ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย ลงพื้นที่ดูงานเมืองสุขภาพดี เมืองแสนสุข จ.ชลบุรี มุ่งเป้าด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของเมืองท่องเที่ยว ชู เทคโนโลยีช่วยเหลือผู้สูงอายุ 

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี ดร.อัมพร จันทวิบูลย์ นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ (ด้านสุขาภิบาล) กรมอนามัย เปิดเผยระหว่างนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาดูงานเมืองสุขภาพดี เมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี ว่า กรมอนามัยได้ขับเคลื่อนภารกิจการส่งเสริมสุขภาพกลุ่มวัย การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ และพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อยกระดับสู่การเป็นเมืองสุขภาพดี ให้ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงบริการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี และได้รับการส่งเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพครอบคลุมทุกกลุ่มวัย ภายใต้ 3 องค์ประกอบ ได้แก่ 

1.Healthy Environments: สิ่งแวดล้อมเอื้อต่อสุขภาพ 2. Healthy Settings: สถานที่ที่เอื้อต่อสุขภาพ และ 3.Healthy People: ประชาชนรอบรู้และสุขภาพดีซึ่งเทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี พื้นที่ศึกษาดูงานในครั้งนี้ ได้รับการประเมินรับรองยกระดับสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ระดับทอง ในปี 2565 ซึ่งจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ในปี 2566 กรมอนามัยได้ยกย่องให้เทศบาลเมืองแสนสุขเป็นต้นแบบเมืองสุขภาพดีที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์และเข้ารับโลห์เชิดชูเกียรติ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566

ทั้งนี้ ความสำเร็จของการเป็นเมืองสุขภาพดีของเทศบางเมืองแสนสุข มาจากการดำเนินงานที่เข้มแข็งของผู้บริหารเทศบาล และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และที่สำคัญคือความร่วมมือของผู้ประกอบการและประชาชน โดยมีรูปธรรมการดำเนินงานในแต่ละองค์ประกอบ ได้แก่ 1) การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและอนามัยสิ่งแวดล้อมของเมืองท่องเที่ยว โดยดำเนินมาตรการร้านค้าชายหาดสาธารณะ ให้สถานประกอบการดำเนินกิจการค้าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย และแต่งกายสะอาด ปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาล การบริหารจัดการขยะ รักษาความสะอาด มีการคัดแยกขยะ ส้วมสาธารณะสะอาด ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน HAS ระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อม และการควบคุมมาตรฐานสุขลักษณะของสถานประกอบการ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ตลาด แผงลอย และมีการตรวจคุณภาพน้ำบริโภค รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการจัดการสิ่งแวดล้อม มีชายหาดปลอดโฟม หาดปลอดบุหรี่ รณรงค์ลดและเลิกใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียว เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว

 2) การส่งเสริมสุขภาพ โดยจัดให้มีสถานที่ออกกำลังกาย สวนสาธารณะ Sport Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงกีฬาด้วยการจัดวิ่งกีฬามาราธอน และ 3) การใช้เทคโนโลยีในการจัดฐานข้อมูล การเชื่อมโยงวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้เทคโนโลยีในการจัดเมืองด้วยแอปพลิเคชั่น “Saensuk smart living” เทคโนโลยีเพื่อสังคมผู้สูงอายุ โดยมีศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ เป็นศูนย์กลางบริหารจัดการดูแลผู้สูงอายุ และการสื่อสารเตือนภัย (Warning)

ด้านนายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข กล่าวถึง Healthy City เมืองสุขภาพดี เมืองแสนสุข ว่า เทศบาลเมืองแสนสุขและกรมอนามัย มีภารกิจร่วมกันหลากหลายมิติ ตลอดเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ที่ตนได้บริหารงานเทศบาลเมืองแสนสุข ก็ได้ตั้งเป้าแนวนโยบายการดูแลสุขภาพประชาชนตั้งแต่เด็กจนถึงสูงอายุ ที่ปัจจุบันประชากรที่เป็นคนบางแสนจริงๆ มีเพียง 4-5 แสนคน แต่มีประชากรแฝงและนักท่องเที่ยวอีกเป็นล้านคน โดยล่าสุด ปี2566 กรมอนามัยได้มอบรางวัลเมืองต้นแบบ Healthy City เมืองสุขภาพดี ให้กับเทศบาลเมืองแสนสุขได้ และปี 2565 เมืองแสนสุข ผ่านการประเมินรับรองยกระดับสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ระดับทอง 
ทั้งนี้ เทศบาลเมืองแสนสุข จะเน้นการดูแลสังคมผู้สูงอายุ เพราะเมืองแสนสุขเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมานานแล้ว ทางเทศบาลจึงเน้นการสร้างชุมชนผู้สูงอายุ เปิดพื้นที่ให้ผู้สูงอายุได้ออกมาสร้างกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งความโชคดีของเมืองแสนสุขคือมีมหาวิทยาลัยบูรพา ที่มีบุคลากรมาด้านต่างๆ เช่น แพทย์แผนไทย นักกายภาพบำบัด มาช่วยเหลืองานของเทศบาล 

นายณรงค์ชัย กล่าวว่า เทศบาลเมืองแสนสุขได้รับการสนับสนุนจากกองทุนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) เข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว ซึ่งมุ่งเน้นการดูแลผู้สูงอายุ ที่ผ่านมาเทศบาลเมืองแสนสุขได้ส่ง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) และบุคลากรด้านสาธารณสุข ไปศึกษาดูงานเรื่องการดูแลผู้สูงอายุที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย ซึ่งเป็นที่ภาคภูมิใจว่า เมืองแสนสุขติดใน 10 เมืองที่ประสบความสำเร็จในการดูแลผู้สูงอายุตามที่ JICA ให้การสนับสนุน นอกจากนั้น เทศบาลเมืองแสนสุขยังมีการจัดงาน Health festival เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องสุขภาพให้กับประชาชน ซึ่งแต่ละปีก็จะมีตีมงานที่ต่างกันออกไป

“จากสถานการณ์ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่เราควรจะมุ่งเน้นคือการสร้างเสริมสุขภาพที่ดี พร้อมกับการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนมีความสะดวกสบายมากขึ้น ส่วนเรื่องการสนับสนุนเรื่องสุขภาพ เมืองแสนสุขก็เป็นเมืองของการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพ เช่น วิ่งมาราธอนบางแสน10 บางแสน21 ที่เป็นเป้าหมายของนักวิ่ง ทุกๆ ปีจึงมีการจัดงานวิ่งที่บางแสนอยู่บ่อยครั้ง การจัดเฟสติวัลสุขภาพ ที่ได้รับความสนใจจากคนในพื้นที่จำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องใส่ใจเรื่องสุขาภิบาล ทั้งเรื่องการจัดการขยะ การจัดห้องน้ำสาธารณะที่สะอาดเพื่อรองรับนัดท่องเที่ยวที่หมุนเวียนมากว่าปีละ 2 ล้านคน สร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจมากกว่าพันล้านบาท” นายณรงค์ชัย กล่าว

ด้าน นางจิดาภา จุฑาภูวดล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เทศบาลเมืองแสนสุข ได้พัฒนาการใช้เทคโนโลยีเพื่อดูแลผู้สูงอายุ เช่น Smart Safety เครื่องติดตามพิกัด (Anywhere safety) ที่มีขนาดเล็กกะทัดรัด มีเสียงควบคุมเป็นภาษาไทย รวมถึงกดปุ่มขอความช่วยเหลือฉุกเฉินซึ่งเมื่อกดปุ่มขอความช่วยเหลือ ข้อมูลจะถูกส่งไปยังเทศบาลเมืองแสนสุข จากนั้น เจ้าหน้าที่จะส่งต่อผู้ป่วยไปยัง รพ.มหาวิทยาลัยบูรพา ภายใน 10 นาทีตามมาตรฐานการกู้ชีพฉุกเฉิน ซึ่งที่ผ่านมีการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจได้ทันท่วงที ปัจจุบันเมืองแสนสุขมีผู้สูงอายุ 300 รายที่มาลงทะเบียนรับเครื่องติดตามตัว ประกอบด้วยผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียว ผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือด้านสุขภาพเป็นพิเศษ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุสามารถลงทะเบียนกับเทศบาลได้ตลอดปี และ Smart Health กระเป๋าเยี่ยมบ้าน ประกอบด้วยอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องวัดน้ำตาลปลายนิ้ว แท็บเล็ตเก็บข้อมูล เครื่องวัดอุณหภูมิ โดยจะมอบให้กับ อสม. ในพื้นที่ใช้เยี่ยมบ้านผู้ป่วย ผู้สูงอายุ หากพบผู้ป่วยที่ต้องการคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ก็สามารถใช้แท็บเล็ตโทรหาทีมสหวิชาชีพของเทศบาลได้ทันที

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง