ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสจ.ภูเก็ต เผยสถานการณ์โรคทางเดินอาหารพบป่วยสะสม 6,382 รายตั้งแต่วันที่ 5-12 มิ.ย.เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน แต่คาดว่ามาจากแหล่งน้ำและน้ำแข็ง ส่งตรวจสอบ คาดรู้ผลอีก 1 สัปดาห์ ด้านกรมอนามัย เร่งคุมเข้มความสะอาด หลังพบอุจจาระร่วงเฉียบพลันในหลายพื้นที่

 

คาดรู้ผลภูเก็ตท้องร่วงกว่า 6 พันรายอีก 1 สัปดาห์

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.)ภูเก็ต เปิดเผยความคืบหน้าสถานการณ์ระบาดโรคทางเดินอาหารและน้ำในจังหวัดภูเก็ตที่มีผู้ป่วยด้วยอาการท้องเสียเป็นจำนวนมาก ว่า แนวโน้มผู้ป่วยขณะนี้ลดลง ไม่พบมาก เท่าช่วงก่อนหน้านี้ โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 5 – 12 มิ.ย. 2566 มียอดผู้ป่วยรวมสะสม 6,382 ราย ในจำนวนนี้ มีหลายช่วงอายุวัย ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ พบผู้ป่วยมากสุดในวันที่ 8 มิ.ย. ซึ่งผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาทั้งโรงพยาบาล (รพ.) รัฐและเอกชนคิดเป็นร้อยละ 5  บางส่วนออกจาก รพ. แล้ว โดยการระบาดพบในหลายพื้นที่ทั้งอำเภอเมือง อำเภอกะทู้ และอำเภอถลาง เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่คาดว่าน่าจะมาจากแหล่งน้ำและน้ำแข็ง จึงมีการเก็บตัวอย่างน้ำแข็ง ในโรงงานผลิตน้ำแข็ง 6 แห่ง ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต รวมถึงตัวอย่างน้ำใช้ เพื่อส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอผล คาดรู้ผลอีก 1 สัปดาห์

 

พบ 70% ติดเชื้อโนโรไวรัส

“อาการผู้ป่วยส่วนใหญ่ คือ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีไข้ โดยยังไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง แต่ผลจากการตรวจใน รพ. พบว่าร้อยละ 70 ติดเชื้อโนโรไวรัส ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วแม้ร่างกายได้รับเชื้อในปริมาณเพียงเล็กน้อย สำหรับอาการเด็กนักเรียนที่มีอาการท้องเสียเป็นกลุ่มก้อน ก่อนหน้านี้เบื้องต้น ส่วนใหญ่อาการดีขึ้นแล้ว” นพ.กู้ศักดิ์ กล่าว

 

นพ.กู้ศักดิ์ กล่าวว่า ทางสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ได้กำชับให้สถานประกอบการต่างๆ สถานที่จำหน่ายอาหาร ทั้งร้านค้า แผงลอย ดูแลความสะอาดให้ปลอดภัยรวมถึงในแหล่งน้ำใช้ หากมีความจำเป็นที่จะต้องนำน้ำมาใช้ให้ ใส่คลอรีนก่อน อย่างไรก็ตาม สถานศึกษาให้เน้นมาตรการสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียนอย่างเคร่งครัด ทำความสะอาดจุดเสี่ยงในโรงเรียน กำชับ รพ. ทุกแห่ง เตรียมยา เวชภัณฑ์ และเตียงให้พร้อมรองรับผู้ป่วย รวมทั้งมอบหมายให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เฝ้าระวังผู้ป่วยที่อาจเกิดขึ้นในชุมชน

 

เมื่อถามถึงความมั่นใจของนักท่องเที่ยวในพื้นที่ นพ.กู้ศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ อาจจะมีความกังวลอยู่บ้าง จึงจะมีการประชาสัมพันธ์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่สร้างความเข้าใจและกันป้องกันโรค โดยยืนยันว่า สามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ แนวโน้มผู้ป่วยลดลง

แฟ้มภาพ

 

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิงเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า  กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มอบหมายทีมภารกิจปฏิบัติการด้านส่งเสริมสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อมดำเนินงานร่วมกับพื้นที่ สื่อสาร สร้างการรับรู้ และเน้นย้ำให้โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก โรมแรม รีสอร์ท สถานประกอบการร้านจำหน่ายอาหาร ตลาด และประชาชนปฏิบัติตามแนวปฏิบัติด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในทุกพื้นที่และทุกกลุ่มวัย คือ

1. สำรวจ ประเมินสุขลักษณะของสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรค สถานประกอบการ กระบวนการผลิตของสถานประกอบการ กิจการ และแหล่งผลิตอาหารและน้ำดื่มน้ำใช้ เช่น ร้านจำหน่ายอาหาร ตลาดสด ระบบประปาชุมชน โรงงานผลิตน้ำแข็ง น้ำดื่ม เป็นต้น เพื่อเป็นการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

2. ให้คำแนะนำในการดูแล ควบคุม กำกับการประกอบการ การจัดการกระบวนการผลิต ของสถานประกอบการ กิจการ แหล่งผลิตอาการและน้ำดื่ม
น้ำใช้ให้มีความสะอาด มีการฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงการปนเปื้อนเชื้อโรค การดูแลส้วมให้สะอาด รวมทั้งดูแลสุขอนามัยที่ดีของพนักงาน เจ้าหน้าที่ ผู้ปรุงประกอบอาหาร หรือผู้ที่มีการสัมผัสอาหารและน้ำดื่ม  

3. สื่อสาร สร้างการรับรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ ผู้ดูแลสถานที่ผลิต และจำหน่ายอาหาร ครู นักเรียน ให้มีการสังเกต ประเมินความเสี่ยงในพื้นที่และจุดที่มีความเสี่ยงการปนเปื้อนเชื้อโรค รวมทั้ง การดูแลสุขลักษณะของอาคาร สถานที่ต่างๆ ให้มีความสะอาด การฆ่าเชื้อโรค และมีการจัดการขยะอย่างถูกต้อง 

“ทั้งนี้ กลุ่มเด็กเล็กถือเป็นกลุ่มเสี่ยง กรมอนามัยจึงขอให้ครูและผู้ดูแลเด็กเล็กให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยจัดให้มีจุดล้างมือพร้อมสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ พร้อมให้ความรู้แก่นักเรียนในการดูแลสุขภาพและส่งเสริมพฤติกรรมอนามัยส่วนบุคคล และมีอาการอุจจาระร่วงเฉียบพลันหรือเสี่ยงเกิดภาวะร่างกายสูญเสียเกลือแร่ อ่อนแรง เบื้องต้นให้ดื่มเกลือแร่ Oral Rehydration Salt (ORS) และหากมีอาการรุนแรงให้รีบไปพบแพทย์ทันที สำหรับผู้ประกอบปรุงอาหารควรมีสุขอนามัยที่ดี ดูแลสุขลักษณะอาคารสถานที่ สถานที่ผลิตน้ำดื่ม น้ำแข็งได้มาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือ และประชาชนควรมีพฤติกรรมอนามัยส่วนบุคคลที่ดี โดยกินอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลางของตนเอง ล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำห้องส้วม และเมื่อสัมผัสจุดสัมผัสร่วม เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ และรับประทานอาหารในร้านจำหน่ายอาหารที่สะอาด เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว 
 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง