ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย ยื่นร้องสปสช. ปมผู้ติดเชื้อขาดยาต้านไวรัสฯ เหตุองค์การเภสัชฯ จัดหายาไม่ทัน ค้างส่งยารพ. ส่งผลให้ไม่สามารถจ่ายยาผู้ป่วยได้ไม่เหมือนเดิม บางแห่งไม่มียา ผู้ติดเชื้อต้องซื้อยาเอง เตรียมเข้าหารือผู้อำนวยการ อภ. คนใหม่ 24 ก.ค.นี้หาทางออกร่วมกัน

 

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย นำโดยนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายฯ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนสถานการณ์ยาต้านไวรัสเอชไอวีขาด และข้อเสนอแนวทางการดำเนินการแก้ไข ซึ่งมีนางยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสปสช.รับเรื่อง

 

ยาต้านไวรัสฯขาด เหตุองค์การเภสัชฯ ค้างจ่ายยาให้ รพ.

นายอภิวัฒน์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า สถานการณ์ยาต้านไวรัสเอชไอวีขาด เป็นปัญหาสะสมมานาน  ส่งผลกระทบต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่รักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ ได้รับยาไม่เต็มตามจำนวนตามที่แพทย์สั่ง เช่น ปกติได้รับยา 3-6 เดือน กลับได้เพียง 1 เดือน ยิ่งกว่านั้น ยาบางชนิด เช่น DTG ผู้ติดเชื้อฯ ได้รับยาเพียง 3 – 10 วันเท่านั้น ทำให้ผู้ติดเชื้อต้องเดินทางมารับยาบ่อยขึ้น ต้องลางาน ขาดรายได้ มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น  ซึ่งเมื่อไม่มียาเพียงพอ ผู้ติดเชื้อฯ ที่สมควรได้รับการปรับเปลี่ยนสูตรยาตามแนวทางการรักษาของประเทศ ส่วนหนึ่งไม่ได้รับการปรับเปลี่ยน หรือปรับไปเป็นสูตรที่ไม่เป็นไปตามแนวทางการรักษา ในระยะยาวอาจทำให้ผู้ติดเชื้อฯ ขาดยา หรือกินยาไม่ต่อเนื่อง ซึ่งมีผลให้เกิดโอกาสดื้อยาได้ ขณะที่ผู้ให้บริการของโรงพยาบาลก็ได้รับผลกระทบ มีภาระงานที่ต้องจัดการเพิ่มขึ้น เพื่อบริหารจัดการยาให้ผู้ติดเชื้อฯ ไม่ขาดยา และเพิ่มงานที่ต้องนัดหมายผู้ติดเชื้อฯ มารับบริการถี่ขึ้นอีก

“โจทย์ใหญ่คือ องค์การเภสัชกรรม(อภ.) ในฐานะเป็นเจ้าใหญ่ดูแลความมั่นคงของยาต้านไวรัสผ่านระบบสามกองทุน ซึ่งการจัดหายา ณ ขณะนี้ไม่แน่ใจว่ามีความมั่นคงในการจัดหายาหรือไม่ ซึ่งองค์การเภสัชฯ ควรต้องออกมาพูดว่า ปัญหาการจัดยา จนทำให้ไม่เพียงพอเป็นเพราะอะไร และการจัดหายา ทั้งสำนักงานประกันสังคม สปสช. หรือสิทธิ์ข้าราชการก็มีความพยายามในการจัดหา แต่ก็ต้องดูว่า จะทำอย่างไรไม่ให้สะดุด ปัญหาตอนนี้คือ มีเงินก็จัดหายาไม่ได้ เพราะองค์การเภสัชกรรมยังค้างจ่ายยาให้กับโรงพยาบาลในกรณีที่เบิกไป เช่น เบิกยาต้านไวรัส 100 ขวด แต่องค์การฯจัดหาให้ 50 ขวดและค้างจ่ายส่วนหนึ่ง ตรงนี้ก็ต้องมาพิจารณาว่า องค์การฯ ทำหน้าที่ในการจัดหายาได้หรือไม่” นายอภิวัฒน์ กล่าว

ปัญหายาต้านไวรัสฯสะสมมาราว 1 ปี เตรียมพบผอ.อภ.หารือ 24 ก.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าจริงๆก่อนหน้านี้ไม่เคยมีปัญหา ได้มีการหารือร่วมกับองค์การเภสัชกรรมหรือไม่ นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า เคยเข้าหารือกับทางองค์การเภสัชกรรมมาก่อนหน้านี้แล้ว  ซึ่งองค์การฯ ให้เหตุผลว่าติดปัญหาต่างๆ เช่น การหาวัตถุดิบ ฯลฯ ปัญหาสะสมมาประมาณ 1 ปี แต่ช่วงนี้หนักมาก และล่าสุดทางเครือข่ายฯ เตรียมเข้าหารือร่วมกับทางผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ท่านใหม่ ในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ เพื่อขอทราบเหตุผลถึงปัญหาการจัดหายา และแนวทางแก้ไขทั้งระยะสั้น ระยะยาว รวมทั้งมีแผนไปพบสำนักงานประกันสังคมเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน  

“จริงๆ ยาต้านไวรัสฯ หรือยาหลายรายการ องค์การฯ ผลิตเอง จัดหาเอง ตั้งแต่หาวัตถุดิบ สายการผลิตต่างๆ ซึ่งองค์การฯก็พยายามทำอยู่ แต่เป้าหมายบทบาทขององค์การฯ คือ การจัดหายาเข้าสู่ระบบ กลับไม่เป็นไปตามแผน  เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญจะต้องหาทางออก เพราะผู้ติดเชื้อในประเทศไทยมีประมาณ 4 แสนกว่าราย หากยาไม่พอ ขาดยาย่อมส่งผลกระทบ” นายอภิวัฒน์ กล่าว

 ผู้สื่อข่าวถามว่าปัจจุบันมีรพ.กี่แห่งที่ไม่มียาต้านไวรัส หรือมีปัญหาการเบิกจ่ายยาให้ผู้ป่วย ประธานเครือข่ายฯ กล่าวว่า หลายแห่งมาก เพราะยาไม่มีจึงไม่สามารถให้ยาผู้ป่วยได้  ยาไม่พอในระบบ ผู้ป่วยบางคนได้ 3-5 เม็ด บางคนไม่ได้สักเม็ดต้องหาซื้อเอง ปัญหาตรงนี้เพราะรพ.ไม่มียาให้ แม้จะคีย์ข้อมูลทำเบิกยาแล้วก็ตาม  แต่ยาไม่มาตามนัด โดยรพ.เอกชนมีหลายแห่งในกทม. ส่วนรพ.รัฐส่วนใหญ่จะทำเบิก 3-5 วัน ซึ่งมักเป็นสิทธิ์บัตรทอง