ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ม.มหิดล พัฒนาเทคโนโลยีอาหารทางการแพทย์ ผลิตสารเสริมโภชนาการน้ำนมแม่ ดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตสู่ภาวะที่สมบูรณ์ 

สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาเทคโนโลยีอาหารทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง ที่โรงงานอาหารผลิตทางการแพทย์ต้นแบบ ศาลายา เพื่อคนไทยได้มีสารเสริมโภชนาการน้ำนมแม่ (Human Milk Fortifier) ที่สามารถผลิตขึ้นได้เองในประเทศ เพราะเด็กที่คลอดก่อนกำหนดจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตสู่ภาวะที่สมบูรณ์ 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงก้าวสำคัญของโรงงานผลิตอาหารต้นแบบมาตรฐาน จีเอ็มพี ของสถาบันฯ ซึ่งพร้อมจะดำเนินการผลิตสารเสริมโภชนาการน้ำนมแม่ชนิดเหลว (Human Milk Fortifier) จากองค์ความรู้ และประสบการณ์ในอดีต ที่มีการพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ดังกล่าวชนิดผง ร่วมกับทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และทดสอบใช้ในทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักตัวต่ำ ซึ่งพบว่าได้ผลเป็นอย่างดี เทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์นำเข้า โดยมีราคาถูกกว่ามาก ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมโภชนาการน้ำนมแม่ชนิดเหลวที่จะสร้างสรรค์ และพัฒนาต่อยอดจากชนิดผงนี้ มีข้อดีในแง่ความสะดวกในการผสมกับน้ำนมแม่ และช่วยเพิ่มความปลอดภัยด้านจุลินทรีย์ เนื่องจากการทำให้ผลิตภัณฑ์ผงปลอดเชื้อทำได้ยากกว่ามาก 

ทารกที่คลอดก่อนกำหนดต้องการสารอาหารสำหรับการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งให้ร่างกายและสมองมีพัฒนาการเทียบเท่ากับเด็กคลอดครบกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกแรกคลอดที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,500 กรัม จำเป็นต้องเสริมสารอาหารในน้ำนมแม่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารพอเพียง เสริมกับประโยชน์จากน้ำนมจากแม่ที่มีสารภูมิต้านทานโรค สารลดการอักเสบ สารกระตุ้นการเจริญเติบโตต่าง ๆ

เมื่อสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถผลิตสารเสริมโภชนาการน้ำนมแม่ได้เอง จะมีส่วนสำคัญต่อการดูแลทารก ลดโอกาสของการเกิดประชากรที่มีความพิการ และมีภาวะโรค ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมของประเทศไทยในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะปัจจุบันที่อัตราประชากรเกิดใหม่ของประเทศไทยมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง การจะก้าวขึ้นสู่แถวหน้าของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม นอกเหนือจากการพัฒนาทางเทคโนโลยี และนวัตกรรม จำนวนประชากรที่มีคุณภาพ ที่จะเป็นกำลังของประเทศในอนาคตนับเป็นสิ่งสำคัญ  

เรื่องที่เกี่ยวข้อง