ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คร.เผยไข้หวัดใหญ่ระบาดแต่ไม่รุนแรงเกินจัดการ เมื่อเทียบกับก่อนโควิด   ขณะที่ยาโอเซลทามิเวียร์และฟาวิพิราเวียร์ใช้รักษาได้เหมือนกัน ด้านกรมการแพทย์เตรียมดันยาฟาวิฯ เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ เหตุก่อนหน้าใช้รักษาโควิดกรณีโรคฉุกเฉินทำให้รักษาฟรี! ด้าน อภ.เร่งผลิตยาโอเซลฯ เตรียมจัดส่งต้นต.ค.นี้ ส่วนฟาวิฯ ผลิตเพิ่มเช่นกัน

 

ตามที่สังคมออนไลน์มีการแชร์ข้อมูลในแวดวงสาธารณสุขถึงสถานการณ์โรคทางเดินหายใจ โดยเฉพาะไข้หวัดทั่วไป ไข้หวัดใหญ่ หรือแม้แต่โควิด19 ที่พบมากขึ้น เนื่องจากประชาชนเริ่มผ่อนคลายการสวมหน้ากากอนามัย จนมีกระแสข่าวว่า หลายโรงพยาบาลพบปัญหายาโอเซลทามิเวียร (Oseltamivir)  ขาดแคลน เนื่องจากไข้หวัดใหญ่ระบาดหนักนั้น

อภ.เร่งผลิตยา-จัดส่งโอเซลทามิเวียร์และฟาวิฯ ต้นต.ค.นี้

พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา อภ. ได้จัดส่งยาโอเซลทามิเวียร์ ไปตามสต๊อกที่สั่งเข้ามาหมดแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่มีสต๊อกที่ต้องผลิตเพิ่มอีก เนื่องจากความต้องการมีเพิ่มขึ้น 4-5 เท่า ขณะนี้กำลังเร่งผลิตจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในการผลิตยาโอเซลทามิเวียร์ โดยมีวัตถุดิบประมาณ2,800 กิโลกรัม สามารถผลิตออกเป็นยาโอเซลฯ ประมาณ 26 ล้านเม็ด ใช้ได้ประมาณ 2.6 ล้านคน โดยผลิต 3 ขนาด ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเด็กเล็กขนาด 30 มิลลิกรัม เด็กโตขนาด 45 มิลลิกรัม ขนาดผู้ใหญ่ 75 มิลลิกรัม

“ยาโอเซลทามิเวียร์สำหรับเด็กเล็ก 30 มิลลิกรัมจะจัดส่งได้หมดในวันที่ 4 ตุลาคม ส่วนขนาด 45 มิลลิกรัมจะส่งได้ช้าสุดวันที่ 9 ตุลาคม ขณะที่ยาสำหรับผู้ใหญ่ก็จะทยอยจัดส่งได้ไม่เกินเดือนตุลาคมเช่นกัน ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์มีอยู่ 1.6 ล้านเม็ด  รักษาได้ประมาณ 3 หมื่นกว่าราย และยังมีวัตถุดิบผลิตอีก 8.8 แสนเม็ด จริงๆยาฟาวิฯยังไม่ครอบคลุมในบัญชียาหลักฯ ซึ่งทาง อภ.ได้ทำหนังสือเสนอให้คณะอนุกรรมการฯบัญชียาหลักพิจารณาขอให้ยาตัวนี้เข้าสู่รายการในบัญชียาหลักด้วย” ผอ.องค์การเภสัชกรรมกล่าว

กรมการแพทย์ ดัน "ฟาวิพิราเวียร์" เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ด้วยยาโอเซลทามิเวียร์  และยาฟาวิพิราเวียร์(Favipiravir) ว่า ยาทั้งสองชนิดสามารถนำมารักษาโรคไข้หวัดใหญ่ได้ อย่างฟาวิพิราเวียร์ก็รักษาได้เช่นกัน โดยได้มีการประชุมผู้เชี่ยวชาญฝ่ายวิชาการของกรมการแพทย์เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา มีการพิจารณาถึงแนวทางการรักษาไข้หวัดใหญ่ด้วยฟาวิพิราเวียร์ นอกเหนือจากโอเซลทามิเวียร์ ซึ่งจะมีการเสนอเข้าสู่คณะกรรมการวิชาการของกระทรวงสาธารณสุข ก่อนออกเป็นประกาศแนวทางการรักษาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

“จริงๆ แพทย์ทราบอยู่แล้วว่า ยาฟาวิพิราเวียร์สามารถนำมารักษาไข้หวัดใหญ่ได้ เพียงแต่ก่อนหน้านี้มีการระบาดของโรคโควิด19 จึงมีการนำยาฟาวิฯ มารักษา ทำให้คนเข้าใจว่าคนละโรค แต่จริงๆรักษาได้ โอเซลทามิเวียร์ก็เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายาโอเซลทามิเวียร์อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติอยู่แล้ว เหลือแต่ฟาวิพิราเวียร์   ซึ่งก่อนหน้านี้ฟาวิฯ รักษาฟรี เพราะเอามาใช้โควิด19 แต่เมื่อโรคโควิดไม่ใช่โรคติดต่ออันตรายแล้ว จากนี้ก็จะต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อผลักดันเข้าสู่คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติต่อไป” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

กรมควบคุมโรคเผยไข้หวัดใหญ่ระบาดแต่ไม่รุนแรงเกินจัดการ 

ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -16 กันยายน 2566 มีรายงานผู้ป่วย 185,216 ราย อัตราป่วย 279.90 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานเสียชีวิต 4 รายในจังหวัดนครราชสีมา 2 ราย สงขลาและตาก จังหวัดละ 1 ราย อัตราป่วยตาย 0.002 สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H1N1 และ A/H3N2 สัปดาห์นี้รายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

“ตัวเลขการระบาดจะใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนจะมีการระบาดของโรคโควิด เพราะไทยเผชิญโควิดตั้งแต่ต้นปี 2563 ช่วงนั้นเรามีมาตรการป้องกันต่างๆ สวมหน้ากากอนามัยทำให้ได้ประโยชน์ในการป้องกันโรคทางเดินหายใจ แต่ด้วยปัจจุบันสถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย ทั่วโลกเดินทางกันมาก แต่หากพิจารณาตัวเลขการระบาดก่อนโควิดกับปีนี้ ถือว่าการระบาด ใกล้เคียงกับปีก่อนโควิด   ดังนั้น โรคไข้หวัดใหญ่แม้จะพบมากแต่ไม่ถือว่ารุนแรงเกินจัดการ” นพ.โสภณ กล่าว

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : 

-รมว.สธ. ย้ำไข้หวัดใหญ่ป้องกันได้ แนะ 7 กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดอาการรุนแรงและเสียชีวิต 

-กรมการแพทย์เผยข้อแตกต่าง “หวัดทั่วไป” กับ “ไข้หวัดใหญ่” แบบไหนถึงต้องใช้ยาฆ่าไวรัส