ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการสนับสนุนและติดตามการดำเนินงานเพื่อหยุดปัญหาพยาธิใบไม้ตับ-มะเร็งท่อน้ำดี ร่วมประชุมนัดแรก วางกรอบ Quick Win 100 วัน คัดกรองกลุ่มเสี่ยง 1 แสนราย พร้อมสานต่อยุทธศาสตร์-สร้างเครือข่ายชุมชนภายใน 1 ปี ก่อนผลักดันการตรวจ-รักษาเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันฯ ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นภายใน 3 ปี คาดยุติปัญหาได้เด็ดขาดภายในทศวรรษนี้

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2566 นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสนับสนุนและติดตามการดำเนินงานเพื่อหยุดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ครั้งที่ 1/2566 ซึ่งมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบกรอบแนวทางการดำเนินงานฯ ใน ระยะ 100 วัน, 1 ปี และ 3 ปี พร้อมเตรียมการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำ Road Map การขับเคลื่อนต่อไป

นพ.วิชัย เปิดเผยว่า ปัญหาพยาธิใบไม้ตับ ถือเป็นมหากาพย์ด้านสุขภาพที่มีมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ที่พบการบันทึกครั้งแรกย้อนไปเมื่อกว่าร้อยปีก่อน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีความพยายามกวาดล้างหลายครั้ง แต่ยังไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตามในช่วงระยะหลังที่มีการศึกษาวิจัยและได้ค้นพบความรู้ใหม่ ที่เชื่อว่าจะเป็นจุดพลิกผันสำคัญต่อการควบคุมโรค คือนวัตกรรมการตรวจคัดกรองโรค จากเดิมที่ต้องตรวจในอุจจาระ ซึ่งมีความยากและมีความไว (sensitivity) ต่ำ แต่ปัจจุบันสามารถตรวจได้จากปัสสาวะ ที่ทำได้ง่ายเหมือนกับการใช้ชุดตรวจ ATK ช่วยให้ตรวจพบได้เร็วขึ้น ซึ่งนำมาสู่การควบคุมและรักษาโรคได้ดียิ่งขึ้น

“โรคแทรกซ้อนที่สำคัญจากพยาธิใบไม้ตับ คือมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งหากตรวจพบเร็ว รักษาเร็ว ก็สามารถหายดีได้ ขณะนี้จึงเป็นโอกาสที่เราจะควบคุมโรคได้ดีขึ้น และติดตามรณรงค์เรื่องนี้ให้เกิดความสำเร็จ สามารถบรรลุเป้าหมายในการยุติปัญหาได้ จึงเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการฯ ชุดนี้ขึ้น เพื่อรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านสุขภาพ การศึกษา การวิจัย ไปจนถึงท้องถิ่น เข้ามาร่วมวิเคราะห์ปัญหา กำหนดแผนดำเนินการ และขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป” นพ.วิชัย กล่าว

นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงและรักษาราชการแทนรองปลัด สธ. กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นหนึ่งในนโยบายที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. ให้ความสำคัญและกำหนดเป็นนโยบายมะเร็งครบวงจร ที่ดูแลตั้งแต่การป้องกัน คัดกรอง รักษาอย่างรวดเร็ว ไปจนถึงการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย พร้อมลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วยการจัดตั้งกองทุนมะเร็ง และจัดตั้งทีมเชิงรุก หรือ CA Warrior เพื่อลดป่วย ลดตาย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

“สำหรับมะเร็งท่อน้ำดี สธ. ได้กำหนดนโยบาย Quick Win ที่ตั้งเป้าจะทำการคัดกรองพยาธิใบไม้ตับ ให้ได้ 1 แสนคน ภายใน 100 วัน เพราะหากพบผู้ป่วยได้เร็วเท่าไร ก็จะช่วยลดการสูญเสียได้มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารสุกดิบ รวมทั้งการกำจัดสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะ ซึ่ง รมว.สธ. ท่านยืนยันว่าจะให้การสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ อย่างเต็มที่ เพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญนี้ได้สำเร็จ” นพ.ภาณุมาศ กล่าว

รศ.ดร.วัชรินทร์ ลอยลม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ของโรคมะเร็งท่อน้ำดี พบว่าอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนใหญ่ทั่วโลก มีอัตราผู้ป่วยน้อยกว่า 6 รายต่อแสนประชากร หากประเทศที่สูงขึ้นมา เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน อาจอยู่ที่ 7-8 รายต่อแสนประชากร ในขณะที่ไทยนั้นมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 38 รายต่อแสนประชากร หรือสูงถึง 85 รายต่อแสนประชากรในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในโลก โดยข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไทยมีผู้ป่วยสะสมในช่วง 10 ปีอยู่ที่ 1.9 แสนราย และพบเฉลี่ยอยู่ 2.3 หมื่นรายต่อปี

รศ.ดร.วัชรินทร์ กล่าวว่า ในส่วนสาเหตุของการเกิดโรคในทั่วโลกอาจยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่สำหรับประเทศไทย สาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคอาหารสุกดิบ เช่น กลุ่มปลาน้ำจืด ปลาเกล็ดขาว จนเกิดกระบวนการสะสมเป็นระยะเวลา 20-30 ปี ทำให้ผู้ป่วยเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งที่ผ่านมา ม.ขอนแก่น ได้ตั้งสถาบันวิจัยขึ้นมากว่า 40 ปี เพื่อหาองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหา จนกระทั่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จึงพบว่าทั้งสองส่วนมีความสัมพันธ์กัน และที่สำคัญคือเราสามารถป้องกันได้

“ปัจจุบันเรามีเครื่องมือสำคัญในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น 1. การพัฒนาฐานข้อมูลที่ใช้ในการติดตามและประเมินผลการทำงาน หรือ Isan Cohort 2. ระบบคัดกรองโดยอัลตร้าซาวด์ที่บันทึกผ่านระบบคลาวด์ ช่วยให้คนไข้ไม่ต้องเดินทางไกล 3. การพัฒนาชุดตรวจแบบ ATK ที่หยอดปัสสาวะลงไป 2-3 นาทีก็ได้ผล 4. การพัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ และที่สำคัญคือความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการทำงาน จึงคิดว่าในอีกระยะ 10 ปีต่อจากนี้ จะทำให้เราถึงจุดที่ใกล้เคียงการหยุดปัญหาได้” รศ.ดร.วัชรินทร์ กล่าว

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหานี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาและเกิดเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปี 2557 เรื่อง การกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชน ซึ่งนำไปสู่การที่หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันประกาศแผนยุทธศาสตร์ ทศวรรษกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559-2568 จนปัจจุบันพบว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะสามารถยุติปัญหาได้ ด้วยการดำเนินงานที่ดีจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นวัตกรรมการตรวจคัดกรองและรักษา รวมถึงพฤติกรรมของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

สำหรับกรอบแนวทางการดำเนินงานเพื่อหยุดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งหน่วยงานที่ร่วมประชุมได้นำเสนอและที่ประชุมได้ร่วมกันให้ความเห็นชอบในครั้งนี้ ประกอบด้วย “แผนระยะ 100 วัน” คัดกรองพยาธิใบไม้ตับในประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปในพื้นที่เสี่ยงสูง จำนวน 1 แสนคน พร้อมคิกออฟและถ่ายทอดนโยบายการกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี อยู่ภายในนโยบายมะเร็งครบวงจร ขณะที่ “แผน 1 ปี” จะจัดทำยุทธศาสตร์ในระยะต่อเนื่องจากปี 2568 คัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีในประชากรกลุ่มเสี่ยง 58,000 คน พัฒนาศักยภาพและสร้างความรอบรู้แก่นักเรียน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ประชาชน ผู้ประกอบการ พร้อมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคในชุมชน รวมถึงพัฒนาเครือข่ายอาหารปลอดภัย

ในส่วนของ “แผน 3 ปี” จะผลักดันการตรวจคัดกรองและรักษาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนได้รับการคัดกรองและรักษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ช่วยป้องกันควบคุมโรคอย่างยั่งยืน คัดกรองพยาธิใบไม้ตับ จำนวน 4.1 ล้านราย คัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี จำนวน 5 ล้านราย สร้างความตระหนัก ความรู้ ความเข้าใจ ให้ประชาชนและบุคลากรในพื้นที่ พัฒนาศักยภาพบุคลากรและสนับสนุนทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคอย่างครอบคลุมในระดับพื้นที่ พัฒนาระบบและการส่งต่ออย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนร่วมมือกับท้องถิ่นในการจัดการสิ่งปฏิกูล และออกข้อบัญญัติท้องถิ่นในจังหวัดพื้นที่เสี่ยง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : กรมควบคุมโรค ร่วมคัดกรอง "โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี" ลดการป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็ง

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org