ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่มาการเคลื่อนไหวดัน ‘สวัสดิการเงินคนวัยเกษียณ’  3,000 บาท/คน/เดือน จากปัจจุบันเบี้ยยังชีพ 600-1,000 บาท เพราะอะไรต้องขับเคลื่อน ขณะที่ภาคประชาชนล่ารายชื่อตั้ง “กองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” ขอแรงหนุนจากรัฐบาล ขณะที่ “พรรคก้าวไกล” ยังรับลูก ตอบคำถามสิทธิ์ข้าราชการได้รับเงินสวัสดิการฯร่วมกับเงินบำนาญถ้วนหน้าหรือไม่   

 

“แก่ตัวไป..ไม่มีลูกไม่มีหลาน เงินสวัสดิการของรัฐจะเพียงพอจริงหรือ..”

“เกษียณแล้ว..แต่ยังมีหนี้ ยังต้องกินต้องใช้ ต้องหารายได้ทางไหน”

“สังคมผู้สูงอายุ แต่เงินค่าครองชีพคนชรากลับไม่เพียงพอจะทำยังไง..”

...ตัวอย่างคำถามของคนวัยทำงานที่ในอีกไม่เกิน 20-30 ปีข้างหน้าต้องกลายเป็นผู้เกษียณ แต่เกิดข้อกังวลว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่รัฐบาลให้ตั้งแต่ 600-1,000 บาทต่อเดือนในแต่ละช่วงอายุจะเพียงพอจริงหรือ ส่วนกรณีเงินชราภาพกองทุนประกันสังคม เป็นเงินออมของผู้ประกันตนกับบริษัท ผู้ประกอบการ แต่รัฐไม่ได้อุดหนุน จึงถูกตั้งคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐจะให้ความสำคัญกับสวัสดิการพื้นฐาน โดยเฉพาะเงินบำนาญชราภาพให้กับคนไทยทุกคนทุกสิทธิ์ หรือที่มีการเรียกร้อง “เงินกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” นั่นเอง

“การผลักดันเงินบำนาญพื้นฐาน มาจากแนวคิดที่ว่า “ทุกคนควรมีสิทธิ์ได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างถ้วนหน้าทุกคน ไม่จำกัดว่า คนนี้บัตรทอง ข้าราชการ หรือประกันสังคม โดยพื้นฐานต้องให้พวกเขาเมื่อแก่ชรา เบื้องต้นเราตั้งกรอบไว้ 3,000 บาทต่อเดือน นำมาจากการคำนวณเส้นความยากจนของสภาพัฒนฯ ซึ่งตัวเลขนี้ยังมีการศึกษาในเวที “เปิดงานวิจัยโครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ว่า งบเงินกองทุนบำนาญถ้วนหน้าปีละ 4 แสนล้านบาท จะส่งผลให้จีดีพีโต 4.17 % เพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 7 แสนล้านบาท ใน 5 ปี”  ถ้อยคำของ นายนิมิตร์ เทียนอุดม  ที่ปรึกษาผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (AIDS Access) ในฐานะผู้ขับเคลื่อนการจัดตั้งกองทุนบำนาญพื้นฐานฯ  

โดยสำนักข่าวออนไลน์ Hfocus มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “นายนิมิตร์ เทียนอุดม” ถึงการผลักดันเรื่องดังกล่าว สืบเนื่องจากประเด็นเงินบำนาญถ้วนหน้า มีการผลักดันกันมาก่อนหน้านี้ แต่ดูเหมือนว่า ภาครัฐยังไม่มีการสนับสนุนมากพอ ทำให้กองทุนนี้ยังไม่ถึงฝั่งฝัน ทั้งๆที่เป็นสวัสดิการพื้นฐาน ที่คนทำงานทุกคนจะได้รับเมื่อเกษียณอายุ ยิ่งเบี้ยยังชีพคนชราที่ได้ทุกวันนี้ 600-1,000 บาทต่อเดือน ไม่เพียงพอต่อการจับจ่ายใช้สอยอย่างแน่นอน

ที่มาของการผลักดันเงินบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือนต่อคน

นายนิมิตร์ เล่าที่มาจากการผลักดันเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาโดยตลอด ซึ่งตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ แต่เรื่องอื่นๆ เราพบว่า ยังเป็นปัญหา อย่างคนอายุ 60 ปี โจทย์ใหญ่คือ พวกเขาไม่มีรายได้ เขาจะอยู่อย่างไรกับเบี้ยยังชีพ 600 บาท จึงคิดว่า ควรขยับขึ้นมา และให้เกิดหลักประกันด้านรายได้ โดยเอาเกณฑ์มาจากเส้นความยากจนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  โดยระบุว่าคนจะอยู่อย่างไม่ยากลำบากในแต่ละเดือน ควรมีเงินประมาณ 2,800  บาท  เราจึงคิดว่าเบี้ยยังชีพที่รัฐบาลจ่ายให้แก่คนสูงอายุทุกคน ซึ่งไม่เคยขยับขึ้นมานาน จะมีกลไกใดมาช่วยมากกว่านี้  จึงคิดว่าถึงเวลาต้องแก้ไข และต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาเฉพาะ 1 ชุด จากเดิมคณะกรรมการนี่จะอยู่ในพ.รบ.ผู้สูงอายุ ซึ่งดูทุกเรื่อง ไม่ได้ตอบโจทย์อย่างแท้จริง อีกทั้ง ยังเป็นกลไกทางการเมือง แม้จะมีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เป็นผู้ดูแล แต่ก็จะขึ้นอยู่กับนโยบายพรรค นโยบายรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร

“สมัยคุณชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีรจ่ายเบี้ยยังชีพแค่ 300 บาทต่อเดือน และมาเพิ่มในในสมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เพิ่มจากเดิม 300 บาท เป็น 500 บาทต่อคนต่อเดือน แต่ก็ยังจ่ายเฉพาะคนจน จึงมีการขับเคลื่อนตอนสมัยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ว่า ควรมีพ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานแห่งชาติ มีการระดมรายชื่อ แต่รัฐบาลขณะนั้นไม่เอา แต่เห็นว่าควรไปทำกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) โดยชวนให้คนไทยออมเงินแทน เงินจะได้ 600 บาท แต่ต้องออมตั้งแต่อายุ 15 ปี พอเข้าทำงานมีสิทธิประกันสังคมก็ออมไม่ได้อยู่ดี เพราะรัฐมองซ้ำซ้อน พวกเราก็พยายามขับเคลื่อน โดยคุณอภิสิทธิ์ก็มีการขับเคลื่อนบ้าง จากให้คนจนก็เป็นทุกคนมีสิทธิ์ออม”

ทางเครือข่ายฯ ก็ยังไม่ยอมแพ้ เพราะมองว่าเงินบำนาญควรได้แบบถ้วนหน้า มีการเคลื่อนไหวมาตลอด แต่มาหยุดช่วงสมัยมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้ต้องหยุดการเคลื่อนไหว จนกระทั่งเกิดสภาฯ ขึ้นในปี 2562 เครือข่ายได้ขับเคลื่อนอีกครั้งว่า  ควรแก้ไขกฎหมายผู้สูงอายุตรงนี้ ให้เป็นพ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ และควรมีคณะกรรมการเฉพาะ เนื่องจากงบประมาณต้องใช้ปีละราว 4 แสนล้านบาท ครอบคลุมคนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปได้คนละ 3,000 บาทต่อเดือน

คณะกรรมการชุดนี้ควรดูทั้งหมดเกี่ยวกับเงินบำนาญ โดยแยกรายละเอียดแต่ละกองทุน อย่างกองทุนเงินบำนาญข้าราชการก็จะเป็นอีกส่วน กองทุนบำนาญพื้นฐานก็แยกอีกสวน  ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ภายใต้คณะกรรมการพื้นฐานแห่งชาติจะดูแลร่วมกัน โดยจะมีการตั้งกรรมการให้มีสัดส่วนชัดเจน มีวัตถุประสงค์ชัดเจน มีการปรับเพิ่มบำนาญให้สอดคล้องในแต่ละปี ไม่ใช่ปล่อยให้นักการเมืองนำมาหาเสียงแต่ละครั้งในการเลือกตั้ง

ภาพจากเฟซบุก บำนาญแห่งชาติ

จากจุดเริ่มจนกระทั่งกลายเป็นข้อเสนอของภาคประชาชน ในการจัดทำร่างพ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ.2562 ได้เสนอเข้าสู่สภาฯเพื่อพิจารณา แต่เนื่องจากกฎหมายนี้เป็นกฎหมายการเงินจึงต้องให้นายกรัฐมนตรี รับทราบ รับรองก่อนให้ทางสภาฯ พิจารณา แต่สุดท้ายกฎหมายก็ยังดองอยู่ เพราะนายกฯ ยังไม่รับรองเกือบ 1-2 ปี กลายเป็นตกไปในสภา  เครือข่ายประชาชนยังไม่ยอมหยุดแค่นั้น ได้ขับเคลื่อนด้วยการยื่นต่อคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคมของสภาฯ โดยมีน.ส.รังสิมา รอดรัศมี เป็นประธาน และมีนายสมศักดิ์ คุณเงิน เป็นประธานอนุกรรมาธิการชุดนี้  ให้สนับสนุนร่างประชาชน โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการศึกษาความเป็นไปได้ว่า หากสภาจะพิจารณาควรต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างไร

ในที่สุดมีการขับเคลื่อนจนได้ออกมาเป็นร่างแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ  แต่ก็ยังไม่ได้มีการพิจารณา เพราะมีการยุบสภาเริ่มต้นกันใหม่...

ล่ารายชื่อเดินหน้ากฎหมาย “กองทุนบำนาญพื้นฐาน” เงินคนวัยเกษียณทุกคน

“ขณะนี้ภาคประชาชนได้นำร่างพ.ร.บ.ฉบับของคณะกรรมาธิการที่ศึกษาเสร็จแล้ว นำมาปรับเล็กน้อย และอยู่ระหว่างระดมล่ารายชื่อ 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอต่อสภาฯ อีกครั้งหนึ่ง”

เตรียมพบ “ชลน่าน” พรรคเพื่อไทยผลักดันกองทุนบำนาญฯ

นายนิมิตร์ เล่าเพิ่มเติมว่า จริงๆ ภาคประชาชนเราเคยไปคุยกับพรรคฝ่ายค้าน อย่างก้าวไกล เคยคุยกันมาก่อน เห็นด้วยกับหลักการ เพียงแต่มองว่าอาจต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะพรรคก้าวไกลมองว่างบประมาณค่อนข้างมากปีละ 4 แสนกว่าล้าน เนื่องจากเราคำนวณจากผู้สูงอายุ 60ปีขึ้นไป มี 11 ล้านคน ส่วนพรรคอื่นๆ ขณะนี้เรากำลังทำเรื่องขอเข้าพบ โดยเฉพาะรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทย เบื้องต้นอยู่ระหว่างประสาน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งอยู่ระหว่างประสานงาน”

เพราะอะไรตั้งหลักเงินบำนาญต้อง 3,000 บาทต่อเดือน

ตัวเลขมาจากเส้นความยากจนของสภาพัฒน์  นำมาตอนปี 2562 อยู่ที่ 2,800 แต่เราขยับเป็น 3 พันบาท เพื่อให้เห็นภาพว่า จะใช้ตัวเลขไหน แต่ตอนนี้เส้นความยากจนขยับไป 3 พันกว่าบาทแล้ว หากมีโอกาสเข้าสภา ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งตัวเลขของสภาพัฒนฯ เขาทำเส้นความยากจน ไม่ได้เฉพาะผู้สูงอายุ แต่เรานำมาเสนอในแง่เงินบำนาญผู้สูงอายุ เนื่องจากคนวัยเกษียณที่ไม่มีรายได้เลย ไม่ได้ทำงาน ก็ควรมีรายได้ที่ขยับเส้นความยากจนสักนิดหนึ่ง เพื่อใช้ดำรงชีวิตได้ โดยพวกเราใช้เกณฑ์ว่า ให้แก่คนไทยอายุ 60 ปีขึ้นไปแบบถ้วนหน้า ไม่ได้เฉพาะว่า ต้องสิทธิไหน เราเน้นถ้วนหน้าเป็นหลัก

ขรก.เกษียณได้สิทธิ์เลือกรับบำนาญหรือเงินสวัสดิการถ้วนหน้า

หลักการเราเน้นถ้วนหน้า แต่ฉบับร่างของคณะกรรมาธิการฯ ก็จะเขียนไว้ว่า ส่วนของสิทธิข้าราชการให้เลือกว่า ควรใช้สิทธิแบบไหน บำนาญข้าราชการหรือบำนาญถ้วนหน้า แต่ภาคประชาชนเราเน้นถ้วนหน้า เพราะเราไม่ตัดสิทธิใคร

ผู้ประกันตนได้สิทธิ์รับเงินกองทุนบำนาญเช่นกัน 

ประกันสังคมก็มีสิทธิได้เช่นกัน เพราะประกันสังคมเงินที่ได้เป็นเงินออมของเขาเองกับบริษัท แต่รัฐไม่ได้ช่วย ซึ่งคนละส่วน ดังนั้น เงินบำนาญถ้วนหน้าก็มีสิทธิได้เช่นกัน

งบประมาณบำนาญพื้นฐานฯ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แค่ตำบลเดียวทำการเงินหมุนเวียนแล้ว

การใช้งบ 4 แสนล้านบาทกระตุ้นเศรษฐกิจได้ใช่หรือไม่ นายนิมิตร์ กล่าวทิ้งท้ายประเด็นนี้ ว่า ใช่ คิดง่ายๆ ในหนึ่งตำบล หากมีผู้สูงอายุ 150 คน นำมาคูณ 3000 บาท ก็จะอยู่ที่ 4.5 แสนบาทต่อเดือน ซึ่ง 90%จะใช้เงิน เท่ากับร้านค้า ชุมชนท้องถิ่นจะมีกระแสเงินสดไหลเข้าไป โดยมีเงินสดเข้าไป โดยไม่ต้องใช้บัตรแลกอะไรเลย เป็นการใส่เงินสดเข้าไปในมือคน 11 ล้านคน นี่คือการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดเจน ตรงนี้จีดีพีจะโตขึ้นแน่นอน

 

มารอลุ้นว่า สุดท้ายแล้วจะผลักดันเงินกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ อีกทางเลือกเงินครองชีพผู้สูงอายุ นอกจากเบี้ยยังชีพปัจจุบัน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำหนังสือส่งถึงนายนิมิตร์ เทียนอุดม ใจความระบุว่า  ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้วินิจฉัยร่างพ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. ...  มีหลักการเป็นไปตามสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย สำนักงานเลขาธิการฯ จึงส่งสำเนาร่างพ.ร.บ.ฯ เพื่อให้ท่านเป็นผู้เชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนอื่นให้ร่วมเข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2564 

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : 

-"หมอประเวศ" เผยแจกงานดีกว่าแจกเงิน ดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท หวั่นทำคนไทยเป็นหนี้หัวโต

-เปิดผลศึกษาบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท กระตุ้นจีดีพี 4% ช่วยค่าครองชีพผู้สูงวัย-ขรก.บำนาญ