ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.-ภาคีเครือข่าย ร่วมรณรงค์การดูแลมะเร็งในสตรี มุ่งลดการป่วยและเสียชีวิต ผลักดัน Quick Win ฉีดวัคซีน HPV ให้หญิงอายุระหว่าง 11 – 20 ปี 1 ล้านคนทั่วประเทศ 

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่ายรัฐ-เอกชน รณรงค์การดูแลโรคมะเร็งในสตรี ภายใต้สโลแกน “สวย เริด เชิด สู้มะเร็ง” เนื่องในเดือนรณรงค์ต้านภัยโรคมะเร็งเต้านม เดินหน้านโยบาย “มะเร็งครบวงจร” ครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริม การป้องกัน การคัดกรอง การวินิจฉัยและรักษา ตลอดจนการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง พร้อมผลักดัน Quick Win ฉีดวัคซีน HPV ให้หญิงอายุระหว่าง 11 – 20 ปี 1 ล้านคนทั่วประเทศ เดือนพฤศจิกายนนี้ 

วันนี้ (19 ตุลาคม 2566) ที่ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอนด์ บางกอก คอนเวนชันเซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมเพื่อหารือและเสริมสร้างนโยบายมะเร็งในสตรี และโอกาสของการดูแลมะเร็งในสตรี ภายใต้หัวข้อ “Enhancing Women’s Cancer Care: Thailand Women Cancer Policy Forum” โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมงาน

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า โรคมะเร็ง ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกที่พบมากในผู้หญิงไทย สถิติจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ พบว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ประมาณ 17,000 รายต่อปี เสียชีวิตประมาณ 4,800 รายต่อปี ส่วนมะเร็งปากมดลูก มีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 5,400 รายต่อปี เสียชีวิต 2,200 รายต่อปี กระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดเรื่อง “มะเร็งครบวงจร” เป็นหนึ่งในนโยบายการดำเนินงานปี 2567 ครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริม การป้องกัน การคัดกรอง การวินิจฉัยและรักษา ตลอดจนการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง โดย มี Quick Win ที่จะเร่งรัดดำเนินการให้เห็นผลใน 100 วันแรก คือ การฉีดวัคซีน HPV ให้กับหญิงอายุระหว่าง 11 – 20 ปี จำนวน 1 ล้านคน ซึ่งจะเริ่มพร้อมกันทั่วประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2566 นอกจากนี้ ยังพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขามะเร็ง ให้ครอบคลุมประชาชนในทุกเขตสุขภาพ มีการดูแลรักษาส่งต่ออย่างเป็นระบบ และเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ตามสิทธิ หรือ มะเร็งรักษาได้ทุกที่ (Cancer Anywhere) เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งของประชาชน

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า เดือนตุลาคมของทุกปี ถือเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยโรคมะเร็งเต้านม กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน สมาคม จัดการประชุมครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมและโรคมะเร็งปากมดลูก ตลอดจนการสังเกตอาการเบื้องต้นจากแพทย์ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับมาตรการและแนวทางใหม่ๆ ที่จะทำให้การป้องกัน ควบคุมโรคมะเร็งในสตรีมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ 

  • การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสำหรับหญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป
  • การคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการคลำโดยผู้เชี่ยวชาญ
  • การตรวจ Mammogram ในผู้ที่ได้รับการประเมินว่ามีความเสี่ยงสูง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

นอกจากนี้ ยังมีบูธให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก เป็นต้นนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้จัดขึ้นภายใต้สโลแกน “สวย เริด เชิด สู้มะเร็ง” หรือ “Women Power No Cancer”

ทั้งนี้ จากรายงาน ผลกระทบและโอกาส: การลงทุนและการดำเนินการเร่งด่วนที่จำเป็น เพื่อลดอัตราการเกิดมะเร็งของผู้หญิงในเอเชียแปซิฟิก (Impact and opportunity: the case for investing in women’s cancers in Asia Pacific) ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในด้านการเฝ้าระวังและการป้องกัน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายในอีกหลาย ๆ ด้าน เช่น การเข้าถึงการตรวจคัดกรอง การรักษา และการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณในการดูแลมะเร็งในสตรี ซึ่งหากได้รับการแก้ไขจะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของสตรีและผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น และลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยได้เสนอแนะ 5 โอกาสสำคัญดังต่อไปนี้เพื่อการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในการป้องกันมะเร็งในสตรีในประเทศไทย 

  1. การป้องกันโรคในระดับปฐมภูมิด้วยการดำเนินการโครงการเสริมภูมิคุ้มกันฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วประเทศและทุติยภูมิด้วยโครงการคัดกรองประชากรทั่วทั้งประเทศ (สําหรับมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม) 
  2. การจัดให้มีโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เป็นระบบให้กับประชากร และการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องแมมโมแกรมตามความเสี่ยง 
  3. การขยายกำลังบุคคลากรทางสุขภาพ ศักยภาพของเครื่องมือ การกระจายและให้บริการเครื่องมือมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการตรวจคัดกรอง 
  4. การให้ความสําคัญในการเพิ่มการเข้าถึงการรักษาตามมาตรฐานสากล 
  5. การเสริมสร้างบทบาทขององค์กรผู้ป่วยในการที่จะได้รับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาแผนควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ (NCCPs) และข้อแนะนําทางคลินิก

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org