ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สัญญาณเตือน "โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่"

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยสัญญาณเตือน "โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่" รณรงค์ผู้หญิงให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพภายใต้แนวคิด “ปวดท้องน้อย” พูดสิ พูดได้

อาการปวดท้องน้อย ปวดท้องประจำเดือน เป็นอาการที่พบได้บ่อยจนทำให้ไม่ทันระวังความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากสัญญาณของการปวดท้องน้อย! เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ จึงได้จัดแคมเปญ ปวดท้องน้อย พูดสิ พูดได้ สัญญาณเตือนที่ต้องระวังโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ในเดือนพฤษภาคม เดือนแห่งการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงอาการ “ปวดท้องน้อย” MAY is Pelvic Pain Awareness Month ณ ชั้น 1 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ 400 เตียง 

ภายในงานมีการให้บริการประเมินอาการตรวจคัดกรองความเสี่ยงด้วยวิธีอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างจากทีมบุคลากรของโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ นำทีมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเชษฎ์ สิริพงษ์สกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ พร้อมรับคำปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ให้กับผู้หญิงที่มีอาการปวดท้องน้อย 40 คน

"สัญญาณเตือน "โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่""

สำหรับช่วงเสวนาให้ความรู้ : โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ #ปวดท้องน้อย พูดสิ พูดได้ โดยผศ.นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยานรีเวช หัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์  กล่าวว่า โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นภาวะที่มีการเจริญเติบโตของเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกไปนอกโพรงมดลูก ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอื่น ๆ โดยสามารถแทรกตัวได้ในหลายอวัยวะ เช่น

  • อยู่ในผนังหรือกล้ามเนื้อมดลูก 
  • เยื่อบุช่องท้อง 
  • รังไข่ 
  • ผนังลำไส้ 
  • ผนังกระเพาะปัสสาวะ 
  • อาจกระจายไปสู่อวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด 

เมื่อเยื่อบุไปเจริญเติบโตอยู่ผิดที่ ทำให้มีเลือดสีแดงคล้ำหรือสีดำข้นคล้ายช็อกโกแลตขังอยู่ตามอวัยวะ เป็นสาเหตุสำคัญของอาการผิดปกติต่าง ๆ โดยเฉพาะอาการปวดท้องน้อยที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคนี้ ตำแหน่งที่พบบ่อยส่วนใหญ่มักพบบริเวณอุ้งเชิงกราน ได้แก่ รังไข่ ท่อนำไข่ เยื่อบุช่องท้องทางด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้างของมดลูก รวมถึงอวัยวะใกล้เคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ ยังพบได้ที่ท่อไต ลำไส้เล็ก ปอด สมองและบริเวณผิวหนัง หรือแผลผ่าตัด พบได้ประมาณ 1 ใน 10 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์และอาจสูงถึง 5 ใน 10 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีอาการปวดประจำเดือน

กลุ่มเสี่ยงโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มักมีความสัมพันธ์กับการมีประจำเดือน

ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ เผยอีกว่า โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ อาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อโรคอื่น เช่น ช็อกโกแลตซีสต์ หรืออาจเกิดเนื้องอกได้ นอกจากนี้ ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดประจำเดือน ส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง โดยกลุ่มเสี่ยง มักมีความสัมพันธ์กับการมีประจำเดือน เช่น 

  1. ผู้หญิงที่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนเพื่อน
  2. ผู้หญิงที่เข้าสู่ภาวะวัยหมดประจำเดือน หรือวัยทอง ช้ากว่าปกติ 
  3. ผู้หญิงที่มีประจำเดือนออกมากและออกนานหลายวัน 
  4. ผู้หญิงที่รอบเดือนมาถี่หรือระยะห่างระหว่างที่เป็นประจำเดือนแต่ละรอบสั้น 
  5. ผู้หญิงที่มีแม่ พี่สาวหรือน้องสาวเป็นโรคนี้ 
  6. ผู้หญิงที่มีลูกคนแรกตอนอายุมาก ก็จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้สูงขึ้น 
  7. กลุ่มเสี่ยงโรคยังครอบคลุมกลุ่มสตรีที่มีบุตรยาก 

ในด้านพฤติกรรมยังพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์และกาแฟมาก ๆ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่สูงขึ้น โรคนี้มีทั้งแบบที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ 

อาการแบบไหนน่าสงสัยว่าเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ 

ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เมื่อพบอาการผิดปกติที่สัมพันธ์กับการมีประจำเดือนก็มีโอกาสเสี่ยงได้ รวมถึงอาการปวดท้องน้อย ได้แก่ 

  • อาการปวดประจำเดือน ซึ่งเป็นอาการส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์ มักมีอาการปวดนำมาก่อน 2-3 วันก่อนที่ประจำเดือนมา ในช่วงที่กำลังมีประจำเดือนอาการปวดจะมากขึ้นและจะรุนแรงมากขึ้นในรอบเดือนถัด ๆ ไป 
  • อาการปวดท้องน้อยขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยลักษณะอาการปวดจะปวดเจ็บลึก ๆ ในช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์ 
  • อาการปวดท้องน้อยเรื้อรังนานกว่า 6 เดือน 

สำหรับผู้หญิงที่มีลูกยาก คลำแล้วพบก้อนที่ท้องน้อย เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ก็เสี่ยงต่อโรคนี้ได้ ส่วนน้อยอาจมีอาการอื่นที่สัมพันธ์กับตำแหน่งของโรค เช่น มีตัวโรคอยู่ที่กระเพาะปัสสาวะ อาจมีอาการปวดเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อยขึ้นหรือปัสสาวะเป็นเลือดช่วงที่เป็นประจำเดือน หากมีตัวโรคที่ลำไล้ใหญ่ส่วนปลายอาจมีอาการถ่ายลำบาก ปวดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ หรือถ่ายเป็นเลือด โดยเฉพาะช่วงที่เป็นประจำเดือน บางคนมีอาการไอเป็นเลือดในช่วงเป็นประจำเดือน เนื่องจากมีเยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญที่ปอด อีกทั้งอยากเน้นย้ำให้ผู้หญิงตรวจภายในประจำปีในทุก ๆ ปี ส่วนผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน กลัวการตรวจภายใน แพทย์จะไม่ใช้เครื่องมือตรวจโดยไม่จำเป็น ถ้าไม่สงสัย ไม่มีความเสี่ยง และอาจใช้การอัลตราซาวด์ดูทางหน้าท้องแทน

ด้านพญ.กตัญญุตา  นาคปลัด แพทย์เฉพาะทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เสริมว่า โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นี้อาจทำให้เกิดปัญหาภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากโรคนี้มักจะทำให้เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน บางรายเป็นมากจนทำให้เกิดการอุดตันของท่อนำไข่ทั้งสองข้างทำให้ไม่สามารถมีบุตรเองได้โดยวิธีธรรมชาติ อาจจำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัด หรือต้องใช้เทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว 

"ในกลุ่มของผู้ที่มีภาวะการมีบุตรยาก พบว่าเกี่ยวข้องกับโรคเยื่อบุโพรงมดลูก 40-50% เพราะจะมีผลทำให้โครงสร้างของอวัยวะสืบพันธุ์ทำงานผิดปกติ เมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีโรค ทำให้ท่อนำไข่ตันและทำให้คุณภาพรังไข่ลดลง เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาได้หายขาดได้โดยธรรมชาติของโรค แต่จะดีขึ้นเองเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเนื่องจากวัยหมดประจำเดือนไม่มีฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) ในการกระตุ้นตัวโรคอีก ส่วนจุดประสงค์ของการรักษาในปัจจุบัน ก็เพื่อเป็นการบรรเทาอาการของโรคนี้ โดยเน้นการรักษาตามอาการ เป็นหลัก" พญ.กตัญญุตา กล่าว

การรักษาแบ่งออกได้เป็น 3 วิธีใหญ่ ๆ ได้แก่ 

  1. การรักษาด้วยยา โดยจะใช้ยาที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) 
  2. การรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น พบช็อกโกแลตซีสต์ขนาด 4-5 เซนติเมตร   
  3. การรักษาร่วมกันระหว่างการให้ยาและการผ่าตัด 

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดโรคนี้ที่ได้ผลแน่นอน หากมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะอาการปวดประจำเดือนหรือปวดบริเวณท้องน้อย ควรรีบปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและรักษาโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อการวางแผนในการดูแลรักษาต่อไป  

ขณะที่ น.ส.ศกุนตลา เทียนไพโรจน์ หรือต้นหอม นักแสดงสาว ที่มาร่วมส่งสารรณรงค์ในแคมเปญ ปวดท้องน้อย พูดสิ พูดได้ กล่าวถึงประสบการณ์เกี่ยวกับอาการปวดท้องน้อยว่า ในตอนนั้นมีเลือดออกบ่อย ๆ และปวดท้องมาก เมื่อพบสัญญาณผิดปกติจึงปรึกษาแพทย์ แล้วตรวจพบซีสต์หรือถุงน้ำ สาเหตุที่ทำให้มีเลือดออก จึงต้องรับประทานยาที่เป็นฮอร์โมน อาการจึงดีขึ้น จึงอยากให้ผู้หญิงทุกคนไม่ต้องอายที่จะพบแพทย์ ถ้ารู้และรักษาได้เร็วจะช่วยจากหนักเป็นเบาได้ ตามแคมเปญปวดท้องน้อย พูดสิ พูดได้ ถ้ามีความผิดปกติปรึกษาแพทย์ได้ ถึงไม่มีอาการผิดปกติก็ควรตรวจเป็นประจำ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : วัยรุ่น วัยทำงาน...ปวดท้องประจำเดือนบ่อยครั้ง โปรดระวัง ‘โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่’

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org