ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาเภสัชกรรม พร้อมหารือร่วม 3 ฝ่าย สภาฯ-แพทยสภา-สปสช. หลังมีข้อห่วงใย 16 อาการเบื้องต้นรับยาฟรีร้านขายยาคุณภาพโครงการบัตรทอง หลังมีแพทย์กังวลการจ่ายยาบางกลุ่มโรคอาจขัดหลักวิชาชีพ เพราะการวินิจฉัยต้องเป็นแพทย์เท่านั้น ขณะที่เภสัชฯ ย้ำไม่ได้ตรวจโรค เป็นการจ่ายยาตามกลุ่มอาการกำหนด และติดตามต่อเนื่อง 3 วัน หากอาการไม่ดีส่งต่อสถานพยาบาล

จากกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับสภาเภสัชกรรม จัดบริการดูแลโรคทั่วไปหรือการเจ็บป่วยเล็กน้อย (common illnesses) ให้แก่ผู้มีสิทธิบัตรทองที่ไปรับบริการที่ร้านยาคุณภาพที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศสามารถรับยาฟรีได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาและการดูแลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว กระทั่งแพทยสภาทำหนังสือทักท้วงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และสภาเภสัชกรรม เรื่อง การประกาศให้ร้านยาให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น 16 รายการว่า อาจขัดหลักวิชาชีพแพทย์ในเรื่องการวินิจฉัยโรคนั้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง :  เริ่มแล้ว!! สภาเภสัชกรรมเผยร้านยาพร้อมดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ รับยาที่ร้านยาได้)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม แหล่งข่าวแพทย์ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ให้ข้อมูล Hfocus ว่า ก่อนที่สปสช.จะประกาศให้มีการจัดบริการดังกล่าว โดยจัดสรรงบประมาณเป็นรายหัวแก่ร้านยาคนไข้ละ 190 บาทในการดูแล 16 กลุ่มอาการ ซึ่งสปสช.และสภาเภสัชฯ ให้ข้อมูลว่า การดูแลกลุ่มโรคเหล่านี้ เป็นเพียงการดูแลการเจ็บป่วยเบื้องต้น เล็กๆน้อยๆ แต่บางกลุ่มอาการ แพทย์ก็กังวลว่า หากให้ยาที่ไม่ตรงจุดจริงๆ เพราะไม่ได้ตรวจละเอียด อาจทำให้เสียโอกาสการรักษา จึงมีการร้องไปยังแพทยสภา ถึงข้อห่วงใยดังกล่าว และเข้าใจว่า ได้ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความ แต่ทางกฤษฎีกาให้ 3 หน่วยงาน คือ แพทยสภา สปสช. และสภาเภสัชกรรม มาหารือกันเอง ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบความคืบหน้าดังกล่าว

พร้อมหารือกรณีข้อห่วงใยจ่ายยา 16 กลุ่มอาการ

ด้าน ภก.ดร.สุวิทย์ ธีรกุลชน อุปนายกสภาเภสัชกรรม กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า กำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสาธารณสุข  ซึ่งพิจารณาให้ทั้ง 3 ฝ่าย คือ แพทยสภา สปสช. และสภาเภสัชกรรม มาปรึกษากัน มีการพูดคุยกันไปแล้ว คิดว่าจะสามารถหาข้อสรุปกันได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับการให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการนั้น ไม่ใช่การวินิจฉัย เพราะปกติร้านยาทุกร้าน โดยเภสัชกรจะมีการซักถามอาการ แต่ไม่ได้วินิจฉัยว่า คุณเป็นโรคนี้ หรือโรคนี้แต่อย่างใด ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นอาการเบื้องต้น เจ็บคอ แต่โอกาสที่จะนำไปสู่อาการรุนแรงหรือไม่นั้น จริงๆก็มีแต่เราไม่ได้วินิจฉัยว่าเขาเป็นอะไร ดังนั้น ภายใน 3 วันที่ได้รับประทานยาก็จะมีการโทรติดตาม หากไม่หายก็จะส่งต่อไปยังสถานพยาบาล

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะแตกต่างอย่างไรกับก่อนหน้านี้แพทย์วินิจฉัยโรคให้ใบสั่งจ่ายยา และให้คนไข้มาเบิกยาที่ร้านยา ภก.ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า คนละอย่างกัน กรณีนั้นคือ แพทย์วินิจฉัยโรคและออกใบสั่งยา แต่อันนี้เป็นอาการเบื้องต้น จริงๆ กรณีเหล่านี้ รวมทั้งที่ร้านขายยาสั่งยา 16 อาการเบื้องต้นก็เป็นการลดความแออัดในโรงพยาบาลสำหรับประชาชนที่มีอาการไม่มาก ซึ่งเป็นไปตามโครงการของ สปสช.  

 

16 กลุ่มอาการมีอะไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 16 อาการเบื้องต้น ประกอบด้วย 1.ปวดหัว  2.เวียนหัว 3.ปวดข้อ 4.เจ็บกล้ามเนื้อ      5.ไข้  6.ไอ  7.เจ็บคอ 8.ปวดท้อง 9.ท้องเสีย  10.ท้องผูก 11.ถ่ายปัสสาวะขัด, ปัสสาวะลำบาก, ปัสสาวะเจ็บ  12.ตกขาวผิดปกติ 13.อาการทางผิวหนัง ผื่นคัน 14.บาดแผล  15.ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตา และ 16.ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู

ภาพจาก สปสช.

หากต้องปรับปรุงพรบ.ยา

เมื่อถามถึงกรณี พ.ร.บ.ยา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 ผ่านมาจะ 4 ปีจำเป็นต้องปรับปรุงเรื่องใดหรือไม่    ภก.ดร.สุวิทย์กล่าวว่า  พ.ร.บ.ยา (ฉบับที่ 6) ก็ไม่ได้เปลี่ยนจากเดิม เพียงแต่ออกมาใช้คู่กับฉบับแรกปี 2510 จริงๆ ต้องรอการปรับ พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่เลย เนื่องจาก พ.ร.บ.ยาที่ใช้อยู่ค่อนข้างล้าสมัย น่าจะต้องปรับเปลี่ยนหลายเรื่อง  หากต้องแก้ พ.ร.บ.ยาใหม่  เราอยากให้ประเทศไทยเป็นเหมือนกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่มีการแบ่งชัดเจนว่า การประกอบวิชาชีพ "แพทย์" จะวินิจฉัย และ "เภสัชกร" จ่ายยา ทำไมถึงต้องเป็นแบบนั้น เพราะว่าเรียนมาต่างกัน และองค์ความรู้ที่โฟกัสกันคนละจุด พอแพทย์สั่งจ่าย เภสัชกรก็จะมาดูว่าได้รับการวินิจฉัยโรคนั้นโรคนี้ จ่ายยาตัวนั้นตัวนี้เหมาะสมแล้วหรือยัง มีอะไรที่ดีกว่านั้นหรือเกิดการขัดแย้งกับประวัติที่เคยได้รับยามา ก็ทำให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยมากขึ้น

“แต่สิ่งนี้เกิดขึ้นใน รพ. แต่นอก รพ.ยังไม่เกิด คือ คลินิกหมอเป็นคนวินิจฉัยและสั่งจ่ายจบในคนเดียว เป็นต้น ซึ่งไม่ได้เป็นหลักปฏิบัติของประเทศอื่นทั่วโลก ซึ่งอยากให้กำหนดใน พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ให้ชัดเจน ว่าใครควรทำหน้าที่อะไร" ภก.ดร.สุวิทย์กล่าว

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ระวัง! เภสัชกร “แขวนป้าย” ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ร้านขายยามีโทษพักใช้ใบอนุญาต 2 ปี)

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org