ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเป็นตัวแทนประเทศไทย ร่วมประชุมระดับสูงสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องการต่อสู้กับวัณโรค มุ่งมั่นยุติวัณโรคให้ได้ภายในปี 2578 เปลี่ยนประเทศไทยจากประเทศที่มีภาระวัณโรคสูงเป็นประเทศที่มีภาระวัณโรคต่ำ ระบุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นกลไกสำคัญในการจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของวัณโณคได้ พร้อมใช้ AI ตรวจคัดกรอง ค้นหาผู้ป่วยให้เร็ว เพื่อรักษาเร็ว ลดการแพร่เชื้อ และปรับแนวทางการรักษาตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก 

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 เวลา 10.00 น. (เวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการอภิปรายของภาคส่วนที่หลากหลาย (Multistakeholder panel) ในหัวข้อเร่งดำเนินการหลายภาคส่วนเพื่อสร้างความมั่นใจให้เกิดการดูแลวัณโรคอย่างมีคุณภาพโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางและอย่างเท่าเทียมกันภายใต้บริบทของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Accelerating multisectoral actions to ensure equitable high-quality people-centred tuberculosis care, and addressing determinants of tuberculosis in the context of universal health coverage) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมระดับสูงว่าด้วยการต่อสู้กับวัณโรค หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High-Level Meeting on the Fight against Tuberculosis) ระหว่างห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78 โดยมี นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และ ภญ.วลัยพร พัชรนฤมล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุมด้วย 

นพ.นิติ กล่าวว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านจากประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูง ทั้งวัณโรค วัณโรคที่มีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยและวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (Multidrug-resistant TB: MDR-TB) โดยแนวโน้มอุบัติการณ์ของวัณโรคของไทยลดลงในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา แต่วัณโรคก็ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขของไทยที่ต้องเร่งจัดการและแก้ไขการแพร่ระบาดของวัณโรค ซึ่งเราได้ใช้การวิธีการตรวจทางโมเลกุลที่รวดเร็วและมีความไวในการตรวจหาเชื้อวัณโรคและวัณโรคดื้อยา รวมถึงสนับสนุนให้มีการตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ และประเมินความไวต่อยาไปพร้อมๆ กัน เพื่อช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น 

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า เราได้ใช้ AI ในการอ่านผลเอกซเรย์ทรวงอกเพื่อการคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค ซึ่งได้มีประสิทธิภาพในการระบุบุคคลที่เป็นวัณโรคจากภาพรังสีทรวงอกที่ผิดปกติ หลังจากนั้นผู้ที่ถูกตั้งค่าสถานะโดย AI จะถูกทดสอบเสมหะทันที ซึ่งช่วยให้วินิจฉัยได้รวดเร็วและแม่นยำ

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ปรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยวัณโรคตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำให้ประเทศต่างๆ ให้การรักษาผู้ป่วยวัณโรคระยะสั้น 9 เดือน เพื่อให้ผู้ป่วยลดระยะเวลาในการรับประทานยายาวนาน ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มโอกาสของการรักษาครบได้มากขึ้น รวมถึงแนวทางการรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานด้วยสูตรยา BPaL/BPaLM สิ่งเหล่านี้ช่วยปรับปรุงคุณภาพของการรักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR/RR-TB) อย่างมีนัยสำคัญ และมีแนวโน้มผลลัพธ์ที่ดีกว่า

นพ.นิติ กล่าวว่า ครัวเรือนของผู้ป่วยวัณโรคที่ล้มละลายในไทยนั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกอย่างมาก เนื่องจากประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการวินิจฉัยและการรักษาภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่คำนึงถึงสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของพวกเขา

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มุ่งมั่นที่จะยุติวัณโรคให้ได้ภายในปี พ.ศ.2578 ด้วยนโยบายที่เข้มแข็งและการอุทิศตนของชุมชนด้านการดูแลสุขภาพของเรา โดยที่มีพัฒนาการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นกลไกสำคัญในการจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของวัณโรคในไทย เรากำลังเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีภาระวัณโรคต่ำ

“ท้ายนี้ ผมขอแสดงความขอบคุณต่อทุกคนที่เกี่ยวข้องในการเดินทางครั้งนี้ เราจะมุ่งมั่นสู่อนาคตที่ปราศจากวัณโรคเพื่อประเทศชาติและประชาคมโลกร่วมกัน” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว 

ในโอกาสนี้ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้รับรองปฏิญญาการเมืองว่าด้วยเรื่องการต่อสู้กับวัณโรค UHC ค.ศ. พัฒนาความก้าวหน้าและประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ การเงิน และนวัตกรรม เพื่อยุติการแพร่ระบาดของวัณโรคทั่วโลกอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการประกันความเท่าเทียมในการเข้าถึงการป้องกัน การวินิจฉัยโรค และการดูแลรักษา ซึ่งผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ และการเจรจาระหว่างรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา