ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.ชาติตระการ ถอดความสำเร็จระบบเบิกจ่ายประกันสุขภาพในรูปแบบดิจิทัล "iClaim" สามารถตรวจสอบสิทธิค่ารักษาพยาบาลกับบริษัทประกันได้  ประชาชนไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาทั้ง OPD , IPD  และมีข้อดีกับทั้งผู้ป่วยและโรงพยาบาลด้วย ผู้ป่วยได้สิทธิประโยชน์ในการรักษาและในการเบิกชดเชยได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว ในขณะที่โรงพยาบาลก็มีรายได้เพิ่มเข้ามาในระบบเช่นกัน

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566 นพ.เศษฐวิชช์ ศิริวัฒน์ นายเเพทย์เชี่ยวชาญ ผอ.รพ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก เปิดเผยกับ Hfocus เรื่องความสำเร็จระบบเบิกจ่ายประกันสุขภาพในรูปแบบดิจิทัล "iClaim" โดยเล่าว่า เคยได้ฟังข้อมูลจากหลายๆที่พูดถึงเรื่องการเคลมประกันชีวิต ซึ่งในตอนแรกยังไม่รู้เรื่องมากนัก จากนั้นได้ไปดูตัวอย่างที่โรงพยาบาลปากชมจังหวัดเลย จากนั้นได้ดำเนินการโดยเริ่มที่บริษัทประกันเอไอเอ ซึ่งเรามองว่าโรงพยาบาลค่อนข้างไกลจากชุมชนเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง ระดับกันดาร1 ไม่มีคู่แข่งทางการตลาดเลย ไม่มีโรงบาลเอกชน ไม่มีคลินิกแพทย์ ห่างจากโรงพยาบาลจังหวัดประมาณ 110 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นคนไข้จึงมารับบริการที่โรงพยาบาลแห่งนี้อยู่เป็นประจำ

เราจะมองว่าถ้าคนที่ซื้อประกันชีวิตไว้มาใช้บริการที่โรงพยาบาลน่าจะได้ประโยชน์ อย่างเช่น คนไข้สิทธิบัตรทองถ้าต้องการห้องพิเศษจะต้องเสียส่วนต่างเพิ่มขึ้น หรือถ้าอยากใช้บริการพิเศษที่นอกเหนือจากสิทธิก็ต้องชำระเงินเอง แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีประกันชีวิต ประกันชีวิตจะสามารถดูแลครอบคลุมในเรื่องนี้ได้เลย ซึ่งเมื่อก่อนสำหรับคนไข้ทั่วไปถ้ามารับบริการที่โรงพยาบาลเมื่อได้นอนโรงพยาบาลและต้องการเอาใบรับรองแพทย์ไปเบิกชดเชยกับบริษัทประกัน ผู้ป่วยเองก็ต้องทำเรื่องขอใบรับรองแพทย์จากแพทย์อีกทีจากนั้นต้องเอาเอกสารไปยื่นให้กับตัวแทนประกันและตัวแทนประกันต้องไปติดต่อที่บริษัทประกัน เรามองว่ากว่าจะได้เงินเยียวยาหรือค่าสินไหมชดเชยต้องใช้ระยะเวลานาน แต่หากใช้บริการแบบ "iClaim" ค่าสินใหม่ทดแทนจะได้คืนประมาณภายใน 2 วัน ไม่ต้องเสียเวลาดำเนินการใดเงินจะเข้าระบบให้เลย

ผู้ป่วยจะใช้ระบบเบิกจ่ายประกันสุขภาพในรูปแบบดิจิทัล "iClaim" ได้อย่างไร...

ผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาลจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าได้มีการซื้อประกันชีวิตไว้ว่างหรือไม่เพราะบางคนซื้อไว้แต่ไม่รู้ว่าตนเองมี หรือคนไหนที่ลงทะเบียนหมอพร้อมไว้ก็สามารถเช็คในโทรศัพท์ที่ระบบหมอพร้อมได้เลยว่ามีประกัน "iClaim" ของบริษัทไหนบ้าง ซึ่งผู้ป่วยสามารถตรวจสอบเองได้เลย นอกจากนี้สามารถเช็คข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ประกันชีวิตด้วย เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ามีประกัน "iClaim"  เราจะให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็น vip เพื่อเข้ารับบริการช่องทางด่วนที่พรีเมียมคลินิก จากนั้นถ้าเป็นผู้ป่วยที่ต้องรับยากลับบ้าน ก็สามารถให้บริการผู้ป่วยได้เลยโดยที่ไม่ต้องเก็บเงินจากผู้ป่วย นอกจากนี้โรงพยาบาลยังมีระบบส่งยาถึงบ้านอีกด้วย

การที่ผู้ป่วยมาใช้บริการ  "iClaim" นี้ยังสามารถช่วยลดระยะรอคอยและทำให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสามารถทำงานได้เร็ว สะดวกต่อผู้ให้บริการและผู้รับบริการด้วย นอกจากนี้โรงพยาบาลยังมีสำรองห้องไว้สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่ต้องการค้างคืนอีกด้วยอย่างน้อยวันละ 1 ห้อง ซึ่งเดิมห้องพิเศษจะใช้เฉพาะสิทธิข้าราชการแต่ถ้าเป็นคนไข้กลุ่มนี้ ซึ่งเป็นสิทธิบัตรทองก็ใช้บริการได้เหมือนกัน โดยไม่ต้องเสียค่าส่วนต่างเพราะสามารถเบิกจากประกันได้เลย เราจะเรียกเก็บจากกรมธรรม์ประกันชีวิตที่คนไข้ซื้อไว้ และยังประสานส่งต่อกับโรงพยาบาลเอกชนได้อีกด้วย ทั้งนี้ค่าบริการตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. จ่ายให้อยู่แล้วแต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่างที่จ่ายมีไม่ครอบคลุม เพราะฉะนั้นการใช้ระบบ "iClaim" จึงเป็นเหมือนการขยายสิทธิให้เทียบเท่ากับข้าราชการหรือสิทธิมากกว่าข้าราชการ อาทิยานอกบัญชียาหลักก็สามารถใช้ได้

การให้บริการสำเร็จมากน้อยแค่ไหน...

ก่อนหน้านี้เราทดลองใช้ตั้งแต่กรมธรรม์ ผู้ป่วยนอกทั่วไป ผู้ป่วยใน รวมถึงผู้ป่วยที่เป็นอุบัติเหตุฉุกเฉิน และผู้ป่วยที่นอนช่วงเช้ากลับช่วงเย็น รวมถึงชดเชยค่าสินไหม ทั้งหมดนี้เราทดลองใช้บริการผ่านแล้วถือว่ารวดเร็วมากเพราะใช้ระยะเวลาแค่ 2 วัน เงินเข้าผู้ป่วยที่มาใช้บริการเรียบร้อย

"ขนะนี้มองอีกช่องทางหนึ่งที่โรงพยาบาลรัฐจะหารายได้จากประกันชีวิต ซึ่งปกติก่อนหน้านี้จะเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่จะได้ผลประโยชน์จากประกันชีวิตมากขึ้น แต่ตอนนี้เป็นโรงพยาบาลรัฐที่จะหาเงินเข้าโรงพยาบาลได้มากขึ้นกว่าเดิมซึ่งถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่โรงพยาบาลชาติตระการจะหารายได้อีกทา เราเป็นโรงพยาบาลชุมชนแห่งแรกในเขต 2 ที่ทำได้สำเร็จ ขณะนี้โรงพยาบาลเตรียมกระบวนการ วางคน วางระบบในการทำงานเรียบร้อยแล้วผู้ป่วยสามารถมารับบริการได้เลย"

นอกจากนี้เรายังเตรียมเป็นแหล่งสถานที่ดูงานให้กับโรงพยาบาลอื่นอีกด้วย ตอนนี้มีโรงพยาบาลหลายแห่งเข้ามาดูงานแล้วเหมือนกันประมาณ 7 แห่ง ทั้งนี้ โรงพยาบาลมาตรการยังมีบริการตู้ตรวจสอบสิทธิ์สำหรับคนที่สะดวกใช้โทรศัพท์มือถือ ส่วนคนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือจะมีเจ้าหน้าที่ช่วยคอยชี้แนะวิธีการให้ว่าจะดำเนินการอย่างไร ส่วนความยากลำบากของคนไข้ คือ เนื่องจากโรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่บนดอยคนไข้อาจต้องจ้างเหมารถมาใช้บริการที่โรงพยาบาลซึ่งถือเป็นปัญหาสำหรับคนไข้เหมือนกัน 

นอกจากนี้ ระบบเวชระเบียนเรายังเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกือบ 100% แทบจะไม่มีแฟ้มเอกสารหรือหมอพยาบาลจำเป็นต้องเขียนและเกิดปัญหาการอ่านไม่ออกอีกแล้ว ทุกอย่างอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเมื่อก่อนในการเขียนใช้เวลาหนึ่งคนเกือบ 10 นาที ปัจจุบันเหลือประมาณ 3 นาทีต่อหนึ่งคนทำให้มีเวลาว่างในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้นถือว่าช่วยลดพลังงานได้ค่อนข้างดี

สุดท้ายนี้มองว่า โรงพยาบาลรัฐมีงบประมาณค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว  เราควรจะหางบประมาณจากแหล่งอื่น เข้ามาเพื่อเสริมให้โรงพยาบาลมีสภาพคล่องมากขึ้น "iClaim" ดีกับทั้งผู้ป่วยและโรงพยาบาลด้วยผู้ป่วยได้สิทธิประโยชน์ในการรักษาและในการเบิกชดเชยต่างๆได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว ในขณะที่โรงพยาบาลก็มีรายได้เพิ่มเข้ามาในระบบ ซึ่งถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับโรงพยาบาลอยากให้ทุกคนมาใช้บริการที่โรงพยาบาลมากขึ้นเรื่อยๆด้วย เมื่อไหร่ก็ตามที่โรงพยาบาลรัฐใช้ประกันชีวิตได้มากขึ้นค่าใช้จ่ายทั้งหมดในเอกชนจะถูกลดลงไปด้วย นพ.เศษฐวิชช์ กล่าว.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง