ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ชูเขตสุขภาพที่ 8 ครอบคลุม 7 จังหวัด นำร่องยกระดับ ‘30บาทพลัส’ ชูบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เชื่อมโยงข้อมูลดิจิทัลสุขภาพประชาชน รักษาได้ทุกโรค 88 รพ.ในเขต 8 เรียกว่า “R8 Anywhere”  เริ่มตั้งแต่มะเร็ง เจ็บป่วยฉุกเฉิน ทันตกรรมและทุกโรค ด้าน สปสช.ตามจ่ายแบบ Per Visit คิดตามรายการ คาดเขต 8 พื้นที่นำร่องก่อนขยายทั่วประเทศ

 

จากนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค ของรัฐบาลเพื่อไทย  โดยหนึ่งในนั้นคือการใช้ระบบดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพอำนวยความสะดวกการเข้าถึงบริการด้วย “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่”  หลายคนยังไม่เห็นภาพว่า จะมีลักษณะอย่างไร

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้มีโอกาสเดินทางร่วมคณะกับ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และทีมผู้บริหารลงพื้นที่ศึกษา “ศูนย์ทันตกรรม” โรงพยาบาลหนองคาย จ.หนองคาย อีกหนึ่งหน่วยบริการที่มีการยกระดับรับ “30 บาทพลัส”  ไม่เพียงแค่ศูนย์ทันตกรรม จะให้บริการสุขภาพทันตกรรมแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างสะดวกสบายเท่านั้น แต่ในเขตสุขภาพที่ 8 ครอบคลุม 7 จังหวัดยังสามารถใช้เพียง “บัตรประชาชนใบเดียว” เข้ารักษาทันตกรรม และยังครอบคลุมโรคอื่นๆในรพ.รวมทั้งหมด 88 แห่ง โดย 7 จังหวัด คือ อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และบึงกาฬ ทำให้ประชาชนสิทธิบัตรทอง ถือบัตรประชาชนใบเดียว เดินทางข้ามจังหวัดในเขตได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

นพ.โอภาส ให้สัมภาษณ์ถึงการพัฒนาด้านทันตกรรม ให้เป็นศูนย์ หรือเป็นรพ.ทันตกรรมเพิ่มขึ้น ว่า การเตรียมพร้อมยกระดับทันตกรรมนั้น ในปีถัดไปจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และท่านรัฐมนตรีชลน่าน ศรีแก้ว ที่จะให้มีการยกระดับการบริการประชาชน หรือ "30 บาทพลัส" ซึ่งชื่อนี้เรียกเป็นชื่อเล่นก่อน โดยทันตกรรมก็เป็นอีกงานนึงที่เราจะยกระดับการให้บริการพี่น้องประชาชน และหากเราสามารถตั้ง รพ.ทันตกรรมอย่างน้อยในทุกจังหวัดได้ในปีหน้า ส่วนต่อไปเมื่องานขยายไปอย่างรวดเร็วกว้างขวางก็อาจจะพัฒนาเป็น “กรมทันตกรรม” เรื่องนี้ก็ต้องว่ากันในอนาคต

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.ร่วมสถาบันพระบรมราชชนกเล็งตั้ง “คณะทันตแพทย์” ผลิตบุคลากรตอบโจทย์ รพ.ทันตกรรม)

เริ่มแล้ว 7 จังหวัดเขตสุขภาพ 8 นำร่องบัตรปชช.ใบเดียวรักษาทุกที่

ด้าน  นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวว่า  การใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ สำหรับเขตสุขภาพที่ 8 นั้น ไม่ใช่แค่การบริการด้านทันตกรรมเท่านั้น แต่เรายังจัดระบบการบริการทุกกลุ่มโรค เพราะหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) มีระบบเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว จึงได้จัดรูปแบบการบริการที่เรียกว่า  “R8 Anywhere”  ดำเนินการภายในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 8 ครอบคลุม 7 จังหวัด ทำมาแล้วประมาณ 2 ปี  ทำให้ประชาชนสิทธิบัตรทอง ใช้เพียง “บัตรประชาชนใบเดียว” สามารถรับการรักษาได้ทุกโรคในโรงพยาบาลสังกัด สป.สธ. 7 จังหวัด 88 แห่งตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน(รพช.) โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) และโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)

นพ.ปราโมทย์ กล่าวอีกว่า เขตสุขภาพที่ 8 จึงเป็นเขตที่นำร่องในการดำเนินการตอบรับนโยบายยกระดับ 30 บาท ด้วยการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ซึ่งเราทำระบบข้อมูลของผู้ป่วยอัพโหลดไว้ในระบบคลาวด์ (Cloud) ข้อมูลจึงเชื่อมกันทั้งหมด จะทำให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เหมือนกันทั้ง 88 แห่ง  เมื่อคนไข้ไปรับบริการที่รพ.ใดแพทย์ก็สามารถดูข้อมูลและประวัติการรักษาของคนไข้ในรพ.อื่นได้  เป็นการแก้ปัญหาการต้องไปเอาใบส่งตัว ซึ่งทำให้ประชาชนไม่สะดวก เราทำเพื่อตอบโจทย์ประชาชน และอนาคตก็จะพัฒนาเชื่อมข้อมูลกับสถานพยาบาลสังกัดสธ.ที่อยู่ในกรมอื่นด้วย เช่น ศูนย์มะเร็ง หรือรพ.จิตเวช เป็นต้น

เริ่มรักษาทุกที่จากมะเร็ง-เจ็บป่วยฉุกเฉิน -ทันตกรรมและทุกโรคในปัจจุบัน

“ช่วงแรกเริ่มจากมะเร็ง ขยับมาเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ทันตกรรมและตอนนี้ใช้กับทุกโรค เพราะบางครั้งคนไข้ไปทำงานอยู่ที่อื่น ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของรพ.ที่ระบุไว้ตามสิทธิ ซึ่งสิทธิ30บาทก็ควรจะเหมือนสิทธิข้าราชการที่ไปรักษาที่ไหนก้ได้ทั่วไทย เพียงแต่สิทธิข้าราชการข้อมูลยังไม่มีการเชื่อมกัน” ผู้ตรวจฯ เขตสุขภาพที่ 8 กล่าว

นอกจากนี้  กำลังอยู่ระหว่างการนำระบบไอทีมาใช้ ด้วยการพัฒนาระบบยืนยันตัวตัวของคนไข้เหมือนกับธนาคาร เพื่อจะได้นำข้อมูลการรักษาพยาบาลของแต่ละคนที่เข้ารับบริการในรพ.แต่ละแห่ง ส่งกลับมายังตัวคนไข้ทำให้รับทราบได้ว่าตนเองเคยเข้ารับบริการรักษาที่ไหน ได้รับยาอะไร เป็นการคืนข้อมูลกลับให้กับคนไข้

เริ่มแรกมีปัญหาการเบิกจ่าย ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงระบบ

เมื่อถามถึงอุปสรรคหรือปัญหาการดำเนินการแรกๆของเขตสุขภาพที่ 8   นพ.ปราโมทย์ กล่าวว่า อาจมีปัญหาบ้างในเรื่องระบบการเบิกจ่ายเงินกับทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)  เมื่อมีการส่งเบิกกรณีคนไข้รักษาในรพ.นอกสิทธิบัตรทอง เช่น เราทำเรื่องขอเบิกงบฯ กับสปสช.ไป 100  อาจจะได้กลับมา  60-70 % บางส่วนไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องของระบบข้อมูลที่ส่งเบิกแล้วไม่ได้ทั้งหมด อาจเกิดขึ้นจากการระบุข้อมูลไม่ครบถ้วน ขณะนี้สธ.กำลังพัฒนาระบบที่เรียกว่า Moph Claim NSHO เพื่อให้รพ.ส่งข้อมูลเข้าระบบนี้มาที่สธ.เพื่อทำการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลให้ก่อนส่งเคลมค่าใช้จ่าย โดยเงินที่เบิกได้สปสช.ก็จะส่งไปยังรพ.โดยตรง

สปสช.มีระบบเบิกจ่ายแบบ Per Visit เป็นรายการที่เข้ารับการรักษา

ด้าน ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 8  กล่าวว่า  R8 Anywhere เริ่มจากที่ผู้ตรวจฯมอบหมายให้รพ.ทุกแห่งในเขตนำข้อมูลที่รักษาคนไข้อัพโหลดขึ้นสู่ระบบคลาวด์ทั้งหมด และสปสช.ไปพิจารณาเรื่องการเบิกจ่ายเงินกรณีที่คนไข้ไปรักษาในรพ.นอกสิทธิ ส่งผลให้ไม่ว่าคนไข้ไปรักษาที่ไหน แพทย์ก็จะรู้ประวัติการรักษาทั้งหมดของคนไข้และดึงข้อมูลจากคลาวด์ได้ ซึ่งระบบคลาวด์นี้หน่วยงานรัฐสามารถใช้ได้ฟรีตามความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีคนดูแลระบบ ขณะเดียวกันรพ.ที่คนไข้ไปรักษาก็สามารถเบิกค่ารักษาได้จากสปสช. เพราะฉะนั้น โมเดลที่เขต8ดำเนินการนี้สามารถขยายใช้งานได้ทั่วประเทศ

กรณีที่คนไข้เข้ารับการรักษานอกสิทธิรพ.แบบใช้บัตรประชาชนใบเดียว สปสช.จะเป็นผู้จ่ายเงินตรงให้กับรพ. ไม่ใช่รพ.ต้นสังกัดตามไปจ่าย ซึ่งสปสช.จะจ่ายเงินกรณีนี้ให้รพ.เป็นแบบ Per Visit เป็นรายการที่เข้ารับการรักษา ถ้าเป็นผู้ป่วยที่นอนรพ.จะเป็นแบบ DRG โดยเมื่อ รพ.บันทึกข้อมูลเข้าระบบ สปสช.ก็จะมาดึงข้อมูลส่วนนี้และจ่ายเงินให้กับรพ. ซึ่งจะมีการจัดสรรงบประมาณแต่ละปีไว้รองรับ เรียกว่า OP Anywhere ราว 300 ล้านบาท บางก้อนจะไว้ที่ส่วนกลางและบางก้อนจัดสรรไว้ที่เขตสุขภาพที่ 8 ดำเนินการ ซึ่งเขต 8 จะนำมาราว 70-80 ล้านบาท

“จากที่เขตสุขภาพที่ 8 ดำเนินการมา เจอกรณีที่คนไข้เลือกไปรับบริการเฉพาะที่รพ.ใหญ่อยู่บ้าง แต่น้อยมาก เพราะสธ.มีการพัฒนารพ.ดีจนคนไข้รับรู้ได้ว่าทำไมต้องไปรพ.นั้น ในเมื่อรพ.ใกล้บ้านก็สามารถรักษาได้ คนไข้ไม่ได้อยากไปรอคิวนานที่รพ.ใหญ่หากไม่จำเป็น จะเลือกไปรับการรักษาที่รพ.ไม่ใหญ่ที่รอคิวไม่นาน หากมีแพทย์รักษาได้เหมือนกัน”ทพ.กวีกล่าว 

ศูนย์ทันตกรรม ยกระดับบริการผู้ป่วยรองรับ '30 บาทพลัส' รักษาทุกที่

ขณะที่  ทพญ.ชลลดา แดงสุวรรณ ทันตแพทยชำนาญการพิเศษ (เฉพาะทาง) ทันตกรรมประดิษฐ์ ในฐานะรองหัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรมศูนย์ทันตกรรม รพ.หนองคาย กล่าวว่า  การยกระดับศูนย์ทันตกรรมเกิดขึ้นได้เพราะทาง รพ.หนองคาย มีความพร้อม เมื่อเปิดให้บริการก็ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ ซึ่งปัญหาในการให้บริการขณะนี้ คือ คิวเฉพาะทางจะยาว เพราะทันตแพทย์เฉพาะทางยังมีจำนวนน้อย เช่น การครองรากฟัน ที่มีทันตแพทย์ 1 ท่าน ประกอบกับคนไข้มีความรู้ความเข้าใจในการเก็บฟันไว้มากขึ้น ไม่ตัดสินใจถอนแต่จะทำการครองรากฟันไว้ ทำให้มีคิวยาวขึ้น แต่ขณะนี้มีการคุยกันภายในระบบ รพ. เพื่อพัฒนาเขตสุขภาพที่ 8 ให้สามารถรองรับคิวผู้ป่วยครองรากฟัน โดยให้จองคิวจากส่วนกลาง รพ.ไหนคิวเร็วกว่าก็สามารถไป รพ.นั้นได้เลย

“การยกระดับศูนย์ทันตกรรม เป็นการตอบโจทย์นโยบายเรื่องยกระดับบัตรทอง กับการรักษาที่ไหนก็ได้ โดยผู้ป่วยสามารถเดินเข้ามารักษาด้วยการใช้บัตรประชาชนใบเดียว ได้ทุกสิทธิ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ ซึ่งผู้ป่วยยังสามารถจองคิวออนไลน์ได้ด้วย” ทพญ.ชลลดา กล่าวทิ้งท้าย

 

เขตสุขภาพที่ 8 จึงเป็นอีกพื้นที่ที่กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนในการยกระดับ “30 บาทพลัส” คงต้องรอดูรายละเอียดนโยบายสาธารณสุขที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข จะประกาศในวันที่ 22 กันยายนนี้ในเรื่องบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่จะนำร่อง หรือชูพื้นที่ไหนเป็นพิเศษ น่าติดตาม...