ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาฯสปสช.ย้ำหน่วยบริการทุกแห่งไม่ต้องเรียกใบส่งตัว จากรพ.สต.ถ่ายโอนไปท้องถิ่น งบยังเบิกจ่ายได้ไม่มีปัญหา หากมีสามารถแจ้ง สปสช.จะเป็นเคลียร์ริ่งเฮ้าส์เอง ขออย่ากระทบบริการประชาชน ชี้ไม่สวนทางนโยบายบัตรประชาชนใบเดียว ขณะนี้มอบสปสช.เขตตรวจสอบแล้ว ด้าน “นิมิตร์” จ่อหารือ “หมอชลน่าน” เหตุปัญหายังไม่จบ

 

จากกรณีภาคประชาชนแวดวงสาธารณสุข ออกมาเปิดเผยถึงผลกระทบจากกรณีมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) เห็นชอบโอนงบประมาณผู้ป่วยนอกให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ถ่ายโอนไปองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ในบางพื้นที่ก่อนหน้านี้ ปรากฎว่าในจังหวัดกาญจนบุรีได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้ป่วยเอชไอวีร้องทุกข์ ว่า ไม่ได้รับความสะดวกจากการเข้ารับบริการ เนื่องจากไม่สามารถรับยาที่รพ.ชุมชนได้ เพราะถูกให้เดินทางกลับไปเอาใบส่งตัว รพ.สต. ที่ถ่ายโอน ทำให้ไม่สะดวก สวนทางนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่นั้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : “นิมิตร์” จี้บอร์ดสุขภาพแห่งชาติแก้ปัญหาถ่ายโอนรพ.สต. เหตุคนไข้เดือดร้อน บัตรปชช.ใบเดียวไม่มีจริง!)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ Hfocus ถึงปัญหาดังกล่าวว่า จริงๆเรื่องนี้ต้องแยกออกจากกัน เนื่องจากการรับใบส่งตัวกรณีต้องการเบิกเงินกับทาง สปสช. ถือว่าไม่จำเป็น เพราะเราให้ทุกหน่วยบริการตกลงกันไว้ว่า จะให้ทางสปสช.โอนเงินลักษณะอย่างไร หากมีปัญหาเรื่องการเคลมเงิน ท่านสามารถให้บริการไปก่อนได้ โดยสปสช.จะเป็นเคลียร์ริ่งเฮ้าส์ให้ได้ ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นความเข้าใจผิดเองของหน่วยบริการถ้าจะไปเรียกใบส่งตัว เพราะมีระบบวางไว้แล้ว

“ทางหน่วยบริการ สามารถตกลงกับรพ.สต.ที่ถ่ายโอนนั้นๆ ว่าจะเคลียร์เงินอย่างไร และให้แจ้งมาที่สปสช. ทางเราจะจัดการเคลียร์เงิน ทำเบิกตรงนี้ให้ ทั้งนี้ กรณีจังหวัดกาญจนบุรี ทางสปสช.เขตพื้นที่ลงไปตรวจสอบและหาทางออกร่วมกันแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาอาจยังไม่ชัดเจนเรื่องข้อตกลงของทางหน่วยบริการและรพ.สต.ที่ถ่ายโอนหรือไม่ แต่ในปีงบประมาณต้องดำเนินการแล้ว” นพ.จเด็จกล่าว

พื้นที่ไหนรับผลกระทบเรียกใบส่งตัวแจ้งสายด่วนสปสช.1330

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีเรียกใบส่งตัวจะสวนทางกับนโยบายอำนวความสะดวกประชาชน โดยเฉพาะบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า บัตรประชาชนใบเดียว พื้นฐานคือการบูรณาการข้อมูล ซึ่งไม่ว่าอย่างไร หากเราประกาศพื้นที่ที่มีความพร้อมแล้วก็ต้องดำเนินการได้ โดยประชาชนสามารถนำบัตรประชาชนใบเดียวใช้บริการที่ไหนก็ได้ในพื้นที่ที่มีการประกาศ ส่วนระบบหลังบ้านในการเคลียร์เงินต่างๆ ขอให้เป็นเรื่องธุรการในการบริหารจัดการ อย่าให้กระทบประชาชน ไม่ใช่เรียกใบส่งตัวเพื่อมาเบิกเงิน อันนี้ไม่ควรทำ เพราะสปสช.สามารถเคลียร์ให้ได้ แต่ในระบบหน่วยบริการ และท้องถิ่นต้องตกลงกันก่อน

“หากพื้นที่ไหนได้รับผลกระทบ ประชาชนถูกเรียกใบส่งตัว ยิ่งพื้นที่นำร่องใช้บัตรประชาชนใบเดียวแล้ว แต่ยังมีเรียกใบส่งตัวอีก ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน สปสช.1330 เราจะลงไปเคลียร์ให้ทันที” เลขาธิการสปสช.กล่าว

ภาคปชช.เผยปัญหาใบส่งตัวยังไม่จบ

ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ที่ปรึกษาผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (AIDS Access)  กล่าวกับทาง Hfocus ว่า ปัจจุบันปัญหาก็ยังไม่เคลียร์ เนื่องจากผู้ป่วยเอชไอวีกาญจนบุรียังประสบปัญหาเรื่องใบส่งตัว อย่างโรคแทรกซ้อนต่างๆจากเอชไอวี หรือโรคอะไรที่อยู่ในเหมาจ่ายรายหัวต้องมีใบส่งตัว กล่าวคือ ผู้ป่วยเดิมจะเอายาจากรพ.ชุมชนได้ ก็ต้องกลับไป รพ.สต.ที่ถ่ายโอนอยู่ดี จะมีที่ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวคือกรณีกองทุนเอดส์  เรื่องนี้จึงจำเป็นต้องหารือร่วมกันทั้งกระทรวงสาธารณสุข และสปสช. ซึ่งในเครือข่ายฯจะขอหารือกับทาง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพื่อหาทางออกเรื่องนี้

นำร่อง 4 จังหวัด 'บัตรปชช.ใบเดียวรักษาทุกที่' ข้ามทุกเครือข่าย รวมรพ.สต.ถ่ายโอน 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ข้ามทุกเครือข่าย รพ.รัฐ รพ.เอกชน ร้านยา ฯลฯ รวมไปถึงหน่วยบริการที่ถ่ายโอนไปแล้ว อย่างรพ.สต.ถ่ายโอนไป อบจ. จะสามารถรับบริการได้ไม่มีใบส่งตัว นำร่องมี 4 จังหวัด คือ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส โดยกรณีดังกล่าวมีไทม์ไลน์ระยะที่ 1 เริ่มเดือนมกราคม 2567

ส่วนการรักษาโดยใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่เฉพาะสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น มี 4 เขตสุขภาพรวม 27 จังหวัด ได้แก่

เขตสุขภาพที่ 1 ครอบคลุม 8 จังหวัด  เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน

เขตสุขภาพที่ 4 ครอบคลุม 8จังหวัด สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี 

เขตสุขภาพที่ 9 ครอบคลุม 4จังหวัด นครราชสีมา  ชุยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ 

เขตสุขภาพที่ 12 ครอบคลุม7 จังหวัด พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส