ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ปลัดสธ. แก้ปัญหาบุคลากรสาธารณสุข ปมหมอลาออก จริงๆ มีวิชาชีพอื่นๆ เช่น พยาบาล ชี้ 5 ปัจจัยเดินหน้าแก้ไข ทั้ง “ค่าตอบแทน” ล่าสุดเพิ่มเงินโอที 8% ค่าอยู่เวรบ่ายดึก 50% “สวัสดิการ” ปรับปรุง สร้างบ้านพักอย่างเพียงพอ ก่อสร้างแล้ว 1 หมื่นยูนิต “ความก้าวหน้า”  และ”ภาระงาน”  รวมไปถึง “เรื่องส่วนตัว” บางคนต้องการอยู่ใกล้บ้าน เพื่อดูแลพ่อแม่ เป็นเรื่องส่วนตัวที่ห้ามได้ยาก

 

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่โรงแรมเดอะ ฮอลล์ เขตหลักสี่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดทบทวนหลักสูตรแพทย์เพิ่มพูนทักษะ โดยให้มีการเรียนแพทย์ 7 ปี จากเดิมที่เรียน 6 ปีแล้วออกมาทำงานเพิ่มพูนทักษะ 1 ปีในโรงพยาบาล (รพ.) ของรัฐ หลังพบปัญหาแพทย์เพิ่มพูนทักษะลาออกเนื่องจากภาระงานหนัก ว่า เมื่อวานมีการประชุมระหว่าง สธ. กับ 4 ชมรมแพทย์ของกระทรวงฯ ได้แก่ ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน และชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย มีการหารือในเรื่องภาระงาน เนื่องจากไทยเรามีการบริการทางการแพทย์ให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะยามปกติหรือยามฉุกเฉิน แต่สิ่งที่ตามมาคือ ภาระงานที่หนักมาก ประกอบกับสังคมผู้สูงอายุที่ต้องการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ ส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟูและรักษาโรคมีมากขึ้น จึงต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรในข้อจำกัดด้านบุคลากร งบประมาณที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้

One Province One Hospital หนึ่งจังหวัด หนึ่งรพ. อีกทางออกแบ่งปันทรัพยากร บรรเทาภาระงาน

“ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันคือ พยายามให้แต่ละจังหวัด ถือว่าหน่วยบริการของแต่ละจังหวัดเป็นหน่วยเดียวกัน หรือนโยบาย One Province One Hospital โดยการแบ่งปันทรัพยากรรวมถึงบุคลากรร่วมกัน เช่น รพ. ไหนขาดหมอ ขาดงบฯ อีก รพ. ก็เข้าไปช่วย โดย 4 ชมรมฯ สะท้อนกลับมาหลายเรื่อง คือ 1.บุคลากรที่มีจำกัดแต่ภาระงานเยอะ ปัญหาของเราคือติดระเบียบของราชการ เช่น ก.พ. เราจึงเทียบกับวิชาชีพอื่นอย่างครู ที่บริหารจัดการตำแหน่ง คัดเลือกบุคลากร ปรับค่าตอบแทนได้เอง แต่สธ. ไม่มี ฉะนั้น เราจึงไม่สามารถบริหารจัดการ ปรับเปลี่ยนสายงานของบุคลากรได้อย่างคล่องตัว ทางชมรมฯ เสนอให้มีการบริหารแบบวิชาชีพครู ดูแลบุคลากรกันเองผ่านคณะกรรมการกระทรวงสาธารณสุข (กสธ.) ซึ่งจะมีการตกผลึกและผลักดันต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

อ่านเพิ่มเติม https://www.hfocus.org/content/2023/06/27798?fbclid=IwAR379bHI1rRjJ0Mnm03ie9--OWxmzKWVLakc4LICoohyi2Q9j-zYN55gpGM