นายกภูฏานประกาศกลางสมัชชาสหประชาชาติพร้อมเป็นประเทศยากจน ที่มี “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ครอบคลุม ตามข้อตกลงระดับโลกบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี 2573 หรือ UHC2030
โลเท เชอร์ริง (Lotay Tshering) นายกรัฐมนตรีภูฏาน ประกาศบนเวทีการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High-level Meeting on Universal Health Coverage)เมื่อวันที่ 24 ก.ย.62 ที่ผ่านมา ที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ระบุว่า ภูฏาน จะเป็นประเทศแรกที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ ที่จะบรรลุเป้าหมาย “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ตามปฏิญญาทางการเมือง ที่สมาชิกสมัชชาสหประชาชาติลงนามร่วมกัน เมื่อปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา
ตามแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ได้กำหนดให้ทุกประเทศ เร่งสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้เสร็จภายในปี 2573 หรือ UHC2030 แต่นายกรัฐมนตรีเชอร์ริง ซึ่งเคยเป็นศัลยแพทย์ ประจำโรงพยาบาลส่งต่อผู้ป่วยแห่งชาติภูฏาน มั่นใจว่าจะสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เสร็จเร็วกว่านั้น
เชอร์ริง เพิ่งเข้ารับตำแหน่งนายก เมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา ท่ามกลางการเมืองที่ผันผวนของภูฏาน โดยตั้งแต่ปี 2556 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านจากระบอบ “ราชาธิปไตย” ไปสู่ระบอบ “ประชาธิปไตย” ภูฏาน มีนายกรัฐมนตรีมากถึง 5 คนแล้ว
อย่างไรก็ตาม นโยบายของพรรค “สันติภาพและความรุ่งเรืองของภูฏาน” (ดรุค พีน ซัม ทโซกพา) ที่เชอร์ริงสังกัดนั้น ชัดเจนว่าต้องการปฏิรูประบบสุขภาพของภูฏาน และได้ให้คำมั่นไว้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้วว่า นโยบายสุขภาพ ถือเป็น “เสาหลัก” เสาหนึ่งของรัฐบาลชุดนี้
“ไม่มีเรื่องไหนสำคัญและยั่งยืนไปกว่าการลงทุนด้านสาธารณสุข และการศึกษาให้กับประชาชน” นายกฯภูฏานระบุ พร้อมกับบอกว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะสามารถ “ขยาย” ปรัชญาที่ภูฏานยึดถือมาตลอด นั่นคือ “ดัชนีความสุขมวลรวมประชาชาติ” หรือ Gross National Happiness ออกไปให้กว้างขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย และทุกสถานะ
สำหรับหลักดัชนีความสุขมวลรวมประชาชาตินั้น สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังซุก ทรงมีพระราชดำรัสไว้ตั้งแต่ปี 2515 หรือเมื่อ 47 ปี ที่แล้ว ซึ่งจนถึงขณะนี้ ยังคงมีการตีความอย่างหลากหลาย และถูกวิพากษ์วิจารณ์จากตะวันตกว่า ประเมินค่า “GNH” ได้ยาก เนื่องจากดัชนี ตัวชี้วัดส่วนใหญ่ เป็น “นามธรรม”
ขณะเดียวกัน GNH ก็ออกดอกผลตรงกันข้าม แม้ภูฏานจะสร้างประเทศด้วย “ความสุข” แต่อัตราการป่วยด้วยอาการ “จิตเวช”กลับสูงลิ่ว ปี 2561 ประเทศที่มีประชากร 8 แสนคนแห่งนี้ มีผู้ป่วยทางจิต มากกว่า 3,700 คน สูงขึ้นกว่าปี 2551 เกือบ 1 เท่าตัว ขณะที่อัตราการฆ่าตัวตาย ก็เคยสูงเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียแปซิฟิกเช่นเดียวกัน
ปัญหาสำคัญที่คุกคามประเทศเล็กๆ แห่งนี้ และส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนบนภูเขาสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนีไม่พ้น “ความยากจน” อัตราการ “ว่างงาน” ที่สูงลิ่ว และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ถนนหนทาง ที่น้อยมาก โดยระบบเศรษฐกิจ ยังต้องพึ่งพาประเทศข้างเคียงอย่าง “อินเดีย” ค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม เชอร์ริง เชื่อว่า หากประชาชนมีสุขภาพดี เข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น อัตราการป่วย อัตราการตายน้อยลง ดัชนี GNH ก็จะเห็นชัดขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญภูฏาน ประกาศไว้ชัดเจนตั้งแต่ปี 2551 ให้ราษฎรภูฏานทุกคนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพพื้นฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายในการส่งตัว ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคราคาแพง รัฐบาลภูฏาน ก็จะรับดูแลทั้งหมดเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นายกฯเชอร์ริง ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่จะเดินหน้านโยบายนี้ให้เสร็จโดยเร็ว ภูฏานยังมีความท้าทายหลายเรื่อง ตั้งแต่ ภูมิประเทศที่ยังทุรกันดาร ห่างไกล ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้ยาก ขณะเดียวกัน โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข ก็ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร นั่นทำให้เป็นทั้งเรื่องยาก และต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงมาก ในการให้บริการระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ และเพียงพอต่อความต้องการของประชากร
“นอกจากนี้ การเริ่มต้นของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง, การระบาดของโรคที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศ และการนำเข้าโรคจากการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่เราต้องต่อสู้เช่นกัน” เชอร์ริงระบุ
ด้วยเหตุนี้ นายกฯภูฏาน จึงประกาศเปิดรับความช่วยเหลือจากทั่วโลก ในการตั้งไข่ระบบ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เพื่อให้ชาวภูฏาน มีสุขภาพที่ดีกว่านี้
“ด้วยการสนับสนุนของพวกท่าน เราขอรับรองว่าภูฏานจะเป็นประเทศแรกที่บรรลุพันธะสัญญาทั้งหมดและเสนอบริการสุขภาพที่ดีที่สุดแก่ประชาชนของเรา” เซอร์ริงกล่าว
หนึ่งในประเทศที่ภูฏานยึดเป็นแบบอย่างด้านระบบสาธารณสุข ก็คือไทย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ในรัฐบาลก่อนหน้านี้ เดินทางไปลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันกับรัฐบาลภูฏาน เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดการระบบสุขภาพที่ภูฏานถึง 2 ครั้ง และในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา รมว.สาธารณสุขภูฏาน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขภูฏาน ก็ส่งคนมาอบรมที่กระทรวงสาธารณสุข และที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อยู่หลายรอบ
ทั้งหมดนี้ อดีตนายแพทย์อย่าง นายกฯ เซอร์ริง ยอมรับเองว่าภูฏาน ถือเป็นประเทศที่ “ปฏิรูป” ระบบสุขภาพได้ยากที่สุด แต่ตัวเขาก็เชื่อว่า “ทำได้” และต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้
เรียบเรียงจาก
A Happy Country Struggles With Mental Health [medscape.com]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โลกคุย ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ เห็นตรงกัน ต้องลงทุน ‘สุขภาพปฐมภูมิ-เพิ่มอีก 1% ของ GDP’
- 176 views