ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ชลน่าน” กำชับทุกส่วนเกี่ยวข้องสื่อสารประชาชนเข้าใจ คืนยาลดความดัน “เออบีซาแทน” 42 รุ่นที่ อย.เรียกคืน ให้ผู้ป่วยนำมาคืน เพื่อเปลี่ยนยาใหม่ ย้ำ! ตามขั้นตอนเมื่อพบสารอาจก่ออันตรายต้องหยุดจ่ายยาผู้ป่วย เรียกคืนเปลี่ยนยา ส่วนการเยียวยาผลกระทบนั้น ยังไม่ได้มีหลักเกณฑ์รองรับแต่พร้อมนำไปพิจารณา

 

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สั่งเรียกคืนยาลดความดันโลหิตสูง “เออบีซาแทน” (Irbesartan) ที่จำหน่ายจากบริษัทผู้ผลิต เนื่องจากยาบางรุ่นการผลิต พบการปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งเอแซดบีทีในวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยา เกินเกณฑ์สากลที่ยอมรับ โดยพบว่าในไทยมีอยู่ 42 รุ่นการผลิต จาก 5 บริษัท ว่า เนื่องจาก อย.มีการตรวจพบสารตัวหนึ่งในยารักษาโรคความดัน โลหิตสูง ซึ่งเดิมเป็นสารกลุ่มที่ไม่ต้องตรวจหา แต่เมื่อตรวจแล้วพบสารดังกล่าว ซึ่งสามารถเจอได้ในกระบวนการผลิตเกิดจากการเผาไหม้ไนโตซามีน จึงถือว่าไม่ได้มาตรฐาน อยู่นอกเหนือมาตรฐาน ดังนั้น อย.จึงเรียกเก็บออกจากท้องตลาดในยาทุกตัวที่ตรวจเจอ

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าผู้ป่วยที่ถือยาตัวที่มีปัญหานั้นจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างโดยเฉพาะกรณีรักษากับโรงพยาบาลเอกชนจะสามารถเคลมได้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า  ยาที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเราให้หยุดการให้ยานั้นอยู่แล้ว จากนั้นจะมีการเฝ้าระวังอาการของกลุ่มผู้ใช้ยาว่ามีความผิดปกติใดหรือไม่ แต่ด้วยความเคารพสารก่อมะเร็งไม่ได้เห็นผลทันตา แต่ต้องติดตามในระยะยาว

ส่วนการเยียวยาเร่งด่วนนั้น ยังไม่ได้มีหลักเกณฑ์วิธีการใดรองรับเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่  กระทรวงสาธารณสุขจะให้ความสำคัญและนำไปรีบพิจารณา ว่าจะมีการชดเชยเยียวยาอย่างไรให้สมเหตุสมผล ทั้งมิติด้านสุขภาพ และมิติเศรษฐกิจ เบื้องต้นผู้ใช้ยาดังกล่าวสามารถถือยาไปเปลี่ยนกับโรงพยาบาลได้ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่รักษาอยู่เดิม เนื่องจากจะได้มีข้อมูลในการรักษาอยู่แล้ว จะได้ทำการเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสม

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะให้อสม.ลงพื้นที่ไปชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราเน้นทุกระบบ ทุกระดับ ทั้งการเผยแพร่ทั่วไปและการแจ้งผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล ตำบลและหมู่บ้านเพื่อให้ทราบและเข้าใจกันอย่างทั่วถึง

 

ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทนเลขาธิการอย. กล่าวว่า จากการตรวจแหล่งผลิตมีอยู่ 5 บริษัท 42 รุ่นการผลิต ซึ่งสั่งให้มีการเรียกเก็บคืน ส่วนผู้ป่วยที่ถือยาในล็อตที่เป็นปัญหาดังกล่าว ก็ขอให้นำยาไปยังโรงพยาบาลเพื่อขอเปลี่ยนตัวยารักษาโรคให้เป็นตัวใหม่ โดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบในการขาดยา ส่วนตัวเลขที่กระจายสู่ท้องตลาดนั้น ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่จะเร่งเก็บคืนออกมาให้หมดโดยเร็ว