ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮออล์ กรมควบคุมโรค เผยเหตุผลห้ามขายเหล้า 24 ชั่วโมงเฉพาะวันพระใหญ่ ไม่ถึง 2%ของ 365 วัน ชูเหตุผลจากงานวิจัยลดปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับชัดเจน! ส่วนข้อเสนอจัดโซนนิ่งหวั่นไม่เท่าเทียม

 

ห้ามขายเหล้า 24 ชั่วโมงเฉพาะวันพระใหญ่ นอกนั้นกำหนดเวลา

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีข้อเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ โดยระบุชาวต่างชาติไม่เข้าใจทำไมต้องห้ามขาย ว่า เราห้ามขาย 24 ชั่วโมงเฉพาะวันพระใหญ่ แต่ทั้งปีมี 365 วัน แค่ไม่ถึง 1-2% ของวันที่ขายได้ 24 ชั่วโมง แต่วันที่ห้ามขายข้อมูลชัดเจนว่าอุบัติเหตุลดลงเป็นฟันหรอ อย่างศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนเขาวิเคราะห์ในช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาที่ผ่านมา พบว่า ก่อนที่จะเข้าวันอาสาฬหบูชาอุบัติเหตุยังสูงอยู่เลย แต่พอ 2 วันที่ห้ามขายต่อเนื่อง 48 ชั่วโมง อุบัติเหตุทางถนนหายไปครึ่งหนึ่ง จากพันกว่าครั้งเหลือ 600-700 ครั้ง

“ดังนั้น การห้ามขาย 24 ชั่วโมงวันพระใหญ่นี้ก็ช่วยลดอุบัติเหตุและปัญหาอื่นๆ ด้วย แต่แค่ว่าเราไม่ได้ขอทั้งปี และไม่ได้ขอวันเสาร์อาทิตย์ทุกสัปดาห์ ขอแค่วันพระใหญ่ ซึ่งเจตนารมณ์ก็เพื่อลดการเข้าถึงเป็น Pilot เพียงไม่กี่วัน เวลา 24 ชั่วโมงไม่ได้เยอะ คนจะกินก็สามารถซื้อก่อนวันห้ามขายได้ด้วยซ้ำ” นพ.นิพนธ์ กล่าว

นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่พรรคการเมืองอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้นั้น ก็เป็นสิทธิของการเมือง เพราะสามารถใช้สภา ส่วนเราในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมายเมื่อปรับปรุงมาเป็นอย่างไรเราก็ปฏิบัติ แต่สิ่งสำคัญคืออยากให้มองรอบด้าน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามมีทั้งบวกและลบ ขอให้มองให้ครบถ้วน เมื่อเกิดผลกระทบอะไรมา ก็ขอให้รับผิดชอบในสิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องบาลานซ์ทั้ง 2 ด้าน เพราะมีทั้งเรื่องสิทธิหน้าที่ และความรับผิดชอบที่ต้องบาลานซ์ทั้งคู่

จัดโซนนิ่งขายเหล้าต้องระวัง หากทำได้แห่งหนึ่งจะเกิดประเด็นอื่นตามมา

เมื่อถามถึงข้อเสนอเรื่องการจัดโซนนิ่ง นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า ก็มีคนเคยพูดเหมือนกัน อย่างสมมติถ้าโซนนิ่งภูเก็ตหรือสมุยทั้งเกาะได้หรือไม่ แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุใครรับผิดชอบ บริษัทจ่ายหรือไม่ หรือคนเที่ยวบอกขอเฉพาะถนนข้าวสารได้ไหม ถ้าข้าวสารขอได้ที่อื่นจะขอหรือไม่ ก็จะเกิดเรื่องที่ว่าทำไมที่นี่ได้ ที่อื่นไม่ได้ เป็นการละเมิดกันหรือไม่ และเมื่อพิจารณาในส่วนของใบอนุญาตขายสุราทั่วประเทศมี  6 แสนกว่าใบ เมื่อเทียบสัดส่วนประชากรที่ดื่ม ของสหรัฐอเมริกาพบว่าอยู่ที่ 1 พันคนต่อ 1 ใบอนุญาต

ไทยได้ใบอนุญาตขายเหล้ามากกว่าสหรัฐ 10 เท่า

ส่วนประเทศไทยประมาณ 110 คนต่อ 1 ใบอนุญาต เฉลี่ยคือใบอนุญาตประเทศไทยเมื่อเทียบกับอเมริกาเรามากกว่าเขาประมาณ 10 เท่า แล้วอเมริกายังมีการแยกประเภทใบอนุญาตการขายเอาไปกินที่บ้านกับประเภทขายนั่งดื่มที่ร้าน ซึ่งแบบนั่งดื่มในร้านจะเสียภาษีทุกช็อต ถ้าซื้อกลับบ้านก็มีมาตรการส่งเสริม แล้วมีการออกกฎหมาย Open- Container Law คือซื้อแล้วเปิดระหว่างทาง บางรัฐจะผิดกฎหมาย แต่บ้านเราไม่ใช่เช่นนั้น ของเราซื้อหน้าร้านสะดวกซื้อก็ดื่มหน้าร้านเลย