ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ โดยสถาบันทันตกรรม ให้บริการทำฟันฟรีแก่ประชาชน 300 ราย ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จย่า เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ พร้อมแนะนำประชาชนเรื่องโรคฟันผุ ซึ่งควรสังเกตฟันและดูแลสภาพช่องปากของตนเอง รวมถึงทานอาหารที่มีประโยชน์ ทานให้เป็นเวลา ไม่กินจุกจิก และพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง 

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี ตรงกับวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ กรมการแพทย์ โดยสถาบันทันตกรรม ได้ให้บริการและจัดกิจกรรมให้ความรู้ทางทันตกรรมแก่ประชาชน เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงมีพระเมตตาต่อประชาชนชาวไทย ทั้งนี้เตือนประชาชนเรื่องโรคฟันผุ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น แบคทีเรียในช่องปาก พฤติกรรมการทานอาหาร การแปรงฟันไม่สะอาด หากปล่อยทิ้งไว้อาจลุกลามไปถึงโพรงประสาทฟัน ทำให้เกิดการอักเสบ และเชื้ออาจโรคลุกลามไปที่รากฟันและเกิดหนอง เสี่ยงติดเชื้อไปยังอวัยวะอื่น ๆ ดังนั้น การดูแลสุขภาพช่องปาก จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก 

  • ควรสังเกตฟันและสภาพช่องปากของตนเอง 
  • ลดอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง 
  • เลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย 
  • กินอาหารให้เป็นเวลา 
  • ไม่ควรกินจุกจิก 
  • พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

ทันตแพทย์หญิง ดร.สุมนา โพธิ์ศรีทอง ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการฟันผุนั้นเกิดจากกระบวนการทำลายแร่ธาตุของโครงสร้างฟัน โดยมีสาเหตุมาจากแบคทีเรียที่สร้างกรดขึ้นมาเพื่อย่อยเศษอาหาร โดยเฉพาะประเภทน้ำตาลและแป้งที่ตกค้างภายในช่องปาก และในผู้ที่ชอบรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา และทำความสะอาดภายในช่องปากได้ไม่ดีพอ ก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดอาการฟันผุตามมาได้ ควรใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปาก ทำความสะอาดฟันให้ถูกวิธี โดยแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และใช้ไหมขัดฟันเพื่อช่วยทำความสะอาดซอกฟัน ซึ่งจะช่วยลดการเกิดโรคฟันผุได้ ทั้งนี้ในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ ได้ให้บริการตรวจฟัน อุดฟัน ถอนฟันและขูดหินปูน และให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพช่องปากแก่ประชาชน จำนวน 300 ราย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ณ สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี

ด้านทันตแพทย์หญิงณัฐพจี นรเศรษฐ์ตระกูล ทันตแพทย์ชำนาญการ สาขาทันตกรรมหัตถการ สถาบันทันตกรรม กล่าวถึงโรคฟันผุ สามารถสังเกตได้ด้วยตนเองและแบ่งเป็นระยะของโรคได้ โดยในระยะแรกฟันจะมีสีขาวขุ่นหรือน้ำตาลและผิวฟันไม่เรียบ เมื่อมีการลุกลามมากขึ้นฟันจะเริ่มแตกหรือผุเป็นรู และเมื่อฟันที่ผุเกิดลุกลามจนสูญเสียเนื้อฟันมากขึ้น การรักษาจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยการตรวจวินิจฉัยนอกจากมองด้วยตาและการใช้เครื่องมือแล้ว ทันตแพทย์จะใช้วิธีการถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์ (X-RAY) ซึ่งจะช่วยให้พบฟันผุในตำแหน่งที่ไม่สามารถมองเห็น และยังบอกความลึกของการลุกลามของโรคฟันผุได้ด้วย ส่วนด้านรักษาทันตแพทย์จะเริ่มจากการกำจัดเนื้อฟันส่วนที่ผุออก แล้วทำการอุดฟันหรือบูรณะฟันในส่วนที่ถูกทำลาย ด้วยวัสดุอุดชนิดต่าง ๆ เช่น อะมัลกัม คอมโพสิต แต่หากผุลึกจนทะลุโพรงประสาทฟันต้องรักษา    รากฟัน และหากสูญเสียเนื้อฟันมาก อาจต้องทำการครอบฟันในขั้นต่อไป เพื่อให้ฟันสามารถกลับใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ     

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org