ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.-มธ.-กทม.-คพ.-สธ. สานพลังพัฒนาระบบพยากรณ์สุขภาพจากฝุ่น PM2.5 เตือนภัยฝุ่นล่วงหน้า ป้องกันและลดผลกระทบสุขภาพประชาชน นำร่องพื้นที่เมืองหลวง
 
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2566 ที่กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมควบคุมมลพิษ และกรุงเทพมหานคร ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือการวิจัยโครงการพยากรณ์ล่วงหน้าผลกระทบระยะเวลาสั้นด้านสุขภาพของประชาชนจากความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
 
รศ.ดร.สสิธร เทพตระการพร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 ในช่วงปลายปีต่อต้นปีของทุกปีต่อเนื่องมาหลายปี ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

  • โรคระบบทางเดินหายใจ
  • ระบบหลอดเลือดและหัวใจ
  • ระบบหลอดเลือดสมอง
  • โรคมะเร็งปอด

แม้ปัจจุบันจะมีการพยากรณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้า เพื่อแจ้งข้อมูลให้กับประชาชนได้ทราบถึงระดับฝุ่น PM2.5 ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอีก 5 วันข้างหน้าว่าจะอยู่ในระดับดีมาก ดี ปานกลาง เริ่มมีผลกกระทบต่อสุขภาพ หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยยังไม่มีระบบพยากรณ์ผลกระทบต่อสุขภาพที่จะสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า จะมีโอกาสที่จะมีการเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใดของจำนวนประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพและเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของฝุ่น PM2.5 ในอีกหลายวันข้างหน้า และต้องเข้าพบแพทย์ หรือต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

"การพยากรณ์ผลกระทบต่อสุขภาพได้ล่วงหน้า จะสามารถใช้เป็นข้อมูลเพื่อแจ้งเตือนประชาชนและเตรียมการปฏิบัติตนเพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพได้เป็นการล่วงหน้า นอกจากนี้ ยังสามารถเป็นข้อมูลให้กับสถานพยาบาลต่าง ๆ ในการเตรียมความพร้อมในการรองรับการเจ็บป่วยของประชาชนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้เป็นการล่วงหน้าด้วย" รศ.ดร.สสิธร กล่าว

ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีระบบพยากรณ์ผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 ได้ล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนและสถานพยาบาลต่าง ๆ ได้ทราบข้อมูลล่วงหน้าก่อน เพื่อการดูแลสุขภาพประชาชนและป้องกันไม่ให้ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ในการดำเนินโครงการพัฒนาระบบพยากรณ์ล่วงหน้าผลกระทบระยะเวลาสั้นด้านสุขภาพของประชาชนจากความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยจะเป็นระบบพยากรณ์ผลกระทบต่อสุขภาพล่วงหน้าทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ เพื่อคาดการณ์ว่าจะมีการเจ็บป่วยของประชาชนจากฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นหรือลดลงมากน้อยเพียงใดล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 วัน โดยใช้ข้อมูลผลการพยากรณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้าสำหรับฝุ่น PM2.5 จากระบบ AirBKK ของกรุงเทพมหานคร

 นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ผลที่ได้จากโครงการนี้ จะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองและดูแลสุขภาพของประชาชนเชิงรุก ให้ปลอดภัยจากผลกระทบต่อสุขภาพจากการสัมผัสฝุ่น PM2.5 และการเตรียมความพร้อมของสถานพยาบาลต่าง ๆ ในการให้บริการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5  ได้อย่างอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ เพื่อการมีสุขภาวะที่ดีของประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และสามารถที่จะใช้เป็นระบบนำร่องเพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : สธ. เผย 15 จังหวัดค่าฝุ่น PM 2.5 สูงติดต่อกัน 3 วัน ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยแล้ว 1.32 ล้านคน

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง