ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐและภาคีเครือข่ายร่วมหาแนวทางส่งเสริมให้หญิงไทยห่างไกล "โรคมะเร็งในสตรี" เร่งสานต่อนโยบายการป้องกัน การตรวจคัดกรอง และการรักษามะเร็งที่พบในผู้หญิง เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้หญิงไทย

มะเร็งยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของไทย ปัจจุบันพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ประมาณ 140,000 รายต่อปี มะเร็งเต้านมพบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย และมีแนวโน้มอัตราเกิดโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มะเร็งปากมดลูกพบมากเป็นอันดับ 5 ในผู้หญิงไทย โรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกล้วนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ของสตรีในประเทศไทย 

เดือนตุลาคมเป็นเดือนรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านม สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้จัดงานประชุมหารือนโยบายมะเร็งในสตรีและโอกาสของการดูแลมะเร็งในสตรีภายใต้หัวข้อ “Enhancing Women’s Cancer Care: Thailand Women Cancer Policy Forum” เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอนด์ บางกอก คอนเวนชันเซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติเปิดงาน

วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก รวมทั้งหารือแนวทางการส่งเสริมให้สตรีไทยสามารถเข้าถึงการป้องกัน การตรวจคัดกรอง และการรักษาโรคมะเร็งในสตรีได้ดีมากยิ่งขึ้น ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย Global Breast Cancer Initiative ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งตั้งเป้าที่จะลดอัตราการเสียชีวิตของมะเร็งเต้านมลง 2.5% ต่อปี ภายในปี 2040 และกลยุทธ์ทั่วโลกสำหรับการกำจัดมะเร็งปากมดลูกผ่านเป้าหมาย 3 ประการภายในปี 2030 คือ ฉีดวัคซีน HPV 90% การตรวจคัดกรอง 70% และการรักษา 90%


 
โรคมะเร็งเต้านมถือเป็นปัญหาที่สำคัญเช่นกัน ด้วยความก้าวหน้าทางสาธารณสุขทำให้ประชากรมีอายุยืนยาวมากขึ้น อีกทั้งวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของประชากร เช่น พฤติกรรมการรับประทานอาหารไขมันสูง ดื่มสุรา และขาดการออกกำลังกายหรือมีภาวะโรคอ้วน เป็นต้น ทำให้โรคมะเร็งเต้านมมีแนวโน้มอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของทุกภาคส่วน ในการช่วยให้ผู้หญิงไทยเข้าถึงการบริการป้องกัน ตรวจคัดกรอง การผ่าตัด การรักษาโรคมะเร็งเต้านม และโดยเฉพาะที่เดือนตุลาคม เป็นเดือนแห่งการสร้างความตระหนักรู้ในโรคดังกล่าว สมาคมจึงมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้ 

  1. การวางแผนเชิงระบบ โดยผลักดันการสร้างและใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลระดับชาติ (national data registry) เพื่อวางแผนเพื่อการพัฒนาและสร้างตัวชี้วัดจากสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม
  2. ส่งเสริมการเข้าถึงการวินิจฉัยในระยะเวลาที่เหมาะสม และเข้าถึงการรักษา รวมถึงยานวัตกรรมที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านมอย่างเท่าเทียมตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะระยะเริ่มต้น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการกลับมาเกิดซ้ำของโรค และยังช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ และลดการแออัดในโรงพยาบาลได้อีกด้วย
  3. พัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยมะเร็งโดยองค์รวมที่สามารถดำเนินการได้จริงให้ได้ตามมาตรฐานสากล ไปพร้อมกับการพัฒนาแนวทางการดูแลรักษาระดับชาติ และการเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ

ส่วนของมะเร็งปากมดลูก รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาล และเป็นไปตามเป้าหมายขององค์กรอนามัยโลก (WHO) ในการกำจัดมะเร็งปากมดลูกให้หมดสิ้นไปภายในปี 2030 ดังนั้น การดำเนินการตามสองมาตรการที่สำคัญนั้นคือ 

  1. การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้ได้เกิน 70% ด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV (primary HPV screening) ซึ่งการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตัวเอง (HPV Self-Sampling) สามารถที่จะเติมเต็มและขยายวงการตรวจการคัดกรองให้กว้างขึ้นได้ 
  2. การฉีดวัคซีน HPV ให้กับกลุ่มเป้าหมายเด็กผู้หญิงวัย 11-12 ปี อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาได้ชี้แล้วว่าการฉีดวัคซีน HPV ให้กับเด็กหญิงในวัยเกิน 12 ปี ตั้งแต่ 13-26 ปี ก็จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่สำคัญได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น ประกอบกับมีประโยชน์และมีความคุ้มค่ามาก ในอันดับต่อไปอาจจะพิจารณาฉีดในเด็กผู้ชายด้วย

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงแนวทางในการจัดการปัญหาโรคมะเร็งสตรีร่วมกับทุกภาคส่วนตั้งแต่การให้ความรู้ประชาชนผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ (กปท.) การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีแก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และกำลังจะขยายไปในกลุ่มอายุ 11-20 ปีตามนโยบายของรัฐบาล ด้านการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA test ผู้หญิงไทยสามารถเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตัวเอง (HPV Self-Sampling) หรือไปรับบริการที่หน่วยบริการใกล้บ้านก็ได้

สำหรับการคัดกรองมะเร็งเต้านม คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เพิ่ม “บริการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2” ให้กับหญิงไทยอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูง และญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา และการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องแมมโมแกรมตามความเสี่ยงกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความพร้อมของระบบบริการ

ในด้านการรักษาโรคมะเร็ง สปสช. ได้ประกาศให้ประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) สามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ (CA anywhere) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยมะเร็ง นอกจากนี้ สปสช. กำลังทำงานร่วมกับคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ในการเพิ่มรายการยารักษามะเร็งที่เป็นยาชีววัตถุ หรือยามุ่งเป้าที่มีประสิทธิผลดีเข้ามาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เบื้องต้นที่ใกล้ความเป็นจริงเป็นยารักษามะเร็งเต้านมระยะลุกลามที่ช่วยให้โรคสงบได้กว่า 5 ปี

"สปสช.ดูแลตั้งแต่ส่งเสริมป้องกันโรค รักษา และดูแลระยะท้ายด้วย โดยโรคมะเร็งปากมดลูก ครึ่งหนึ่งของคนไข้มาช้า การตรวจคัดกรองก่อนเกิดโรคจึงดีกว่า เมื่อคัดกรองพบว่าเป็นโรคมะเร็ง ก็จะเข้าสู่การรักษาให้เร็วที่สุด ในแง่ของสิทธิประโยชน์ มั่นใจว่ามีความพร้อม เลือกยาให้อย่างเหมาะสม รวมถึงเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ ส่วนโรคมะเร็งเต้านม แนะนำให้ตรวจเต้านมด้วยตัวเอง หากคลำแล้วพบความผิดปกติควรมาพบแพทย์" นพ.จเด็จ กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : สธ.ผลักดัน Quick Win ฉีดวัคซีน HPV ผู้หญิง 11–20 ปี 1 ล้านคน พ.ย.นี้

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง