ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สาธารณสุข พร้อมอธิบดีกรมอนามัย ตรวจเยี่ยม ห้องมุมนมแม่ บริเวณชั้น 1 รัฐสภา หนึ่งในการส่งเสริมสวัสดิการให้แม่สามารถปั้มนม เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน

เมื่อช่วงเย็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตริว่าการกระทรวงสาธารณสุข  และ พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย พญ. นวลสกุล บำรุงพงษ์คณะที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข  น.ส.ณัฐณิชา บุรณศิริ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงสาธารณสุข นพ.สราวุฒิ บุญสุข รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข  ตรวจเยี่ยม “ห้องมุมนมแม่” ชั้น 1 อาคารรัฐสภาเกียกกาย  ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข   ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายจัดสวัสดิการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการส่งเสริม และสนับสนุนให้มารดาสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างต่อเนื่องและเต็มที่

นพ.ชลน่าน   กล่าวว่า การจัดมุมนมแม่ในรัฐสภา เพื่อสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ในรัฐสภาได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ที่ผ่านมามุมนมแม่ของรัฐสภาได้มีสมาชิกรัฐสภา รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐสภาเข้าใช้บริการห้องนมแม่เพื่อเก็บไว้ให้ลูก และยังมีตู้เย็นสำหรับแช่เก็บน้ำนมแม่ ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนให้แม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก เพราะนมแม่มีสารอาหารที่จำเป็นและมีประโยชน์สำหรับลูก เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน อีกทั้ง ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแม่กับลูก ช่วยสนับสนุนให้เด็กไทยได้กินนมแม่เพื่อการเติบโตที่มีคุณภาพ พัฒนาการสมวัย 

“ รัฐสภาได้จัดตั้งมุมนมแม่ตั้งแต่ปี 2563 เพื่อเป็นสถานที่สำหรับอำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ข้าราชการ และบุคลากรของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพราะการให้นมบุตร แม่ต้องการพื้นที่เฉพาะ ถือเป็นการส่งเสริมสิทธิที่มารดาพึงจะกระทำได้ ทั้งในที่สาธารณะและในที่รโหฐาน สำหรับการเยี่ยมมุมนมแม่ในวันนี้ ได้รับการสนับสนุนจากกรมอนามัยด้านองค์ความรู้ และแนวทางการดำเนินงานมุมนมแม่ของรัฐสภา เพื่อให้เป็นมุมนมแม่ต้นแบบที่ดีให้แก่หน่วยงานอื่นๆ" รมว.สาธารณสุข กล่าว

พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า  กรมอนามัยมีภารกิจในการสร้างเสริมความรอบรู้ และทักษะในการดูแลตนเองให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มวัย เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดีโดยถ้วนหน้า โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพของแม่และลูกอย่างมีคุณภาพ จะนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต ซึ่งทั่วโลกยอมรับว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพของประชากร และเป็นสิทธิอันชอบธรรมในการได้รับการคุ้มครองเลี้ยงดูด้านอาหารและสุขภาพอย่างเหมาะสม ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกว่า “ทารกควรได้รับนมแม่อย่างเดียว ในช่วง 6 เดือนแรก และได้รับนมแม่ต่อเนื่องควบคู่กับอาหารตามวัยจนอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น