.5

 

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่โถงชั้น M อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ รพ.จุฬาลงกรณ์ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวเปิดงาน "สัปดาห์โรคหลอดลมเรื้อรัง จุฬาฯ 2566"ว่า หลอดลมเป็นด่านหน้าของระบบทางเดินหายใจ มีความสัมพันธ์โดยตรงกับภาวะต่างๆ ในปัจจุบันที่อาจจะก่อโรคหลอดลมเรื้อรังได้ เช่น มลพิษฝุ่น PM.2.5 โรคภูมิแพ้ต่างๆ และการติดเชื้อต่างๆ เป็นต้น 

ทั้งนี้ โรคหลอดลมหลายคนยังไม่เข้าใจและไม่เห็นความสำคัญ ความจริงยังมีกลุ่มโรคอีกมากมายที่ก่อโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังได้เช่น โรคหอบหืด โดยเฉพาะในเด็กพบมีอุบัติการณ์สูงมากประมาณ 10% และ 1 ใน10 ก่อให้เกิดโรคหลอดลมเรื้อรัง ในผู้ใหญ่ก็พบจำนวนไม่น้อยเช่นกัน จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ต้องเรียนรู้ถึงอาการของโรค หากสงสัยจะได้รับการตรวจรักษา รพ.จุฬาลงกรณ์และคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ โดยหน่วยโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤต ฝ่ายอายุรศาสตร์ จึงได้จัดกิจกรรม "สัปดาห์โรคหลอดลมเรื้อรัง จุฬาฯ 2566" ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 27 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น.   ที่โถงชั้น M อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ มีนิทรรศการให้ความรู้ การเสวนา และการตรวจวัดมวลกล้ามเนื้อ-ไขมัน ตรวจสมรรถภาพปอดฟรี

คนไข้จำนวนมากไม่รู้ตัวป่วย โรคหลอดลมเรื้อรัง

ศ.นพ.ณัฐพงษ์ เจียมจริยธรรม หัวหน้าหน่วยโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตการหายใจ ฝ่ายอายุรศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ที่รพ.จุฬาฯ พบคนไข้โรคหลอดลมเรื้อรังจำนวนมากขึ้น การดูแลและอาการก็แตกต่างกัน ปัจจุบันยังมีผู้ป่วยจำนวนมากไม่ทราบว่าเป็นโรคหลอดลม เพราะไม่ทราบอาการเป็นอย่างไร จึงยังไม่เข้ารับการวินิจฉัย ดังนั้น รพ.จุฬาฯ จึงได้จัดงานครั้งนี้ขึ้นเพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้ ทั้งนี้โรคหลอดลมเรื้อรังคือกลุ่มโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดลม อาจจะเกิดจากการอักเสบเรื้อรังหรือเกิดจากการที่ผนังหลอดลมผิดปกติ หรือมีการอุดกั้นของหลอดลม

 

มลพิษทางอากาศ-ติดโควิด19 ทำอาการเด่นชัดขึ้น

“คนไข้กลุ่มนี้เมื่อได้รับมลพิษทางอากาศหรือ ติดเชื้อโควิด-19  จะทำให้มีอาการเด่นชัดขึ้น หรืออาการกำเริบได้ ตัวอย่างโรคหลอดลมเรื้อรังที่พบบ่อย เช่นโรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดลมโป่งพอง อาการของโรคหลอดลมเรื้อรัง ที่พบบ่อยคือ ไอ อาจจะมีหรือไม่มีเสมหะ เหนื่อย ทำกิจวัตรประจำวันได้ลดลง บางครั้งได้ยินเสียงหวีดออกจากทรวงอก ถ้ามีอาการติดต่อกัน ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติม” ศ.นพ.ณัฐพงษ์ กล่าว

คนไทย 75% เสียชีวิตจากกลุ่มโรคเอ็นซีดี

นพ ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การเสียชีวิตของคนไทย 75% มาจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ทั้งโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง  โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคปอด โรคมะเร็ง โรคเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจาก 5 พฤติกรรมเสี่ยงใกล้ตัว คือ บุหรี่ แม้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ตอนนี้มีบุหรี่ไฟฟ้ากำลังมาแรง โดยเฉพาะมีกลยุทธ์จูงใจให้กลุ่มเด็กเยาวชนเข้าถึงง่าย, แอลกอฮอล์,อาหารการกินหวาน มัน เค็ม, พฤติกรรมเนือยนิ่งไม่ออกกำลังกาย และมลภาวะทางอากาศ ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้และป้องกันได้