ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"ฉีดไข่หมาแบบการุณย์" 

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ความรู้ "พิษสุนัขบ้า ภัยร้ายใกล้ตัว การทำหมันสุนัขด้วยวิธี ฉีดไข่หมาแบบการุณย์" ควบคุมประชากรสัตว์จร หวังลดอุบัติการณ์โรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ “เรบีส์” (Rabies Virus) แม้จำนวนผู้เสียชีวิตจะไม่มาก แต่เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายของคนหรือสัตว์ จะฝังตัวอยู่ในระบบประสาท เช่น ในสมองและเยื่อหุ้มสมอง เมื่อเกิดอาการแล้ว อาการจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เสียชีวิตได้ อีกทั้งยังไม่มียารักษา 

การควบคุมประชากรสัตว์ โดยเฉพาะหมาจรและแมวจร จึงเป็นสิ่งสำคัญ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงจัดประชุมวิชาการ ประจำปี 2566 หัวข้อ เรื่องจริงของโรคพิษสุนัขบ้า พร้อมให้ความรู้เรื่อง "พิษสุนัขบ้า ภัยร้ายใกล้ตัว การทำหมันสุนัขด้วยวิธี ฉีดไข่หมาแบบการุณย์" ในวันที่ 2 ก.ค. 2566 ณ ห้องกิ่งเพชร โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ

การฉีดไข่หมาแบบการุณย์ หรือยาฉีดไข่ (อัณฑะ) หมาตัวผู้ จะทำให้เป็นหมันตลอดชีวิต โดยใช้เวลาเพียง 2 นาที ไม่ต้องฉีดยาซึมหรือให้ยาสลบ ไม่ต้องกักขังหลังฉีด และได้ผลในเวลาประมาณ 1 เดือนครึ่ง-2 เดือน หรือเร็วกว่านั้น เพราะตัวอสุจิมีจำนวนน้อยลง และไม่ผลิตอสุจิในที่สุด ความเปลี่ยนแปลงของสัตว์จะลดความก้าวร้าวลง แต่ไม่ส่งผลให้อ้วนขึ้น

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่นำโดยสุนัข แต่ก็เป็นโรคที่เกิดในคนได้มาก จึงต้องทำงานกับสัตวแพทย์ ในการหาแนวทางการป้องกัน ไม่ใช่เพียงแต่การรับมือจากปลายเหตุ เพราะโรคพิษสุนัขบ้า ถ้าคนไข้มีอาการจะเสียชีวิต สิ่งที่ควรทำ คือ ควบคุมประชากรสุนัข การฉีดไข่แบบการุณย์ จึงเป็นแนวทางใหม่

"หากกล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าไม่รุนแรง โดยดูจากจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีไม่มากนั้น เป็นเรื่องที่ไม่อาจสรุปได้ เนื่องจากการให้วัคซีนหรือสารสกัดน้ำเหลืองในคนที่ถูกสัตว์กัดแล้วแผลลึก เพื่อป้องกันไม่ให้เสียชีวิต ซึ่งใช้งบประมาณแต่ละปีค่อนข้างสูง สถานการณ์จริง ๆ คือ โรคนี้ยังไม่สงบ จึงต้องควบคุมตัวนำโรค เพราะเป็นโรคที่สำคัญของสัตว์สู่คน การฉีดวัคซีนในสัตว์นำโรคเท่านั้นยังไม่เพียงพอ หากต้องการควบคุมไม่ให้เกิดโรค ต้องฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 65-80 เปอร์เซ็นต์ของประชากรสุนัขและแมว โดยสัตว์นั้นออกลูกออกหลานทีละหลายตัว และต้องฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าประจำปีตามที่สัตวแพทย์นัด การควบคุมประชากรสุนัขและแมว จึงเป็นเป้าหมายสำคัญ หากควบคุมประชากรสุนัขหรือแมว อุบัติการณ์ที่เกิดจะน้อยลง และนอกจากจะช่วยเรื่องการป้องกันโรคแล้ว ยังช่วยเรื่องการท่องเที่ยวได้ด้วย ทำให้สภาพชุมชนน่าอยู่ สิ่งปฏิกูลจากสัตว์ก็จะน้อยลงด้วย" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เสริมด้วยว่า การทำหมันด้วยการผ่าตัดนั้นมีข้อจำกัด โดยทั่วไปจะใช้การผ่าตัดในตัวผู้ด้วยการตัดไข่ทิ้งทั้ง 2 ข้าง ส่วนตัวเมียจะตัดมดลูกทิ้ง จึงต้องให้ยาซึมหรือยาสลบ ค่าใช้จ่ายสูง ทำการผ่าตัดโดยสัตวแพทย์ และต้องดูแลสัตว์หลังผ่าตัด 3 วันเป็นอย่างน้อย แต่การฉีดไข่หมาแบบการุณย์จะใช้ตัวยาชื่อ Zinc Gluconate ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียนสารละลายนี้แล้วโดยองค์การอาหารและยา (อย.) เมื่อใช้สารชนิดนี้ที่ผลิตได้เองในประเทศไทย จากนั้นใช้ยาลดการอักเสบฉีดไปหลังจากฉีดสารละลาย Zinc Gluconate แล้ว ค่าใช้จ่ายรวมแล้วไม่เกิน 50 บาท 

หลังจากที่บริษัทผลิตยา M&H ได้สังเคราะห์และผลิตตัวยาแล้ว มีการนำมาศึกษาในสุนัข โดยติดตามดูแลอย่างดีตลอด 1 เดือน ทั้งสังเกตอาการ วัดไข้ การกินอาหาร รวมทั้งการอักเสบที่ลูกอัณฑะ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาปกติที่จะหายไปใน 2 สัปดาห์หลังการฉีด ทั้งนี้ วิธีฉีดให้จับแขนขา จัดท่าทางให้เรียบร้อย วัดขนาดของไข่ แล้วใช้เข็มเบอร์ 28 ฉีดยาในตำแหน่งที่เหมาะสม จากนั้นให้ดูแลสุนัขหรือแมว ตัวไหนเกิดการอักเสบหรือคัน ให้พาไปพบสัตวแพทย์

"มีข้อพิสูจน์ว่า เมื่อสุนัขติดเชื้อและมีอาการเริ่มใหม่ ๆ เส้นใยประสาทของสมองยังทำงานได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ไวรัสเคลื่อนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ โดยตลอดเวลาที่มีอาการ สมองก็ไม่ได้เสียหาย ยังทำงานได้ดี สำหรับมนุษย์ที่ได้รับเชื้อเข้าไปในร่างกาย แม้จะไม่มีอาการทางสมอง ก็พบว่า ในบางรายมีความผิดปกติที่ไขสันหลัง ไวรัสสามารถอยู่ได้โดยไม่แสดงอาการ ระยะฟักตัวนาน 4-5 สัปดาห์ โดยไม่มีอาการ แต่เมื่อมีอาการจะทำให้คนไข้เสียชีวิต" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวและเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ถูกสุนัขหรือแมวกัดข่วน ไม่ควรสังเกตอาการ เพราะสัตว์ สามารถปล่อยเชื้อออกมาได้ ก่อนที่มีอาการได้ถึง 10 วัน ถ้ารอให้เกิดอาการ ไวรัสก็แพร่กระจายอาจเข้าไปสู่เส้นประสาทและสมองได้ เมื่อถูกกัดหรือข่วนจึงควรล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด แล้วไปพบแพทย์ ซึ่งจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ากรณีที่ไม่มีเลือดออก หากมีเลือดออกหรือแผลลึก จะใช้สารสกัดน้ำเหลืองฉีดเข้าที่บาดแผล 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ย้ำด้วยว่า คนที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าและเสียชีวิตทุกราย จะมีอาการแตกต่างกัน โดยแบ่งเป็น 1 ใน 3 กลุ่มอาการ

  • กลุ่มแรก เสียชีวิตเร็วมาก มีอาการคลุ้มคลั่ง กลัวน้ำ และกลัวลม
  • กลุ่มสอง อัมพาต เหมือนเส้นประสาทอักเสบ แขน ขา ขยับไม่ได้ กล้ามเนื้อใบหน้าเป็นอัมพาต หลับตาไม่ได้ เจอได้ 20-25 เปอร์เซ็นต์ และเสียชีวิตใน 11-13 วัน
  • กลุ่มสาม มีอาการเหมือนโรคสมองอักเสบทั่วไป ไม่สามารถบอกได้เลยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า กลุ่มอาการนี้เป็นกลุ่มที่อาจตกสำรวจ จึงต้องพยายามให้ความรู้กรณีพบโรคสมองอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุอย่างแน่ชัด ถ้าเสียชีวิตควรตรวจเนื้อสมองให้ทราบว่า ติดเชื้อจากโรคใด อาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ไวรัสตัวอื่น หรือไวรัสโรคอุบัติใหม่ก็ได้

น.สพ.บุญเลิศ ล้ำเลิศเดชา สถานเสาวภา สภากาชาดไทย กล่าวว่า อุบัติการณ์การเกิดโรคพิษสุนัขบ้า ความชุกของโรคก็ยังอยู่ในเอเชียและแอฟริกาสูง โดยไวรัสจะถ่ายทอดผ่านทางน้ำลาย เมื่อเข้าถึงสมองจะรักษาไม่หายและเสียชีวิต โดยพบว่าผู้เสียชีวิตทั่วโลก ส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 15 ปีมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ โดย 80 เปอร์เซ็นต์ พบในพื้นที่ชนบท และในทุก 9-10 นาที จะมีผู้เสียชีวิต 1 คน  

ด้าน ส.พญ.นัยนา อภิชาติพันธุ์ อดีตนายสัตวแพทย์เชี่ยวชาญ เทศบาลนครสมุทรปราการ กล่าวว่า เมื่อพบว่ายาปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ หลังจากที่มีการใช้งานในพื้นที่ตำบลสวนส้ม จังหวัดสมุทรสาคร จึงได้มีการขยายผลต่อ โดยการใช้สารเคมีเข้าลูกอัณฑะหรือการฉีดไข่แบบการุณย์นั้นขยายผลการทำหมันด้วยวิธีนี้สู่สุนัขไม่ต่ำกว่า 3,000 ตัวจนถึงปัจจุบัน ไม่ต่ำกว่า 5,000 ตัว รวมทั้งได้รับการติดต่อจากอำเภอและอีกหลายจังหวัด 

ภญ.วรสุดา ยูงทอง ผู้อำนวยการกองยา สำนักคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า มาตรการทางเลือกการควบคุมจำนวนสุนัขเพื่อควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ในปัจจุบัน มีดังนี้

  • การฉีดยาคุมกำเนิด ไม่นิยมเพราะมีผลข้างเคียงทำให้มดลูกอักเสบจนถึงเป็นหนองในมดลูก
  • ทำหมันโดยการผ่าตัดในสุนัขเพศเมีย ต้องวางยาสลบแล้วผ่าช่องท้องตัดรังไข่และมดลูกทิ้ง ใช้เวลา 1-1.5 ชั่วโมง แต่บุคลากรมีจำกัด ไม่ทันกับจำนวนสุนัข และอาจเกิดปัญหาแผลแตก
  • ทำหมันโดยการผ่าตัดในสุนัขเพศผู้ ต้องวางยาสลบหรือยาซึมก่อนผ่าตัด การดูแลสัตว์หลังผ่าตัดค่อนข้างยุ่งยาก ไม่ทันต่อการเพิ่มจำนวนของสุนัข 
  • การกำจัดสุนัขไม่มีเจ้าของ ปฏิบัติไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า ให้กักขังสุนัขอย่างน้อย 5 วัน เพื่อดูว่าบ้าหรือไม่ จึงจะทำลายได้

ภญ.วรสุด กล่าวว่า การใช้ยาฉีด Zinc Gluconate อยู่ภายใต้การควบคุมของสัตวแพทย์ โดยได้รับการยอมรับขึ้นทะเบียนที่สำนักอาหารและยาของประเทศไทย ส่วนการทำหมันเพศผู้ด้วยการใช้ยา มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ได้แก่

  • ข้อดีให้ผลคุมกำเนิดแน่นอน
  • ต้นทุนต่ำ
  • บริหารยาง่าย สะดวก
  • ไม่ต้องผ่าตัดและดมยาสลบ แต่ควรให้ยาที่ทำให้ง่วงซึมแทน
  • มีความเป็นไปได้สูงที่จะใช้ในวงกว้าง เพื่อประโยชน์ด้านสาธารณสุข
  • ข้อเสียต้องบริหารยาให้เหมาะสม หากการบริหารยาไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้
  • อาการข้างเคียงอาจต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด และหลังใช้ยาต้องมีการติดตามผล

ด้านการประเมินประโยชน์กับความเสี่ยงของยาฉีด Zinc Gluconate ในภาพรวม ภญ.วรสุดา กล่าวว่า ในข้อบ่งชี้ใช้สำหรับการทำหมันให้กับสุนัขอายุ 3-10 เดือน และสุนัขวัยเจริญพันธุ์อายุมากกว่า 10 เดือน มีประโยชน์เหนือความเสี่ยง โดยต้องจัดให้มีการบริหารความเสี่ยงโดยแสดงฉลากและเอกสารกำกับยา รวมทั้งคำแนะนำสำหรับดูแล และกำหนดสถานะให้เป็นยาอันตราย โดยมีเงื่อนไขตามกฎกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการขึ้นทะเบียนตำรับยา พ.ศ. 2555 ดังนี้

  • ให้ใช้ยานี้โดยสัตวแพทย์หรือภายใต้การกำกับดูแลของสัตวแพทย์เท่านั้น และแสดงข้อความดังกล่าวไว้บนฉลาก
  • ให้ขายยานี้เฉพาะสถานพยาบาล (โรงพยาบาลหรือคลินิก) หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : “หมอธีระวัฒน์” รวมความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง