ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช.- พร้อมด้วยภาคี  แลกเปลี่ยนสะท้อนมุมมอง “เชิงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนกองทนุหลักประกันสุขภาพ กทม. ”สะท้อนปัญหา-แนวทางแก้ไขระบบสุขภาพเขตเมืองในพื้นที่ กทม. ขับเคลื่อนเป้าหมายสู่ความสําเร็จเพื่อกําหนดกลยุทธ์ในการทํางาน และเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน-อสส. ดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น 

เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมแลกเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ณ ห้องประชุม Rainbow 1 โรงแรมใบหยกสกาย เขตราชเทวี ซึ่งการประชุมแลกเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานครครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเสริมบทบาทและสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร พัฒนารูปแบบวิธีคิดและกรอบการดำเนินงานของกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

และพัฒนาความร่วมมือองค์กรภาคีเครือข่าย ในการร่วมเป็นหุ้นส่วนขับเคลื่อนงานกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานครสู่พี่น้องประชาชน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 55 คน ประกอบด้วย กรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร 31 คน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) รวม 19 คน และวิทยากรกระบวนการ 5 คน

ซึ่งในหัวข้อเรื่อง แลกเปลี่ยนสะท้อนมุมมอง “เชิงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนกองทนุหลักประกันสุขภาพ กรงุเทพมหานคร” ดําเนินการโดย ทีม Thai Health Academ เป็นการชวนภาคีเครือข่ายคิดต่อยอดเพื่อหาทางออกของปัญหา ที่จะนำไปสู่แนวทางการทำงานและขับเคลื่อนระบบสุขภาพ กทม. ผ่านการสังเคราะห์ตามกลุ่มเชิงประเด็น โดย ดร.บุษบงก์ วิเศษพลชัย ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาศักยภาพ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า เนื่องจากสถาบันฯ รับผิดชอบเรื่องการพัฒนาศักยภาพระบบสุขภาพ กทม. เพื่อเปลี่ยนโฉมสุขภาพคนในกรุงเทพมหานคร เพราะจริงๆแล้วพลังที่เข้มแข็งที่สุดในการดูแลสุขภาพคือประชาชนในกทม. ฉะนั้นเรื่องสุขภาพคนในชุมชนจะรู้ดีที่สุด วันนี้เลยมีการจัดกิจกรรมระดมความคิดเห็นและพบว่ามีประเด็นสำคัญมากมายที่เราเห็น ซึ่งถ้าเป็นภาครัฐนั่งทำงานอยู่จะไม่มีวันเข้าใจสิ่งนี้เพราะไม่ได้อยู่ในภาคสนามและไม่มีประสบการณ์แบบที่ประชาชนเขามี ฉะนั้นความเห็นจะต้องมาจากประชาชนเสียงประชาชนจะต้องดังมากกว่าเสียงภาครัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้จึงมีส่วนทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้น

ด้าน นางวิศัลย์สิริ ตันตระกูล ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) กล่าวว่า สำหรับบุคลากรด้านสุขภาพที่ภาครัฐมักบอกว่ามีไม่เพียงพอ ในเมื่อ กทม. บริหารเอง จัดเก็บภาษีโดยไม่ได้เข้าคลัง เหตุใดจึงไม่จัดการให้มีบุคลากรอย่างเพียงพอ ทั้งที่มีแหล่งผลิตชั้นนำอยู่มากมาย เหตุใดจึงไม่ส่งเสริมให้คนเข้าไปเรียน ตัวอย่างเช่นลูกหลานของ อสส. ที่เสียสละทำงานอาสา หลายคนเรียนดีมีเกรดสูง กทม.จึงน่าจะสนับสนุนและลงทุนให้ลูกหลานของเขาได้เข้าเรียน พอจบแล้วก็ออกมาใช้ทุน เช่นเดียวกับในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตามโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ส่วนมากก็มักเป็นลูกหลานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

นางวิศัลย์สิริ กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ผ่านมาก็พบว่า กทม. มักไม่ค่อยให้ความไว้วางใจ หรือใช้ประโยชน์ของ อสส. ในการทำหน้าที่มากเท่าที่ควร ฉะนั้นผู้ว่าราชการคนใหม่ก็ควรจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญในด้านของการส่งเสริมป้องกันโรค ให้ภาคประชาชน สังคม ชุมชน ตลอดจนเอกชนต่างๆ มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมสุขภาพดีให้กับคน กทม. รวมทั้งสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ามาสมัครเป็น อสส. เพิ่มมากขึ้น