ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ สภาผู้บริโภค จี้รัฐบาลจัดการความจนได้จริง ต้อแปลงเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท เป็นสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า – เงินบำนาญผู้สูงอายุ เพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน

             

หลังจากรัฐบาลเศรษฐาได้ประกาศใช้งบประมาณมากถึง 560,000 ล้านบาทเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเลตแจกเงินจำนวน 10,000 บาทให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากเครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาชนถึงการผลักดันนโยบายด้านสวัสดิการ รวมทั้งเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่โรงแรม ทีเค พาเลซ คอนเวนชั่น สภาผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดเวทีสาธารณะ “การบ้านรัฐสวัสดิการในรัฐบาลเศรษฐา”  

รศ.ดร.ชัยรัตน์ เอี่ยมกุลวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวคิดเรื่องสวัสดิการของรัฐบาลชุดปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งสมัยที่เป็นรัฐบาลไทยรักไทยไม่เคยมีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องรัฐสวัสดิการ ทั้งเรื่องการให้สวัสดิการผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า การสนับสนุนเงินให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีที่ยากจนและต้องการเงินช่วยเหลือจากรัฐ ทั้งที่จัดสรรเงินการช่วยเหลือเด็กและผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากคนกลุ่มดังกล่าวถือเป็นกลุ่มเปราะบางหรือค่อนข้างที่จะมีรายได้ต่ำซึ่งต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ

“ควรพิจารณาปรับการใช้งบประมาณ 560,000 ล้านบาท นำไปแจกให้กับเด็กและผู้สูงอายุ เพราะกลุ่มผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีมีรายได้และการออมกว่าต่ำค่าเฉลี่ยของคนในประเทศ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณ 450,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 1 ปี และคาดว่าเศรษฐกิจจะมีการเติบโตมากกว่าการแจก 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต” รศ. ดร. ชัยรัตน์กล่าว

รศ.ดร.ชัยรัตน์ กล่าวอีกว่า คนที่รายได้ค่อนข้างต่ำมีแนวโน้นจะใช้เงินเพื่อบริโภคทันทีในสัดส่วนที่สูงมาก ซึ่งจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าแจกคนละ 10,000 บาทที่มีบางส่วนไม่นำไปจับจ่ายทันที อีกทั้งยังเห็นว่าจะทำให้ได้กลุ่มที่เดือดร้อนจริง ๆ

รศ.ดร.ชัยรัตน์ เอี่ยมกุลวัฒน์

 

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า จากการวิเคราะห์นโยบายของพรรคเพื่อไทยพบว่า นโยบายเรื่องรัฐสวัสดิการไม่ใช่ ‘นโยบายเรือธง’ ของพรรค เนื่องจากพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจ เพราะเห็นว่าถ้าเศรษฐกิจดีคุณภาพชีวิตของทุกคนจะดีขึ้นด้วย ดังนั้น อาจจะต้องใช้ระยะเวลา 1 ปีหรือมากกว่า เพื่อดูว่าหากเศรษฐกิจดีขึ้นพรรคจะให้ความสำคัญกับนโยบายเรื่องรัฐสวัสดิการเพิ่มขึ้นหรือไม่

อย่างไรก็ตาม แม้พรรคเพื่อไทยจะเคยออกนโยบายเรื่องบัตรทอง ทำให้คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าพรรคเพื่อไทยสนับสนุนเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้า แต่หากวิเคราะห์ลึกลงไปเรื่องรูปแบบของสวัสดิการแล้ว จะพบว่าพรรคเพื่อไทยมีจุดยืนไม่ชัดเจนว่าขับเคลื่อนระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้า หรือสวัสดิการแบบเจาะจง เช่น บำนาญผู้สูงอายุ เงินสนับสนุนการศึกษา เป็นต้น

              “ผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยดูจังหวะว่าเมื่อไหร่ควรจะเป็นถ้วนหน้า เมื่อไหร่ควรจะเป็นเจาะจง ขึ้นอยู่กับว่าผลตอบแทนทางการเมือง อะไรได้ผลประโยชน์สูงสุดสำหรับเขา จะสังเกตว่านโยบายเลือกตั้งไม่ได้มีการระบุว่าจะไปทางไหนกันแน่ เรื่องเบี้ยยังชีพก็ยังไม่ชัดเจน แม้กระทั่งปัจจุบันที่ได้เป็นรัฐบาลแล้ว แต่พรรคเพื่อไทยไม่ได้พูดถึงนโยบายสวัสดิการเลย อย่างน้อยอาจจะไม่พูดไปอีก 1 – 2 ปี เพราะไม่มีเงินแล้ว” ดร.สมชัยกล่าว

ดร.สมชัย แสดงความเห็นว่า หากจะเดินหน้านโยบายสวัสดิการต้องปฏิรูประบบภาษีเพื่อนำเงินเข้ารัฐให้ได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุจึงต้องคิดเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยอาจจะไม่ใช้แนวทางดังกล่าวเพราะเกรงว่าจะกระทบต่อกลุ่มทุน อีกทั้งพรรควิสัยทัศน์เรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยมองว่าหากทำให้เศรษฐกิจเติบโตจะสามารถแก้ปัญหาได้ โดยไม่ต้องขึ้นภาษี และสามารถตอบโจทย์ทุกเรื่องได้

             

ดร.สมชัย จิตสุชน

 

 

ด้านนายนิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่าย We Fair กล่าวว่า ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ (P-move) ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเศรษฐา โดย 1 ใน 10 ข้อเสนอมีเรื่องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าโดยมี 9 ประเด็นสำหรับชุดข้อเสนอสวัสดิการถ้วนหน้า ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ครอบคลุมเรื่องเด็ก การศึกษา สุขภาพ ที่อยู่อาศัย แรงงาน ประกันสังคม บำนาญ สวัสดิการเสมอหน้าเท่าเทียมเกี่ยวกับเรื่องคนพิการ การเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ให้สำหรับคนข้ามเพศ และการปฏิรูประบบภาษีและงบประมาณ

ทั้งนี้ที่ผ่านมาเครือข่าย We Fair ได้ยื่นการบ้านรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับพรรคการเมืองทั้งหมด 14 พรรค ซึ่งขณะนี้คาดว่าพรรคการเมืองหลายพรรคกำลังถกเถียงกับผู้สมัครนายกของพรรคตัวเอง เนื่องจากตอนลงสมัครหาเสียงไว้หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องรัฐสวัสดิการ แต่พอมาเป็นนโยบายรัฐบาลกลับไม่ได้ระบุชัดเจน พอย้อนไปดูนโยบายรัฐบาลสมัยยิ่งลักษณ์เปรียบเทียบกับนโยบายปัจจุบัน จะเห็นว่านโยบายสมัยยิ่งลักษณ์ได้ระบุไว้ว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประมาณ 600 - 1,000 บาทและนโยบายค่าแรง 300 บาท แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันยังไม่ได้ระบุตัวเลขที่ชัดเจนใด ๆ ทั้งสิ้น            

ส่วนประเด็นเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นิติรัฐ กล่าวว่า ปัจจุบันเส้นความยากจน หรือเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อวัดความยากจนต่อคนต่อเดือน อยู่ที่ 2,803 บาท แต่คนจนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศมีทั้งหมดประมาณ 4.4 ล้านคน และมีคนเกือบจนอีก 4.8 ล้านคน เหล่านีเคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เครือข่าย We Fair จึงเสนอให้รัฐจัดสวัสดิการผู้สูงอายุที่ 3,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้มากกว่าเส้นความยากจน            

นายนิติรัฐ กล่าวอีกว่า ดิจิทัลวอลเลตมักถูกเชื่อมโยงกับแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่เจตจำนงค์ของดิจิทัลวอลเลตนั้นไม่ใช่การแก้ความเหลื่อมล้ำ แต่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำไปได้บ้าง แต่ก็ไม่มากเท่านโยบายที่จะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างแท้จริง             

“ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนมีประมาณร้อยละ 90 ของจีดีพี ขณะที่ตอนนี้เรามีเศรษฐี 40 ครอบครัว ที่มีทรัพย์สินคิดเป็นร้อยละ 28 ของจีดีพีทั้งประเทศ สิ่งเหล่านี้เกิดจากนโยบายเศรษฐกิจทุนนิยม แต่ตอนนี้เรือธงของพรรคเพื่อไทยก็คือจะใช้สิ่งที่เป็นความล้มเหลวมาตลอดคือ รวยกระจุกจนกระจายมาผลิตซ้ำ ผมคิดว่าเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเป็นปัญหา เราต้องมาดูเศรษฐศาสตร์ที่ควบคู่กับไปเรื่องการสร้างรัฐสวัสดิการ” นายนิติรัฐกล่าว

             นายนิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์

นายนิติรัฐ กล่าวต่อไปว่า การให้บำนาญผู้สูงอายุ 3,000 บาท ใช้งบประมาณอย่างมาก 300,000 - 400,000 ล้านบาทต่อปี และจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทุกเดือน เดือนละประมาณ 30,000 ล้านบาททันที นอกจากนี้ยังส่งผลให้แรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นลูกหลานซึ่งต้องดูแลผู้สูงอายุไม่ต้องทำงานล่วงเวลา หากสมมติว่าได้ค่าแรงชั่วโมงละ 100 บาท จะมีเวลาอยู่กับบุตรหลาน หรือคนในครอบครัวมากขึ้นอย่างน้อย 30 ชั่วโมง นี่คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง

ถ้ามีเงิน 560,000 ล้านบาทตั้งเป็นหลัก เราจะได้สวัสดิการถ้วนหน้า 3 อย่างทันทีได้แก่ 1. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประมาณ 11 ล้านคน 2. เงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า 4.2 ล้านคน 3. สวัสดิการเงินอุดหนุนผู้พิการ และเมื่อมีการเกิด เด็กที่เกิดมาจะได้ 3,000 บาทถ้วนหน้า ตอนนี้อัตราการเกิดของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 500,000 คน ซึ่งต่ำกว่าอัตราการตายของประชากร เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับสามกลุ่มประชากรนี้อย่างถ้วนหน้าทันทีด้วยงบประมาณ 560,000 ล้านบาท ซึ่งนิติรัฐชี้ว่า ในระยะเริ่มต้นอาจจะปรับเป็นการจ่ายถ้วนหน้าในปีแรก 1,000 บาทต่อเดือนในทุกกลุ่ม ซึ่งจะทำให้รัฐมีเงินเหลืออีก 12,000 ล้าน ซึ่งอาจนำไปเพิ่มในส่วนงบประมาณรายหัวให้กับผู้รับสิทธิบัตรทองได้ด้วย

             

ส่วน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ประเด็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรต้องหารือกับรัฐบาล เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีนี้อาจจะดูเหมือนว่าทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้นจริง แต่ในความเป็นจริงวิธีการใช้เงินของประชาชนหากได้เงิน 10,000 บาทที่ต้องใช้ให้หมดภายในหกเดือน เมื่อเทียบกับการที่ผู้สูงอายุได้เบี้ยยังชีพ 3,000 บาททุกเดือนนั้ จะพบว่าวิธีการใช้เงิน และการวางแผนใช้เงินก็จะต่างกัน หากประชาชนทั่วไปได้รับเงินในระยะสั้นคราวเดียว อาจจะนำไปใช้ในลักษณะที่เป็นการซื้อสินค้าที่ไม่ใช่การลงทุน แต่เป็นการไปใช้ซื้อสินค้าที่อาจจะไม่ใช่สินค้าจำเป็น

             

“แต่ถ้าเราได้ 3,000 บาททุกเดือนและเราก็จะเริ่มวางแผนว่าแต่ละเดือนเราจะมาใช้ในการบริโภค การปรับปรุงคุณภาพชีวิต หรือลงทุนอย่างไร ทั้งนี้ เรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่ควรคุยกับรัฐบาลว่าตัวเลขควรจะเป็นเท่าไรเนื่องจากไม่ได้ปรับมาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว นอกจากนี้ยังต้องยืนยันในหลักการถ้วนหน้าของผู้สูงอายุที่จะต้องได้รับโดยไม่ต้องพิสูจน์ความจน ทั้งนี้ ถึงเวลาที่นโยบายเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการควรจะออกมาเป็นกฎหมายเฉพาะแล้ว ซึ่งขณะนี้ทางพรรคก้าวไกลก็เตรียมที่จะยื่นข้อเสนอกฎหมายในเรื่องนี้” ดร.เดชรัต กล่าว

             

ด้านนายเดโชนุชิต นวลสกุล โฆษกพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า นโยบายสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้อายุ 3,000 บาทอยู่ในแนวคิดของพรรคเป็นธรรมที่ต้องทำ แต่มองไปไกลว่าจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีรายได้ โดยเชื่อว่าคนที่มีอายุ 60 ปียังสามารถทำงานได้  ส่วนตัวคิดว่าสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุนั้นเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่รัฐต้องจัดสรรให้ แต่กลับเป็นสิ่งที่รัฐไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร แต่ขณะเดียวกันหน่วยงานความมั่นคงกลับมีงบประมาณในการเหมาลำเครื่องบินพาณิชย์ปีละ100 ล้าน สำหรับบินจากภาคหนึ่งมากรุงเทพฯ ดังนั้นรัฐบาลอย่าบอกว่าไม่มีงบประมาณ เราจะมีโครงสร้างใหญ่โตจะมีอาวุธยุทโธปกรณ์มากมาย แต่ถ้าคนในประเทศเราอ่อนแอ เราจะไปสู้กับประเทศอื่นได้อย่างไร เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันถึงเวลาที่จะทวงสิทธิ์ของเราคืน ต้องเปลี่ยนแนวคิดของผู้บริหารประเทศให้เห็นความสำคัญของเรื่องสวัสดิการ 

             

สำหรับ นายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลใหม่เปลี่ยนวิธีมองกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยต้องให้ความสำคัญมากขึ้นเนื่องจากในอนาคตผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น พม. จึงอาจต้องมีขนาดใหญ่ขึ้น มีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากและรัฐบาลควรต้องจัดสรรงบประมาณและอุดหนุนเต็มที่

“ควรจัดลำดับใหม่ว่างบผู้สูงอายุควรจะอยู่ที่กระทรวง พม. ที่เดียว แล้วให้กำหนดชัดเจนมาจากสำนักงบประมาณเลย เนื่องจากตอนนี้เบี้ยผู้สูงอายุอยู่ที่มหาดไทย และต้องใช้วิธีตั้งเบิกตามช่วงเวลา ที่ให้มีปัญหาในการจัดการและพัฒนาในภาพรวม” นายสงกรานต์กล่าว

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง  

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคสนับสนุนเรื่องบำนาญถ้วนหน้าและคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากเรื่องหนึ่งที่ถูกระบุอยู่ในสิทธิผู้บริโภคสากล และเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่สำคัญคือสิทธิในการเข้าถึงการบริการที่จำเป็นในการดำรงชีวิต อย่างไรก็ตาม สิทธิดังกล่าวยังไม่ได้ถูกบรรจุเป็นสิทธิผู้บริโภคของไทย ซึ่งปัจจุบันสภาผู้บริโภคกำลังหารือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคให้รวมถึงสิทธิที่ผู้บริโภคควรจะได้รับความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็่นเรื่องที่อยู่อาศัยหรือเรื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐาน

“หลักการก็คือ เราไม่ได้ห้ามผู้สูงอายุไม่ให้ทำงาน หากผู้อายุอยากจะทำงานก็สามารถทำได้ แต่ไม่ใช่เมื่อสูงอายุแล้วยังจำเป็นต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ ถ้าอยากมีสัดส่วนผู้สูงอายุไปทำงานในหน่วยงานก็เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้ทำงาน แต่ถ้ารู้สึกว่าอายุ 60 แล้วจะไม่ทำงานและขออยู่ที่บ้าน รัฐก็ควรที่จะช่วยสนับสนุนให้มีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ” น.ส.สารี กล่าว

น.ส.สารีกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันงบประมาณแผ่นดินอยู่ที่ประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท หากจัดสรรให้ผู้สูงอายุ 12 ล้านคน คนละ 3,000 บาทก็จะใช้งบประมาณ 400,000 ล้านบาทซึ่งรัฐบาลควรจัดสรรมาให้ประมาณร้อยละ 10 ของงบประมาณแผ่นดินของทุกปีสำหรับการสร้างหลักประกันด้านรายได้ของผู้สูงอายุ

 “เราก็ตั้งคำถามว่าถ้าจริง ๆ ทุกคนมีหลักประกันด้านรายได้ของตัวเองโดยเฉพาะผู้สูงอายุคนละ 3,000 บาทสูงกว่า 2,804 บาทซึ่งเป็นเส้นความยากจน ก็น่าจะเรียกว่าเซฟตี้เนตของครอบครัว อย่างน้อยเมื่อลูกตกงานกลับไปอยู่กับพ่อแม่ได้ สร้างความมั่นคงทางรายได้ แทนที่เราจะต้องมีโครงการพิเศษหรือการใช้เงินพิเศษทุกครั้งที่เกิดปัญอย่างกรณีโควิด 19 ซึ่งเราควรจะทลายคำถามนี้นะว่าแล้วเราจะเอาเงินมาจากไหน บางคนก็บอกว่าอันนี้เป็นหน้าที่เราที่จะคิดไหมว่าเงินมาจากไหน คุณเป็นรัฐบาล คุณจะต้องคิดในเรื่องเหล่านี้ เพราะการสร้างหลักประกันให้คนเป็นเรื่องสำคัญ” น.ส.สารีกล่าว

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : 

ลุ้นนโยบายรัฐบาล หนุนแค่ไหน ‘เงินบำนาญถ้วนหน้า’ 3,000 บาทต่อเดือน ทางรอดเบี้ยยังชีพสูงอายุ

-เปิดผลศึกษาบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท กระตุ้นจีดีพี 4% ช่วยค่าครองชีพผู้สูงวัย-ขรก.บำนาญ

เครือข่ายนักวิชาการ ประชาชน จ.เชียงใหม่ ผลักดันเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า 3,000 บาท