ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิตแนะจัดการภาวะเครียดทางการเมือง ต้องมีสติ จัดสรรเวลาเสพข่าวอย่างเหมาะสม หากเริ่มไม่ดี รู้สึกหงุดหงิด จนเสี่ยงสร้างความรุนแรง ต้องรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ จิตแพทย์ เพราะเครียดหนักๆ นำไปสู่การใช้สารเสพติด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้น

 

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม  พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์ภาวะเครียดจากการเสพข่าวการเมืองว่า ความสนใจการเมืองเป็นเรื่องดี สะท้อนสังคมไทยก้าวหน้าในเรื่องนี้ ประชาชนตื่นตัวให้ความสนใจ แต่หลายเรื่องไม่สามารถเป็นไปตามที่ใจคิด กรมสุขภาพจิตได้มีการติดตามรวมถึงการให้ความรู้ข้อแนะนำต่างๆ ผ่านช่องทางตามสื่อต่างๆ ในการรับรู้ข่าวสารข้อมูลอย่างมีสติสามารถทำได้อย่างไร ยังมีข้อแนะนำในการประเมินตนเองว่าเมื่อไหร่ควรจะถอยตัวเองออกจากการรับรู้ เมื่อไหร่ถึงขั้นที่ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อการรักษา ซึ่งข้อมูลต่างๆ สามารถศึกษาเรียนรู้ได้ผ่านเว็บไซต์กรมสุขภาพจิต

เมื่อถามว่าช่วงนี้กรมสุขภาพจิตได้มีการสำรวจอุณหภูมิความเครียดของคนไทยหรือไม่ว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร พญ.อัมพร กล่าวว่า กรมมีการติดตามต่อเนื่อง เมื่อไหร่ที่มีสัญญาณเขย่าบางอย่าง เช่น ต้องระวังบ้างแล้ว ก็จะออกมาบอกเล่าตัวเลข ซึ่งสถานการณ์ในขณะนี้ยังไม่ได้ลดอุณหภูมิลง ยังไต่ระดับขึ้นอย่างช้าๆ เรียกว่าอยู่ในระดับปิ่มๆ ที่ยังวางใจไม่ได้ แต่ยังไม่น่ากังวลมากไปกว่าช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ยังอยู่ในภาวะเฝ้าระวัง

ต้องมีสติในการเสพข่าวการเมือง

เมื่อถามถึงคำแนะนำการดูแลตนเองในการเสพข่าวการเมืองไม่ให้เกิดความเครียดจนเกินไป พญ.อัมพร กล่าวว่า ข้อแรกที่สำคัญคือการมีสติ ต้องประเมินตัวเองว่าเป็นอย่างไร หากยังรู้สึกสบายดี สะท้อนได้จากความสามารถดำรงชีวิตประจำวันได้ปกติ ทั้งกิจวัตรประจำวัน การทำงาน สัมพันธภาพกับคนครอบข้างยังไม่บกพร่อง ไม่ได้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกับใครไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เพราะบางคนอาจจะไม่ได้ทะเลาะเรื่องการเมืองโดยตรง แต่อาจจะทะเลาะเรื่องอื่นๆ ก็ได้ และสำรวจตังเองด้วยว่ากินได้ไหม นอนหลับไหม อารมณ์เบิกบานไหม  หากไม่แน่ใจสามารถเข้าไปเช็กตัวเองผ่าน MENTAL HEALTH CHECK IN ซึ่งเป็นเครื่องมือประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น ประเมินตัวเองว่ามีความเครียดที่เป็นความเสี่ยงสูงหรือไม่

“อันดับแรกคือการมีสติ สองการจัดสรรเวลาการรับรู้ข่าวสารแต่พอสมควรกับตัวเอง หลายคนอาจจะมีดีกรีความแข็งแรงที่สามารถติดตามข่าวสารได้วันละ 4-5 ชม.แต่ก็ยังเดินหน้าทำงานต่อได้ แต่บางคนแค่ชม.เดียวก็ไม่ไหวแล้ว สองคนนี้อาจจะมีการจัดสรรเวลาที่เหมาะสมได้เหมือนกัน จึงต้องหาความเหมาะสมที่ใช่สำหรับตัวเอง และสามถ้ารู้สึกว่าเราชักไม่ค่อยดีแล้ว รู้สึกหงุดหงิด ให้ปรึกษาคนใกล้ชิด แต่ต้องเลือกคนใกล้ชิดที่มีวุฒิภาวะพร้อมรับฟังและปรึกษาไปกันได้ ไม่ใช่รับฟังแล้วนำไปสู่การทะเลาะ ไม่ใช่คู่สนทนา และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหากพบว่าเกิดภาวะเครียดจนรุมร้าต่อหน้าที่การงาน สัมพันธภาพ และการดูแลตนเอง รวมถึงสุขภาพ ซึ่งความเครียดสามารถผลักดันไปสู่การใช้สารเสพติด หลายคนเครียดแล้วก็ไปดื่มสุรา สูบบุหรี่มากขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องระวังเพราะจะทำให้ปัญหาที่มีอยู่เพิ่มมากขึ้นได้” พญ.อัมพร กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง