ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย ร่วมเครือข่ายพัฒนาหลักสูตรส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการทางการเคลื่อนไหวในกลุ่มวัยทำงาน ด้วยแนวทางส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ ยึดหลัก “3 อ 2ส 1ฟ 1น”  เตรียมนำหลักสูตรลงใช้จริงเต็มรูปแบบปีงบประมาณ 2567 เริ่มจากจัดอบรมครู ก เพื่อเป็นพี่เลี้ยงและขยายผลยังพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ

 

เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังลงนามความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงการพัฒนางานส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการร่วมกับเครือข่ายประกอบด้วย กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่า ผู้พิการในประเทศไทยที่ลงทะเบียนมีบัตรประจำตัวพิการมีจำนวน 2,108,536 คน คิดเป็นร้อยละ 3.19 ของประชากรทั้งประเทศ และมีแน้วโน้มเพิ่มขึ้น ที่ผ่านการการดูแลด้านสุขภาพของคนพิการมักจะมุ่งเน้นเรื่องการรักษาและการบำบัดฟื้นฟู แต่เรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันความเสี่ยงโรคต่างๆ ถือว่ายังมีน้อยมากหรือไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าที่ควร  ทั้งที่การส่งเสริมสุขภาพเป็นการสร้างความรอบรู้ในการป้องกันโรค โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ไม่ว่าจะเป็นโรคความดัน  โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน  โรคระบบทางเดินหายใจ เป็นโรคที่สามารถป้องกันความเสี่ยงได้ ทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล รวมถึงค่าเดินทาง ที่สำคัญเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

กรมอนามัยจึงได้ร่วมกับเครือข่ายพัฒนาหลักสูตรการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ระยะแรกจะเน้นกลุ่มคนพิการทางการเคลื่อนไหวในกลุ่มวัยทำงานด้วยแนวทางการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพด้วยหลัก  3อ 2ส 1ฟ 1 น ประกอบด้วยออกกำลังกาย อาหาร อารมณ์  สุรา ยาสูบ ทันตสุขภาพ และนอนหลับอย่างมีคุณภาพ ขณะนี้หลักสูตรได้พัฒนาแล้วเสร็จอยู่ระหว่างการทดลองระยะที่สอง ก่อนที่จะลงพื้นที่ดำเนินการโครงการอย่างเต็มรูปแบบในปีงบประมาณ 2567 โดยเริ่มจากการจัดอบรมครู ก เพื่อเป็นพี่เลี้ยงและขยายผลไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ  การดำเนินการในกลุ่มคนพิการทางการเคลื่อนไหวในกลุ่มวัยทำงานเป็นกลุ่มแรกเนื่องจากเห็นว่าเป็นกลุ่มที่สื่อสารได้เข้าใจง่าย ทั้งยังเป็นกลุ่มที่สามารถขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ได้ 

นพ.อรรถพล  กล่าวด้วยว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ นอกจากการพัฒนาหลักสูตรการพัฒนางานส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการดังกล่าวแล้ว ยังมีความร่วมมือสนับสนุนงานด้านวิชาการ การส่งเสริมสุขภาพคนพิการแบบองค์รวม ได้แก่มิติทางร่างกาย คือร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคหรือคสามเจ็บป่วย ได้รับอาหารและโภชนาการ สมรรถนะทางกาย สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม 2. มิติทางจิตใจ คืออารมณ์แจ่มใส ไม่มีความกังวล มีความสุข ได้รับการดูแลไม่ให้เกิดภาวะวิกฤตทางอารมณ์ 3.มิติทางสังคม คือครอบครัว สังคมและชุมชน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน 4.มิติจิตวิญญาณคือมีความหวังในชีวิต มีความรัก ความอบอุ่น ความเชื่อมมั่นศรัทธา ปฏิบัติในสิ่งที่ดีงามด้วยความเมตตา กรุณา ไม่เห็นแก่ตัว เสียสละ และ5.มิติทางปัญญา โดยเป็นผู้มีการศึกษา มีความรอบรู้ เฉลียวฉลาด รู้เท่าทัน การเปลี่ยนแปลงสามารถประกอบอาชีพและประสบความสำเร็จในชีวิต 

ด้านนายวันเสาร์ ไชยกุล เลขาธิการเครือข่ายคนพิการรักสุขภาพ กล่าวว่า คนพิการก็มีโรคเหมือนคนทั่วไป แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ มักจะโฟกัสแต่ความพิการ ไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในการให้ความสำคัญในการพัฒนางานส่งเสริมสุขภาพเป็นอีกสำคัญที่จะช่วยยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้ดีขึ้น