ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สาธารณสุขฝากงาน Quick Win 100 วัน 100 รายการ อนุญาต “ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน”  กำชับ อย.วางแนวทางอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพพื้นที่อีอีซี ลั่นปี67  ขยายโครงการบัตรประชาชนใบเดียวกับการออกใบอนุญาตจากระบบ e-Submission ด้าน อย.เตรียมแผนรองรับนำเข้ายาและวัตถุดิบที่ไทยต้องใช้จากอิสราเอล

 

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม   ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยมีนพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และผู้บริหารอย.ให้การต้อนรับและนำเสนอการดำเนินงาน

ฝากงาน Quick Win 100 วัน 100 รายการอนุญาต “ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน”

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ฝากให้อย.ส่งเสริมศักยภาพสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศ โดยมิติสุขภาพ ทำให้ผู้ประกอบการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องนำมิติสุขภาพไปสร้างความมั่งคั่ง ซึ่งการที่อย.นำเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนการทำงาน ทำให้แก้ปัญหาต่างๆได้มาก  รวมถึงการอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนช่วง Quick Win 100วัน 100 รายการ ตั้งเป้าอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน  เท่าที่ทราบก็ดำเนินการไปแล้ว  30 รายการ  จะเป็นโอกาสให้ประชาชนในการสร้างรายได้  พร้อมจัดโครงการยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยสู่ตลาดความงามโลก ส่วนด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้เตรียมปรับหลักเกณฑ์ให้ง่ายต่อการประกอบการ ลดระยะเวลาการอนุญาต ผลิตภัณฑ์ เช่น ยาหม่อง/ยาน้ำมัน ภายใน 1 วันทำการ

ต้องคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค ร่วมเฝ้าระวังทำงานเชิงรุก

“นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยร่วมมือกับผู้บริโภคเฝ้าระวังเชิงรุก ร่วมตรวจ ร่วมสื่อสาร แจ้งเตือนภัย ภายใต้แนวคิด “พัฒนาฐานราก อนุญาตเร็วไว ส่งเสริมนวัตกรรมไทย ผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอดภัย สู่ประชาชน”นพ.ชลน่าน กล่าว

สร้างความมั่นคงทางยา อีอีซี

เรื่องมิติอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี  ซึ่งการมุ่งเป้าอุตสาหกรรมนี้มีกิจกรรมสำคัญ อย่างเรื่องการสร้างความมั่นคงทางยาและวัคซีน โดยวัคซีนมีการกำหนดแนวทางแล้ว แต่อยากให้อย.กำหนดแนวทางเรื่องของยามุ่งเป้าให้สอดรับกับที่ผู้ประกอบการสนใจวางฐานการผลิตในพื้นที่อีอีซี เพื่อสร้างความมั่นคงทางยา ยกตัวอย่าง ยาอินซูลินที่ประเทศไทยต้องนำเข้าตัวยาจากต่างประเทศ หากเกิดสถานการณ์ใดขึ้นแล้วไม่สามารถนำเข้าได้ ผู้ป่วยที่ได้รับยาอินซุลินในไทยก็จะกระทบทั้งหมด เป็นต้น  รวมไปถึงการส่งเสริมสนับสนุนร้านยา ซึ่งสามารถเป็นห้องยาของรพ.ได้ อาจจะเป็นพาสเนอร์ชิปที่รพ. มาดูแลห้องยาทั้งหมด เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านยาอยู่ได้ ขณะที่รพ.ก็ง่ายต่อการบริหารจัดการ ทำให้ประสิทธิภาพบริการดีขึ้น 

ปี67 ขยายโครงการบัตรประชาชนใบเดียวกับการออกใบอนุญาต

“ปี 2567 อย. มีแผนที่จะยกระดับผู้ประกอบการอาหารแปรรูป พัฒนานวัตกรรมบริการและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน ผลักดันการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการประกอบการเครื่องมือแพทย์ ส่งเสริมการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ ประเภท AI ตลอดจนมุ่งสู่ระบบดิจิทัลสุขภาพ โดยขยายโครงการใช้บัตรประชาชนใบเดียวในการออกของที่ได้รับอนุญาตจากระบบ e-Submission ของกองด่านอาหารและยา ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการและผู้ลงทุนผลิตภัณฑ์สุขภาพไทยได้เป็นอย่างดี” รมว.สาธารณสุข กล่าว

อย.เตรียมแผนรองรับนำเข้ายาและวัตถุดิบที่ไทยต้องใช้จากอิสราเอล

ด้าน นพ.ณรงค์ กล่าวตอนหนึ่งว่า สถานการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาส ได้มีการเตรียมแผนรองรับกรณีการนำเข้ายาและวัตถุดิบทางยาที่ประเทศไทยมีการนำเข้าจากประเทศอิสราเอลจำนวน 16 รายการ เป็นยาสำเร็จรูป 12 ตัวยา และวัตถุดิบทางยา 4 ชนิด เช่น อิมมูโนโกลบูลินที่ผลิตจากซีรั่มของมนุษย์ (Human rabies immunoglobulin: HRIG) ที่ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และ Magnesium Hydroxide เป็นต้น ซึ่งจากการสำรวจสต็อกจะสามารถผลิตได้อีก 2 ปี และมีแหล่งจัดหาอื่นเพิ่มเติม 

เร่งออกกฎหมายลำดับรองกรณี กัญชา กัญชง

เรื่องของกัญชา กัญชง อย.จะดำเนินการพัฒนาระบบกำกับดูแล เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ เร่งออกกฎหมายลำดับรองตามประมวลกฎหมายยาเสพติด  และระบบเฝ้าระวังวัตถุเสพติดทางการแพทย์ ด้วยการบูรณาการเครือข่ายกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) กรมสรรพากร ตรวจสอบ ติดามการใช้ทางการแพทย์ 

ในส่วนของการดำเนินรองรับนโยบาย Quick Win ของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องของเศรษฐกิจสุขภาพ ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและวัตถุอันตราย ด้วยการอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน 100 รายการ รวมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย โดบมีโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการ ยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยสู่ตลาดความงามโลก เพราะมูลค่าการส่งออกในปี 2565ของประเทศไทย มีการส่งออกเครื่องสำอางเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน มูลค่ารวม 65,000 ล้านบาท