ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.เยี่ยมศูนย์ทันตกรรม จ.หนองคาย ชูศักยภาพการบริการ หนึ่งในยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค ร่วมสถาบันพระบรมราชชนก ตั้งคณะทันตแพทย์ หวังผลิตรองรับ หากสำเร็จครอบคลุมทุกจังหวัดเล็งตั้ง “กรมทันตกรรม” ในอนาคต ชี้ทางออกตั้งคณะกรรมการบริหารบุคลากรสาธารณสุข เป็นระดับนโยบายยังไม่ถึงขั้นแยกออกจาก ก.พ.

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวระหว่างการตรวจเยี่ยมศูนย์ทันตกรรม โรงพยาบาล(รพ.) หนองคาย เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ว่า   สธ.มีกิจกรรมดูแลด้านทันตสาธารณสุข ส่งเสริมป้องกันรักษาโรคทางช่องปาก ประมาณ 10 ล้านครั้งต่อปี ซึ่งยังน้อย ถ้าเทียบกับสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่ ปชช.จะได้รับ อย่างน้อยต้องมีตรวจสุขภาพช่องปากปีละ 2 ครั้ง ขูดหินปูนและ 2 ครั้ง  อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของระบบ มีทันตแพทย์เพิ่มขึ้นไม่กี่พันคน มีประมาณ 8,000 คน แต่สิ่งที่เรายังขาด คือผู้ช่วยทันตแพทย์ ทันตภิบาล และยูนิคทำฟัน ปัญหาเกิดจากหลายอย่างซ้อนกัน  ทั้งการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านทันตกรรม การกำหนดบุคคลากรที่ต้องมีเท่าไหร่ การกำหนดจุดวางและจุดเชื่อมต่อทันตกรรม  จึงเกิดแนวคิด พัฒนาเป็น” รพ.ทันตกรรม” ขึ้น

“การพัฒนาดังกล่าวจะสามารถยกระดับบริการให้ประชาขนเข้าถึงได้ 2 เท่า ภายใน 3-5 ปี   พราะหากทำแบบเดิม เพิ่มยูนิคทำฟัน เพิ่มทันตแพทย์ แต่ถ้าระบบโครงสร้างยังเหมือนเดิมก็คงเพิ่มได้ปีละ 2 ล้านครั้งก็ถือว่าเก่งแล้ว แต่ถ้าเราต้องการมีระบบการจัดการที่ก้าวกระโดด จะทำเหมือนเดิมไม่ได้ เป็นแนวคิดว่าทำไมต้องมี รพ.ทันตกรรม   เพื่อให้ขีดความสามารถในการให้บริการของทันตแพทย์กับบบุคลากรทางด้านทันตกรรมจะได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่  มีหลายแห่งที่เปิดเป็นคลินิกนอกเวลา หรือเปิดบริการอย่าง รพ.หนองคาย  ก็เป็นตัวอย่างว่า สามารถบริหารจัดการได้” นพ.โอภาส กล่าว

รพ.ทันตกรรม สอดคล้องนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีการพัฒนาด้านทันตกรรม ให้เป็นศูนย์ หรือเป็นรพ.ทันตกรรมเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้มี 30 กว่า รพ.ที่กำลังพัฒนาเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ต้องทำแล้วพัฒนาไปใช้ในเชิงจำนวนบุคลากร เชิงโครงสร้าง เชิงระบบ และเชิงบริหารจัดการด้านการเงิน ซึ่ง สปสช. หน่วยงานใหญ่หน่วยหนึ่งที่ช่วยดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายในระบบกองทุนสุขภาพ ก็เห็นพ้องต้องกันว่าถ้าเราจะยกระดับการให้บริการประชาชนเข้าถึงจะต้องมีการเติมเงินเข้ามาในระบบ อันนี้ก็สอดคล้องกัน

“ในปีถัดไปก็สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และท่านรัฐมนตรีชลน่าน ศรีแก้ว ที่จะให้มีการยกระดับการบริการประชาชน หรือ "30 บาทพลัส" ซึ่งชื่อนี้เรียกเป็นชื่อเล่นก่อน โดยทันตกรรมก็เป็นอีกงานนึงที่เราจะยกระดับการให้บริการพี่น้องประชาชน และหากเราสามารถตั้ง รพ.ทันตกรรมอย่างน้อยในทุกจังหวัดได้ในปีหน้า ส่วนต่อไปเมื่องานขยายไปอย่างรวดเร็วกว้างขวางก็อาจจะพัฒนาเป็น “กรมทันตกรรม” เรื่องนี้ก็ต้องว่ากันในอนาคต” ปลัดสธ.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะพัฒนาเป็นรพ.ทันตกรรม ต้องดูจากอะไร นพ.โอภาส กล่าวว่า  ต้องดูจากความพร้อมของบุคลากรก่อน เพราะจริงๆ ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนย่อมส่งผลดีต่อการเข้าถึงบริการ เนื่องจากตัวเลขกลมๆตอนนี้ประชาชนยังเข้าถึงบริการทันตกรรมไม่ถึง 10% สิ่งสำคัญต้องให้รพ.มีความพร้อม เจ้าหน้าที่มีความตั้งใจที่จะทำ จะเป็นจุดสำเร็จให้เกิดขึ้นได้ ส่วนอัตรากำลังนั้น ต้องให้ทางรพ.บริหารจัดการ เพราะเดิมส่วนกลางจะเพิ่มอุปกรณ์ เครื่องมือ แต่นี่จะให้เขาดูแลทั้งระบบ

สิ่งสำคัญคำนึงภาระงานบุคลากร

ผู้สื่อข่าวถามว่าส่วน สธ.จะทำกรอบขออัตรากำลังเพิ่มเติมด้วยใช่หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า  เป็นอีกเรื่องที่อยู่ในแนวนโยบายของรัฐมนตรีชลน่าน ศรีแก้ว ที่ระบุว่า การเพิ่มยกระดับบริการให้กับประชาชน จะต้องคำนึงคือ "ภาระงานของบุคคลากร" จะเห็นว่าในภาพรวมกระทรวงฯ  มีสายงานบุคลากรเยอะมาก  เช่น ทันตกรรม  มีทั้งทันตแพทย์ ผู้ช่วยทันตแพทย์ ทันตภิบาลและเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่จะดูแล  

“ดังนั้น ลำพังเราใช้กฎระเบียบแบบเดิมก็เกิดความไม่คล่องตัวในการบริหารจัดการ เป็นจุดหนึ่งที่กระทรวงฯมองว่า เราควรจะยกระดับการบริหารจัดการ  ทั้งในเชิงกฎระเบียบ ในเชิงยุทธศาสตร์มาไว้ที่กระทรวงหรือเปล่า ที่จะเป็นคณะกรรมการ เช่น คณะกรรมการบุคคลากรทางการแพทย์และสาธานณสุข เป็นต้น อันนี้เป็นแนวคิดแล้วก็สอดคล้องกับภารกิจ เพราะถ้าบุคลากรไม่สามารถพัฒนา หรือมีนโยบาย ยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน  การให้บริการพี่น้องประชาชนที่สมบูรณ์แบบก็คงเป็นไปได้ยาก  ซึ่งเรื่องนี้เป็นแนวคิดเชิงนโยบายก่อน ยังต้องจัดการอีกหลายส่วน ทั้งตัวกฎหมาย กฎระเบียบอันเดิม คง ไม่เร็วมากนักแต่ก็เป็นแนวคิดที่ต้องเป็นเชิงนโยบายแปลงสู่ภาคปฏิบัติต่อไป” ปลัดสธ.กล่าว

ยังไม่ถึงขั้นแยกออกจาก ก.พ.

เมื่อถามย้ำว่าเป็นการเตรียมเพื่อแยกออกจาก ก.พ.หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า   ยังไม่ถึงขั้นนั้น  เป็นนโยบาย แต่ตอนแปลงเป็นภาคปฏิบัติก็ต้องใช้เวลา เพราะเวลาเราออกกฎหมายอะไรอันหนึ่ง ก็ต้องไปดูกฎหมายเก่า  ไม่อยากให้ออกกฎหมายหนึ่งแล้วไปขัดอีกกฎหมายหนึ่ง ผู้ปฏิบัติก็จะลำบากว่าตกลงจะยึดกฎหมายไหนถึงจะถูกต้อง ทางราชการต้องทำให้ถูกต้อง

 

เล็งตั้งคณะทันตแพทย์ รองรับการให้บริการที่เพิ่มขึ้น

นพ.โอภาส กล่าวว่าการผลิตบุคลากรนั้น ในส่วนของกระทรวงฯ มีสถาบันพระบรมราชชนก โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีวิชัยเทียนถาวรก็ตอบรับเรื่องนี้ การขอเพิ่มบุคลากรในแต่ละด้าน ยากมาก เพราะมหาวิทยาลัยบางทีไม่ตรงกับภารกิจที่เขาทำเช่นผู้ช่วยทันตแพทย์ ถามว่าแล้วใครผลิตให้ มีแต่คนบอกว่าดี แต่ก็หาคนผลิตให้ไม่ได้  ดังนั้น กระทรวงฯ มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง ก็จะสามารถผลิตบุคลากรได้ตรงตามความต้องการ ซึ่งขณะนี้ทางสถาบันพระบรมราชชนก มีแนวคิดที่จะเปิดสาขาทันตกรรม ตามมุมมองก็คิดว่าน่าจะได้เปิดได้

“ส่วนเรื่องการเบิกจ่ายเงินของสปสช.ให้กับทางรพ.ทันตกรรมที่จะมีการพัฒนาขึ้นนั้น จากที่หารือกันมาก็สอดคล้องกับที่ว่าต่อไปการจ่ายเงินจะจ่ายตามผลผลิต หรือจำนวนการดำเนินงาน เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการบริการให้ ประชาชนอันนี้ก็น่าจะสอดคล้องกัน” นพ.โอภาส กล่าว