ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองอธิบดีกรมอนามัยแนะนำแม่ที่มีปริมาณน้ำน้อยน้อย ติดต่อขอรับจากธนาคารนมแม่ ทั้งศิริราช รามาฯ รพ.เด็ก ศูนย์อนามัยฯ ขณะที่การซื้อขายนมแม่ ทั้งในและต่างประเทศไม่มีกฎหมายรองรับ

เมื่อวันที่ 20 กันยายน นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ประเด็นการขายนมแม่แช่แข็งในกลุ่มแม่และเด็กซึ่งมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก และมีการถามถึงกฎหมายว่าสามารถทำได้หรือไม่ ว่า เรื่องของการขายนมแม่ ทั้งต่างประเทศและในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายมาควบคุมการซื้อขายนมแม่ และไม่มีเหตุผลทางวิชาการว่าจะต้องทำเช่นนั้นด้วย ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการรับนมแม่จากผู้อื่นอย่างถูกต้อง สามารถทำได้ผ่านธนาคารนมแม่ (Milk Bank) ซึ่งผู้ที่นำนมแม่มาบริจาค จะมีขั้นตอนการคัดกรองเชื้อ เนื่องจากในนมแม่สามารถพบเชื้อจากผู้เป็นแม่ได้ อย่างเช่นเชื้อเอชไอวี สารเสพติด หรือยาบางชนิด ดังนั้น ธนาคารนมแม่จะมีมาตรฐานคุณภาพในการคัดกรองเชื้อต่างๆ มีการควบคุมคุณภาพของนมน้ำในรูปบบพาสเจอร์ไรซ์ เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียที่ส่งผลต่อสุขภาพของทารก

 

“เราไม่แนะนำในการรับนมแม่จากผู้อื่นมาให้ลูก งดรับบริจาคนมแม่ที่ไม่ผ่านธนาคารนมแม่ และยังไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนในเรื่องนี้ จึงขอแนะนำว่าหากแม่ท่านใดที่ไม่มีนมให้ลูก สามารถติดต่อขอรับนมแม่จากธนาคารนมแม่ได้ เช่น รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รพ.เด็ก ศูนย์อนามัยของกรมอนามัย เป็นต้น” นพ.สราวุฒิ กล่าว

 

นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า ปริมาณนมน้ำแม่ของธนาคารนมแม่ มีความเพียงพอต่อความต้องการ และยังมีหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนเรื่องนี้ เช่น ยูนิเซฟ รพ.เอกชน ทำให้คุณแม่เข้าถึงบริการได้ง่าย นอกจากนั้น แม่ที่คลอดลูกแล้วแต่ไม่มีน้ำนมให้ลูก ก็สามารถติดต่อที่ รพ.ใกล้บ้าน เพื่อปรึกษาคุณหมอ หาวิธีทำให้มีน้ำนม ซึ่งคุณหมอก็จะแนะนำการดูแลสุขภาพ อาหารการกินให้คุณแม่สามารถผลิตน้ำนมได้ โดยการบริการนี้จะรวมอยู่ในสิทธิประโยชน์ตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ไม่มีค่าใช้จ่ายด้วย

นพ.สราวุฒิ กล่าวต่อว่า กรมอนามัยได้ร่วมกับยูนิเซฟทำโครงการส่งนมแม่ให้สำหรับผู้ที่เป็นแม่คลอดลูกแต่อยู่ห่างกัน โดยแม่สามารถปั๊มน้ำนมของตัวเองแล้วนำส่งไปให้ลูกได้โดยที่น้ำนมยังรักษาคุณภาพไว้ได้ ซึ่งจะมีการขนส่งผ่านเครื่องบินไปถึง รพ.สต. ในพื้นที่ได้เลย ทั้งหมดนี้เป็นบริการฟรีสำหรับคุณแม่