ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.ชูศักยภาพ รพ.สังกัดผลิตบุคลากรทันตกรรมได้ ชูแนวคิดดึงเด็กในพื้นที่เข้าทำงานควบคู่เรียนหลักสูตร “ทันตาภิบาล-ผู้ช่วยทันตแพทย์” หวังให้ สธ.เป็นมือหนึ่งพัฒนาและผลิตบุคลากรระดับประเทศ เดินหน้าจัดอบรมหลักสูตรผอ.รพ.ทันตกรรม รุ่นแรก มี.ค.67  หวังวางคอนเซ็ปต์บริหารให้แน่นก่อนขับเคลื่อนเกิด รพ.ทันตกรรม ทุกจังหวัด

 

ปี 66 รพ.ทันตกรรมขยายแล้ว 55 แห่งทั่วประเทศ  

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม  ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาระบบการจัดบริการสุขภาพช่องปาก โรงพยาบาลทันตกรรม พร้อมทั้งบรรยาเรื่อง “ความคาดหวังต่อระบบบริการทันตกรรม และนโยบายโรงพยาบาลทันตกรรม”  โดย นพ.โอภาส กล่าวตอนหนึ่งในการบรรยาย ว่า หลังจากมีการมอบนโยบายในการพัมนาระบบการจัดบริการให้เกิดรูปแบบ “โรงพยาบาลทันตกรรม” ขึ้น ปัจจุบันมีหน่วยบริการเข้าร่วมนโยบายนี้แล้ว 55 แห่ง ซึ่งมีทั้งโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) โรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) อย่าง รพช. ก็เริ่มขับเคลื่อน อย่างที่ผ่านมาตนได้ลงพื้นที่ไปยัง รพ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี  ซึ่งรพ.ทันตกรรม จะตั้งเป็นอาคารแยกต่างหาก stand alone แต่อยู่ภายในรพ. มีการบริหารจัดการด้วยทันตแพทย์ ซึ่งตรงนี้เป็นเป้าหมายสำคัญ ที่ต้องการให้ทันตแพทย์เป็นผู้บริหารจัดการกันเอง ทั้งบุคลากร ทรัพยากร งบประมาณ ฯลฯ

รพ.ทันตกรรม ทางแก้ปัญหาคอขวดการบริการ 

นพ.โอภาส กล่าวว่า การตั้งรพ.ทันตกรรมเพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการ เนื่องจากภาวะคอขวดของการจัดบริการทันตกรรม มาจาก 2 สาเหตุหลักๆ คือ 1. รพช.มีศักยภาพบริการทันตกรรมเฉพาะทางไม่เพียงพอรองรับประชาชนในอำเภอที่ตั้งของ รพ. ทำให้ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรับบริการทันตกรรมเฉพาะทาง ที่รพศ./รพท. และ2. รพศ./รพท. มีศักยภาพบริการทันตกรรมปฐมภูมิไม่เพียงพอรองรับประชาชนในอำเภอที่ตั้งของ รพ. และยังไม่สามารถจัดการระบบทันตกรรมปฐมภูมิได้มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถสกัดกั้นการลุกลามของโรคทางทันตกรรมได้ ทำให้ความต้องการทันตกรรมปฐมภูมิ กลายเป็นความต้องการทันตกรรมเฉพาะทาง

“อย่างรพช. เมื่อติดปัญหาการบริการทันตกรรมเฉพาะทางก็ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรักษา รพ.ระดับจังหวัด ซึ่งแม้จะมีบัตรทอง ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ปัญหาสำคัญคือ การเดินทาง หากญาติไปด้วย ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นกว่าพันบาทขึ้นไปอีก ดังนั้น การขยายการบริการทันตกรรมที่ตอบโจทย์พื้นที่จะช่วยได้มาก ที่สำคัญทันตแพทย์ต้องบริหารจัดการเอง เพราะท่านจะทราบดีว่า ในพื้นที่มีความต้องการอะไร และต้องมีการบริหารจัดการอย่างไร รวมไปถึงการจัดหากำลังคน บุคลากร ทั้งทันตแพทย์ ผู้ช่วยทันตแพทย์ ทันตาภิบาล สิ่งเหล่านี้ต้องเพียงพอในการรองรับ” นพ.โอภาส กล่าว

ทันตแพทย์เข้าระบบสธ.น้อยเพียง 300 คนจากจบปีละ 800 คน

ปลัดสธ. กล่าวอีกว่า เรื่องการผลิตบุคลากร อย่างที่ผ่านมามีทันตแพทย์จบเฉลี่ยปีละ 800 คน แต่อยู่ในระบบกระทรวงสาธารณสุขเพียง 300 คน ที่เหลือ 500 คนไปไหน ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ต้องดึงทันตแพทย์เข้ามาในระบบกระทรวงฯให้ได้ ซึ่งก็จะมีประเด็นกรอบอัตรากำลัง ตรงนี้จึงเป็นที่มาที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข มีนโยบายในการบริหารกรอบอัตรากำลังเองเพื่อให้เพียงพอต่อการบริการด้วยการจัดทำร่างกฎหมาย เพื่อแยกตัวออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)

ชูศักยภาพให้ สธ.ผลิตบุคลากรทันตกรรมเอง

เมื่อถามว่าประเด็นการผลิต กรอบอัตรากำลัง รวมไปถึงแยกตัวออกจากก.พ.ค่อนข้างใช้เวลา ในระหว่างนี้จะดำเนินการอย่างไรในการจัดหากำลังคนมารองรับ นพ.โอภาส กล่าวว่า ตอนนี้ผลิตทันตแพทย์ได้ปีละ 800 คน อยู่กับสธ.แค่ 300 คน ดังนั้น ปีล่าสุดหากเป็นไปได้มีทันตแพทย์เข้าระบบเรามากกว่าเดิมได้หรือไม่ หากได้เพิ่มอีก  100-200 คนก็จะกระจายไปยังรพ.ทันตกรรมได้ นอกจากนี้ สธ.ยังขาดผู้ช่วยทันตแพทย์ ทั้งที่ สธ.เป็นหน่วยบริการที่ดูแลผู้ป่วย ดูแลคนไข้มากที่สุด เวลาสอนภาคปฏิบัติก็ต้องมาที่รพ.ในสธ. แต่ที่ผ่านมาเรายังไม่สามารถผลิตบุคลากรได้เอง แต่นับจากนี้เราต้องพัฒนาและสอนเอง เพราะที่ผ่านมาเราก็มีการสอนแพทย์ สอนพยาบาล ดังนั้น ทันตแพทย์เราก็ทำได้ เพราะเรามีบุคลากรถ่ายทอดความรู้ในเรื่องทักษะ ฝึกของจริงได้

ดึงเด็กในพื้นที่เข้าทำงานร่วมเรียนหลักสูตร “ทันตาภิบาล-ผู้ช่วยทันตแพทย์”

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า อีกแนวทางในการผลิตบุคลากรมารองรับ คือ การผลิตทันตาภิบาล และผู้ช่วยทันตแพทย์ โดยต้องมีการหารือกับทางทันตแพทยสภา ในการออกใบรับรอง โดยในส่วนของกระทรวงฯ หรือรพ.ทันตกรรม อาจจ้างบุคลากรที่เป็นคนในพื้นที่นั้นๆ บ้านหรือครอบครัวอยู่ในจังหวัดในอำเภอนั้นอยู่แล้ว โดยจ้างทำงานและฝึกงานให้เรียนหลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์ เช่น  2 ปีทำงานไปด้วยได้เรียนไปด้วยจนจบหลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์ มีใบรับรองจากทันตแพทยสภา ก็สามารถทำงานได้เลย รวมไปถึงทันตาภิบาลก็เช่นกัน โดยทำงานได้เงิน ไม่ต้องเสียเงินเรียน ตรงนี้หากทำได้ก็จะได้กำลังคนมาช่วยเติมเต็มอีกทางหนึ่ง

เตรียมอบรมหลักสูตรผอ.รพ.ทันตกรรม รุ่นแรก มี.ค.นี้  

“สิ่งสำคัญอยากให้การบริหารจัดการเป็นของพวกเรากันเอง คือ บุคลากรด้านทันตกรรม สอดคล้องกับแนวคิดของรพ.ทันตกรรม คือ ต้องการให้บุคลากรด้านนี้บริหารจัดการเองทั้งระบบ ทั้งอัตรากำลัง การผลิตบุคลากร ทันตแพทย์ ทันตาภิบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์  รวมไปถึงการบริหารจัดการงบประมาณ เครื่องไม้เครื่องมืออื่นๆทั้งหมด ให้ครบวงจร ขณะนี้มี 55 แห่งแล้ว จึงคิดว่าอยากให้มีหลักสูตรอบรมผู้อำนวยการ รพ.ทันตกรรมให้ทราบถึงคอนเซปต์นี้ก่อน เบื้องต้นน่าจะอบรม 2 รุ่น รุ่นละ 30 คน รุ่นแรกเดือนมีนาคม และรุ่นที่สองในเดือนกรกฎาคม 2567 ” นพ.โอภาส กล่าว

หวังให้ สธ.เป็นมือหนึ่งพัฒนาและผลิตบุคลากรด้านทันตกรรม

เมื่อถามว่าในอนาคตวางให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นมือหนึ่งในการพัฒนาและผลิตบุคลากรด้านทันตกรรมใช่หรือไม่ ปลัดสธ. กล่าวว่า อยากให้เป็นเช่นนั้น  

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า  รพ.ทันตกรรมจะขับเคลื่อนให้มีในรพ.ทุกระดับ รวมทั้งรพช. ด้วยหรือไม่    นพ.โอภาส กล่าวว่า เป้าหมายการมี รพ.ทันตกรรมนั้น  กำหนดให้มีอย่างน้อยจังหวัดละแห่ง ส่วนจะใช้พื้นที่ใดไม่ได้ขัดข้อง จึงยังไม่แบ่งว่า ต้องรพ.ระดับใด อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญเราต้องการให้ทันตแพทย์เป็นผู้บริหารรพ.เอง คล้ายๆ เหมือนเป็นผอ.รพศ.รพท. ส่วนในอนาคตจะไปพัฒนาให้มีกี่แห่งก็ว่ากันไปตามระบบ แต่ที่ต้องการคือ อยากให้มีบุคลากรที่มีแนวคิดเรื่องการบริหารจัดการ โดยจะเป็นทันตแพทย์ ทันตาภิบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ ที่มาดำเนินการตรงนี้