ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอชลน่าน” ลั่นผู้ป่วยชอปปิ้ง รพ. เป็นภาษาการตลาด แต่จริงๆเน้นความสะดวก รวดเร็วเข้าถึงบริการ ส่วนคำแถลงที่ว่า ไม่ใช่ให้ผู้ให้บริการสะดวกนั้น นโยบายตนเน้นสะดวกทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ การกระจายงานไม่ไปกองที่ใดที่หนึ่ง  จัดระบบได้ดี ลดภาระงานได้

 

จากกรณีโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงภายหลังการประชุม ครม.นัดแรกวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ให้ตั้งคณะทำงานยกระดับหลักประกันสุขภาพ ไม่ต้องมี รพ.ประจำ ชอบใจ มั่นใจ รพ.ไหนไปได้ทันที หรือช็อปปิ้ง รพ.ได้ตามใจ สามารถนัดล่วงหน้าได้ ยึดผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลางให้เกิดความสะดวก ไม่ใช่ผู้ให้บริการเกิดความสะดวก

(ข่าวเกี่ยวข้อง : นายกฯ มอบ “หมอชลน่าน” ตั้ง กก.ยกระดับบัตรทอง ไฟเขียว ผู้ป่วยช็อปปิ้ง รพ.ตามใจ ย้ำให้ประชาชนสะดวก ไม่ใช่ให้บุคลากรสะดวก)

 

คำว่า ชอปปิ้ง  เป็นภาษาตลาด

เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ว่า คำว่าช็อปปิ้งเป็นภาษาตลาดและการสื่อสารก็ไม่ว่ากัน แต่ในระบบเราให้สิทธิประชาชนเข้าถึงบริการได้ทุกที่ที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย คนเราไม่มีใครอยากป่วย แต่จำเป็นจริงๆ ที่ต้องเข้า รพ.เขาก็ต้องเข้าด้วยความมั่นใจว่า ทั่วถึง เป็นธรรมและทันท่วงที เป็นหลักที่เราวางเอาไว้ การใช้บัตรประชาชนใบเดียว สามารถเข้าถึงสถานบริการได้ทุกที่ทุกแห่งก็เป็นการเปิดโอกาสลดภาวะเจ็บป่วย ภาวะแทรกซ้อนได้ รักษาอย่างทันท่วงที ตรงนี้เป็นเป้าหมายหลัก ส่วนเรื่องกระจายการเข้าถึง เมื่อระบบเราอยู่ตัว ข้อมูลเราพร้อม จะทำให้การดูแลสุขภาพพี่น้องประชาชนทั่วถึง

 

"ที่สำคัญข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ประชาชนไม่ได้อยู่กับที่ มีการเคลื่อนย้ายแรงงานเยอะ อย่าง กทม. เมืองใหญ่ๆ มีแรงงานที่ย้ายมาจากต่างถิ่นเยอะมาก เวลาจะเข้าถึงสถานบริการเดิมเราให้สิทธิไปแจ้งย้ายการใช้สิทธิ ซึ่งมีขั้นตอนวิธีกรยุ่งยาก เว้นแต่อุบัติเหตุฉุกเฉินที่เข้าได้ทันที แต่ตอนนี้เราเปิด ไม่ว่าอุบัติเหตุฉุกเฉิน ความจำเป็นต่างๆ คำว่าฉุกเฉินทางการแพทย์ ในมุมแพทย์กับผู้ป่วยต่างกัน จึงต้องเปิดกว้าง เพราะฉะนั้นมันไม่ได้หมายความว่า จะเลือกใช้เป็นลักษณะ ชอปปิ้ง มันเป็นภาษาตลาด" นพ.ชลน่านกล่าว

 

ถามย้ำว่ายังจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมี รพ.ประจำหรือ รพ.ตามสิทธิ  นพ.ชลน่านกล่าวว่า รพ.ทุกแห่งที่เข้าอยู่ในโครงการจะถือว่าเป็น รพ.ตามสิทธิ เดิมเราใช้ รพ.เป็นเสมือนกับการขึ้นทะเบียนสิทธิในแต่ละที่แต่ละแห่งเป็นการเฉพาะแล้วมีระบบส่งต่อ พอระบบเราเสถียรทุกที่ในเครือข่ายถือเป็น รพ.ที่จะใช้สิทธิได้ การขึ้นทะเบียนก็อาจจะมีสถานบริการมารองรับเพื่อให้มีตัวตนชัดเจน แต่ว่าไปใช้ตามโอกาส อย่าเรียกว่าช็อปปิ้งเลย ไม่อยากให้ใช้คำนี้ เพราะเป็นภาษาตลาด และเป็นการดูถูกสภาวะความเป้นไม่มนุษย์ ไม่มีใครอยากป่วยทุกคนอยากมีสุขภาพดี

ให้ความสะดวกทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ

ถามว่าจากคำแถลงที่ว่าให้ประชาชนสะดวก ไม่ใช่ให้ผู้ให้บริการสะดวก จะทำให้ผู้ให้บริการน้อยใจหรือไม่ เพาะทุกวันนี้ภาระงานก็เยอะอยู่แล้ว  นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นภาษาของสื่อมวลชนใช้ นโยบายตนสะดวกทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ การกระจายงานไม่ไปกองที่ใดที่หนึ่ง ก็จะทำให้ผู้ให้บริการมีขีดความสามารถ มีศักยภาพในการให้บริการได้อย่างสะดวก ถ้าเราจัดระบบได้ดี แทนที่จะไปกองจุดใดจุดหนึ่งจะมีการกระจายตัวที่ดี เพราะฉะนั้น ความสะดวกของผู้ให้บริการและผู้รับบริการต้องควบคู่กันไป ไม่ทิ้งด้านใดด้านหนึ่ง

 

เจ็บป่วยทั่วไปนัดหมายล่วงหน้า

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเข้า รพ.ที่ไหนก็ได้จำเป็นต้องใช้ระบบนัดหมายใช่หรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ระบบที่เราวางไว้ ระบบเสถียร กรณีเจ็บป่วยทั่วไปสามารถนัดล่วงหน้าได้เลยว่าจะไปเมื่อไรอย่างไร รพ.ไหน เพราะฉะนั้น การกระจายตัวตรงนี้ทำให้คนมีสิทธิเลืก เช่น มา รพ.ก. เช้านี้ 100 คนแล้ว จะเป็นคนที่ 101 ต้องตรวจตอนเที่ยงวัน เขาไม่เลือก เขาก็จะเลือกที่อื่น จะมีการแบ่งความรับผิดชอบของการเข้าถึง มองในมุมที่ดี มีการนัดหมาย มีการเลือกสถานบริการที่ใกล้บ้าน ใกล้ใจตนเอง และระบบเราจะไม่ทิ้งระบบไว้แค่นี้ การพัฒนาระบบทั้งระบบปฐมภูมิเบื้องต้นต้องกระจายอย่างทั่วถึง เข้าถึงได้ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่อยู่ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่บังคับให้ทำ เราต้องมีการกระจายตัวที่ดีและเข้าถึง ทุกคนสามารถเลือกแพทย์ประจำครอบครัวตนเองได้ด้วย ฉะนั้น ระบบต่อไปจะมีลักษณะความชัดเจนและจำเพาะมากขึ้น การใช้บริการที่พร่ำเพรื่อ เช่น รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป แออัดมากแล้วไปรอคิวตรงนั้น แค่ตรวจภาวะเจ็บป่วยที่ไม่จำเป็นสำหรับ รพ.ขนาดใหญ่ตติยภูมิ ไปกองตรงนั้นก็ทำให้คนไข้ คนให้บริการไม่สะดวกไปด้วย

เน้นให้ความรู้ประชาชน เจ็บป่วยแบบไหนควรเข้ารพ.

ถามต่อว่าเช่นนี้จะต้องมีการขับเคลื่อน Health Literacy ให้ประชาชนรู้ว่า อาการไหนควรมา หรือไม่ควรมา รพ.ด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ใช่ สำคัญมาก เพราะเรื่องความรู้ความเข้าใจมิติสุขภาพเป้นเรื่องหนึ่งที่ตนเองให้ความสำคัญเชิงนโยบาย ถึงใช้คำพูดว่า สุขภาพสติปัญญา มีความรู้ มีความเท่าทัน มีความเข้าใจในสิทธิตัวเอง โอกาสของตัวเอง เป็นเรื่องที่จำเป็น

 

"หมอชลน่าน" ลั่นอย่าพูดคำว่า "ร่วมจ่าย" หวั่นคนเข้าใจผิด

ถามถึงกรณีมีบุคลากรทางการแพทย์เคยเรียกร้องว่าให้มีการร่วมจ่ายบางรายการหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ระบบเดิมมีความไม่ชัดเจน ระบบเดิมเราวางเงื่อนไขว่า เสมอภาค เท่าเทียม ทั่วถึง ดังนั้น สิทธิการเข้ารับการดูแลรักษาในโครงการ 30 บาท หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถูกตีความว่า สิทธิทุกคนต้องเท่ากัน แต่สิ่งที่คนไม่พูดต่อคือมาตรฐานที่เราวางไว้ สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ มีความชัดเจนมากว่าบัตรทองได้สิทธิประโยชน์อะไร ฉะนั้น มาตรฐานหลักที่เป็นมาตรฐานสูงสุดที่เรามอบให้ คือ สิทธิประโยชน์ที่ทุกคนได้เท่ากัน สิ่งที่นอกเหนือจากนั้นก็มาอยู่ในการพูดคุยกัน เราจะไม่ปิดกั้นความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ นิ้ว 5 นิ้วไม่เท่ากัน ถ้าจะมีศักยภาพเติมเต็มเรื่องคิ้ว หนวดต่างๆ ถามว่าหนวดจำเป็นหรือไม่ บางคนจำเป็น ถ้าไม่จำเป็นไม่มีในธรรมชาติ มันต้องมีความจำเป็นในแต่ละมุมมองก็จะไปดูในรายละเอียด แต่ไม่ลดละสิทธิประโยชน์ที่เป็นมาตรฐานสูงสุดที่เรามอบให้

 

ถามย้ำว่าแปลว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเปิดให้มีการร่วมจ่ายในบางรายการ  นพ.ชลน่านกล่าวว่า อย่าพูดคำว่าร่วมจ่าย เดี๋ยวจะเข้าใจผิดอีก เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นที่มีข้อถกเถียงกัน เพียงแต่เข้าใจผิดในเรื่องของคำพูดก็เป็นประเด็นแล้ว แค่เราใช้คำว่า "30 บาทพลัส" ก็บอกว่าว่าจะจ่าย 30 บาทอีกเหรอ เรียนว่านี่เป็นชื่อโครงการ เป็นแบรนด์ ยี่ห้อ ไม่ได้มีการร่วมจ่าย 30 บาท

 

"วินาทีนี้ยืนยันว่ายังไม่มีการร่วมจ่าย แต่วิธีการ การให้บริการแต่ละระดับ แต่ละกลุ่ม เราจะไปดูในรายละเอียด เพราะสิ่งที่เราเติมเต็มเข้ามาในนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ คือ ทำให้ สธ.เป็นกระทรวงที่สามารถหารายได้ให้แก่ประเทศ เป้นเรื่องของ Economy Health และ Wealth&Health เราจะเข้าไปดูแลบริหารจัดการอย่างไรที่ไม่กระทบสิทธิประชาชนคนไทย และมีรายได้เข้า ทุกคนอยู่ได้ในสถานะที่เหมาะสมกับตนเอง" นพ.ชลน่านกล่าว

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : แพทย์ผู้ปฏิบัติงานสะท้อนปัญหา ‘บัตรปชช.ใบเดียว’ อำนวยความสะดวกประชาชนจริงหรือ..)