ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน รอฟังนโยบาย “หมอชลน่าน” ขอความชัดเจนยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค กับบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ก่อนขอเข้าพบรมว.สาธารณสุข เหตุทุกวันนี้บุคลากรค่อนข้างสับสน ไม่รู้ต้องเตรียมพร้อมรองรับอย่างไร ขณะที่ผ่านมายังไม่เห็นรายละเอียดชัดเจน

 

กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ภายหลังนายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก แถลงข่าวการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยต่อไปจะไม่มีใบส่งตัวใช้บัตรประชาชนใบเดียว ฐานข้อมูลระบบออนไลน์ เน้นความสะดวกประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่ให้ผู้ให้บริการมีความสะดวก จนเกิดเสียงค้านจากบุคลากรสาธารณสุขว่า ประชาชนจะสะดวกจริงหรือ เนื่องจากหากบุคลากร ผู้ให้บริการไม่เพียงพอก็จะส่งผลต่อประชาชนเช่นกัน

(ข่าวเกี่ยวข้อง : นายกฯ มอบ “หมอชลน่าน” ตั้ง กก.ยกระดับบัตรทอง ไฟเขียว ผู้ป่วยช็อปปิ้ง รพ.ตามใจ ย้ำให้ประชาชนสะดวก ไม่ใช่ให้บุคลากรสะดวก)

 

บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ อำนวยความสะดวกปชช.จริงหรือ

เมื่อวันที่ 14 กันยายน พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร  ผู้แทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน กล่าวถึงนโยบายยกระดับบัตรทองที่เน้นประชาชนสะดวก ไม่ใช่ผู้ให้บริการสะดวก ว่า จริงๆ เรื่องนี้ไม่ได้ส่งผลต่องานของผู้ให้บริการอย่างเดียว  เพราะการไปไหนก็ได้ แต่หากไม่มีระบบข้อมูลเชื่อมโยงได้ดีพอก็ไม่สะดวกกับผู้รับบริการหรือประชาชนเช่นกัน  อย่างไรก็ตาม ปกติการย้ายรพ.ตามสิทธิ์ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถทำได้อยู่แล้ว เนื่องจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ให้สิทธิย้าย เพียงแต่กรณีนี้ในรายละเอียดก็ยังไม่ทราบว่า มีอะไรบ้าง การจะออกความเห็นก็ค่อนข้างยาก แต่ไม่ใช่ว่าเราจะสบายใจ เพราะตอนนี้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขสับสนมาก ว่า สรุปแล้วจะต้องเตรียมพร้อมอย่างไร

 

ต้องพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิควบคู่

“การรักษาต่อเนื่องกับแพทย์ใน รพ. เดิม ก็มีข้อดี เพียงแต่อาจไม่ได้พูดถึงมาก ทั้งๆที่การรักษากับคนเดิม มีความต่อเนื่องของการรักษา ทราบข้อมูลเราดีพอ แต่หากเราไปรพ.ใหม่ ไม่แน่ใจว่าระบบจะเป็นอย่างไร จะต้องไปลัดคิวหรือจะส่งผลต่อการรักษาล่าช้าหรือไม่ ที่สำคัญเรากังวลเรื่องความกระจุกตัวของผู้ป่วยที่เข้ารับบริการ ยิ่งรพ.ใหญ่ๆ คิวจะเยอะกว่า คนรอนานกว่า จะทำให้คนไข้เสียโอกาสการรักษาให้เร็วขึ้นหรือไม่ สุดท้ายจะไม่ใช่ว่าภาระงานจะมาโหลดผู้ให้บริการเท่านั้น ผลกระทบก็จะไปที่ประชาชนได้ ดังนั้น เรื่องนี้ต้องเตรียมพร้อมระบบดีๆ” พญ.ชุตินาถ กล่าว

ผู้แทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน กล่าวอีกว่า จริงๆหากทุก รพ.มีศักยภาพใกล้เคียงกัน มีหมอเฉพาะทางใกล้เคียงกัน ผู้ป่วยก็จะไม่ต้องเดินทางไปไกลๆ เพราะการเดินทางก็ไม่ใช่ว่าจะสะดวก ดังนั้น เราต้องมาเน้นการพัฒนารพ.ระดับปฐมภูมิ มีการพัฒนาระบบการส่งตัวให้สะดวกขึ้น เพราะทุกวันนี้การรักษาโรคต่อเนื่องยังต้องไปกลับเอาใบส่งตัวทุก 3 เดือน ซึ่งไม่สะดวกกับคนไข้ ฉะนั้น หากเรามาพัฒนาจุดนี้ก่อนก็น่าจะดีกว่า เพื่อให้คนไข้ไม่เสียเวลา เพราะเราไม่รู้ว่าการที่เดินหน้าเรื่องบัตรประชาชนใบเดียวจะส่งผลต่อระบบหมอครอบครัว ระบบสุขภาพปฐมภูมิ การส่งต่อต่างๆ จะกระทบด้วยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมานโยบายสาธารณสุขจะเน้นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพฯ อย่างมีเรื่องหมอประจำครอบครัว ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ก็ทำให้ยังไม่ชัดเจนว่า สุดท้ายจะเป็นอย่างไร

“จริงๆเรื่องยกระดับบัตรทอง กับการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่นั้น รายละเอียดที่ได้มา ณ ตอนนี้ไม่มากพอ จะเห็นแต่ข่าวที่พูดกว้างๆ ซึ่งต้องรอนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงรายละเอียดให้ชัดเจนก่อนว่า จะทำอย่างไร จากข่าวเห็นว่าจะแถลงนโยบายสาธารณสุขวันที่ 22 กันยายนนี้ เราก็คิดว่าจะรอฟังก่อน จึงจะประชุมหารือเพื่อรวบรวมข้อเสนอและขอเข้าพบรัฐมนตรีฯ ต่อไป” พญ.ชุตินาถ กล่าว