ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ปกครอง ครู “9 ใน 10 คน ทั่วประเทศ” หนุน รัฐบาล “คงมาตรการห้ามนำเข้า ห้ามขาย บุหรี่ไฟฟ้า” เรียกร้อง รมว. สธ.- ศธ.-พณ.-คลัง “แบนบุหรี่ไฟฟ้า 100%” พร้อมเร่งปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งขายหน้าร้านและออนไลน์

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 ณ ห้องประชุมกิ่งเพชร โรงแรมเอเชีย ดร.สุริยัน บุญแท้ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้ปกครองและครูต่อนโยบายบุหรี่ไฟฟ้า ปี 2566 สนับสนุนโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) โดยสุ่มตัวอย่างจากทุกภูมิภาค 5,582 ตัวอย่าง ได้แก่ ผู้ปกครองนักเรียนประถมศึกษาตอนปลาย-มัธยมศึกษาตอนปลาย 4,087 ราย ครู/ผู้บริหารโรงเรียน 1,495 ราย พบว่า 

  • ผู้ปกครอง ครู/ผู้บริหารโรงเรียน 91.5% หรือ 9 ใน 10 สนับสนุนให้รัฐบาลคงมาตรการห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชน 
  • 80.7% รู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อสุขภาพมีสารพิษและสารก่อมะเร็งหลายชนิด 
  • 80.2% เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การสูบบุหรี่มวนและสารเสพติดอื่น 

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เห็นว่าประโยชน์ทางภาษีหากอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าได้นั้นไม่คุ้มค่ากับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดย 88.4% เห็นว่าไม่คุ้มค่ากับค่ารักษาพยาบาลจากโรคที่จะเกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า และ 85% เห็นว่าไม่คุ้มค่ากับการที่ทำให้เด็กและเยาวชนติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ 95.4% เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโทษและพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า และ 93% เห็นว่าควรเร่งปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งขายหน้าร้านและออนไลน์

ด้าน ดร.นิวัตร นาคะเวช นายกสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทยมีความห่วงใยเด็ก เยาวชน และผู้ปกครองต่อการดูแลบุตรหลาน ขอยืนยันต่อต้านการนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาสู่เด็กและเยาวชนไทย เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สภาพจิตใจ และอารมณ์ โดยผู้ปกครองต้องสร้างเสริมสุขในครอบครัว ด้วยการดูแลเอาใจใส่บุตรหลานให้มีทักษะในการปฏิเสธบุหรี่ไฟฟ้า แก้ปัญหาและตัดสินใจอย่างมีวิจารณญาณ เสริมด้วยความรัก ความเมตตา และความอบอุ่น เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับบุตรหลาน เพื่อให้เด็กและเยาวชนไม่หันไปหาอบายมุข สิ่งเสพติด ตลอดจนบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังแพร่ระบาด ทั้งนี้ สภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย ขอแสดงจุดยืนต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้า เรียกร้องให้รัฐบาล คงกฎหมายห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าและเร่งบังคับใช้กฎหมาย เพื่อปกป้องบุตรหลานของเราจากบุหรี่ไฟฟ้า

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ศจย.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ขอแถลงจุดยืนต่อรัฐบาลใหม่เกี่ยวกับนโยบายบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติไทย ดังนี้ 

  1. รัฐมนตรีและผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ความสำคัญโดยคงนโยบายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า 
  2. หน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สคบ. ฝ่ายปกครอง ต้องเร่งปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง เพราะมีการลักลอบขายที่หน้าร้านและออนไลน์อย่างแพร่หลาย 
  3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง และครู สื่อสารมวลชนทุกแขนง ต้องเฝ้าระวังการตลาดล่าเหยื่อมุ่งเป้าที่เด็กอายุน้อยลงของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะการแทรกแซงนโยบายรัฐของอุตสาหกรรมยาสูบ 
  4. หน่วยงานด้านการศึกษา ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ต้องบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนรู้เท่าทันพิษภัยและการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อสร้างค่านิยมคนรุ่นใหม่ ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า

"เราทุกคนมีหน้าที่ปกป้องเยาวชนจากการค้าบุหรี่ไฟฟ้า ช่วยเหลือไม่ให้เข้าไปทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะผู้ปกครองและครู เป็นคนสำคัญของสังคมในการปกป้อง ในครั้งนี้ ได้มีการเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้ปกครองและครูต่อนโยบายบุหรี่ไฟฟ้า ปี 2566 และรวบรวมภาคีในการจัดเสวนาขึ้น เพื่อส่งเสียงถึงผู้กำหนดนโยบายให้ตระหนักถึงเรื่องนี้" ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าว

นายชนะ สุ่มมาตย์ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัย กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีจุดยืนต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้า ด้วยมาตรการ 3 ป ได้แก่ ป้องกัน ปลูกฝัง ปราบปราม ตามนโยบายสถานศึกษาปลอดภัย คือ 

  1. ป้องกัน แก้ไขปัญหายาเสพติดประเภทบุหรี่ไฟฟ้าไม่ให้แพร่ระบาดในนักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา กำหนดมาตรการป้องกันจากปัจจัยเสี่ยง 
  2. ปลูกฝัง เสริมสร้างการเรียนรู้ให้เห็นถึงโทษของการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่มีผลต่อสุขภาวะ และร่วมต่อต้านการการสูบหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา 
  3. ปราบปราม ไม่ให้มีการซื้อ ขาย เสพบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาอย่างเด็ดขาด ให้การบำบัด รักษาช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟูนักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เสพติดบุหรี่ไฟฟ้า

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) แถลงจุดยืนเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า 

  1. คงกฎหมาย ห้ามนำเข้า ห้ามลักลอบซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นมาตรการที่ดีที่สุดที่จะป้องกันเด็กและเยาวชนจากการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า 
  2. เข้มงวดกับการบังคับใช้กฎหมายทุกระดับ จับกุมการขายในทุกรูปแบบรวมทั้งการขายออนไลน์ และระงับการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า 
  3. เผยแพร่ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็กและเยาวชนโดยเร็วที่สุด
  4. ผู้ปกครองและครูอาจารย์ สอดส่องดูแลบุตรหลาน นักเรียน และนิสิตนักศึกษา เพื่อตักเตือนถึงโทษภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงเป็นตัวอย่างที่ดีโดยการไม่สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า 
  5. เข้มงวดกับมาตรการสถานศึกษาปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เฝ้าระวังการเข้าถึง และการใช้บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน

ด้าน นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ (กคส.) กล่าวว่า กลยุทธ์อุตสาหกรรมยาสูบพุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน จึงมีการเคาะมาตรการควบคุมและป้องกัน 5 มาตรการ โดยมีวัตถุประสงค์ ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวช ได้แก่

  • มาตรการที่ 1 พัฒนาและจัดการองค์ความรู้ : จัดทำชุดข้อมูลทางวิชาการ ข้อมูลสถานการณ์การใช้บุหรี่ไฟฟ้า และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า 
  • มาตรการที่ 2 สร้างการรับรู้โทษพิษภัย บุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และสาธารณชน : จัดทำ Key Message  จัดทำแผนการสื่อสารในช่องทางต่าง ๆ จัดทำข่าวเพื่อสร้างกระแส ถ่ายทอดข้อมูลทางวิชาการให้กับกลุ่มเป้าหมาย เช่น เด็กและเยาวชน
  • มาตรการที่ 3 เฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า : การมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาสังคมในการเฝ้าระวัง ทั้งการประชาสัมพันธ์ช่องทางการแจ้งเบาะแส สร้าง และพัฒนาจุดจัดการการเฝ้าระวังในระดับชุมชน / เฝ้าระวังการแทรกแซงนโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของธุรกิจยาสูบและเครือข่ายของอุตสาหกรรมยาสูบ เพื่อให้เท่าทันกลยุทธ์ของธุรกิจยาสูบ / การบังคับใช้กฎหมายเชิงรุก
  • มาตรการที่ 4 การพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย เพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกันควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า : ส่งเสริม สนับสนุนให้ภาคีเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
  • มาตรการที่ 5 ยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า : สนับสนุนนโยบายทางการเมืองในการป้องกันและปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า สนับสนุน ผลักดันผู้กำหนดนโยบายในทุกระดับ เพื่อให้เกิดมาตรการในการปฏิบัติตามนโยบายและกฎหมาย 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ศจย.ชี้หากสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งเสพติดแรก เสี่ยงสูบบุหรี่ธรรมดา 3 เท่า

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org