ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดโครงการทีมประสานใจ Care D+ ประจำการทุก รพ. จำนวน 10,550 คนทั่วประเทศ ประเดิม 1,000 คน ธ.ค.นี้ ก่อนส่งมอบสถานพยาบาลเพื่อให้บริการประชาชนครบ 1 หมื่นภายใน เม.ย.67 ด้านรมว.สธ.เผยค่าตอบแทน หากทำนอกเวลางานมีค่าล่วงเวลา พร้อมประเมินผลและขยายไปยังบุคคลากร หรือคนทั่วไปฝึกอบรมสร้างอาชีพในอนาคต

 

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน  ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ ที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข  นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข และ ผู้แทนอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์หลายสายวิชาชีพ ได้เข้าร่วมในงานเปิดโครงการขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสังคม “Care D+ Team”

 

“Care D+ Team” โครงการสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ

นพ.ชลน่านกล่าวว่า โครงการ “Care D+ Team” เป็นโครงการที่ต้องการสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ให้บริการ และการรับบริการที่ดีแก่ผู้รับบริการด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาเราเจอปัญหาความไม่เข้าใจ การร้องเรียน จนนำไปสู่การฟ้องร้องกว่าร้อยละ 90  ผู้ให้การบริการเองก็เกิดความท้อแท้สิ้นหวัง หลายคนออกจากระบบราชการเพราะอยู่ไม่ได้ ดังนั้นจะต้องเสริมสร้างและแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน เพื่อให้คนทำงานยังอยู่ในระบบได้ การสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญและนำมาสู่การเกิดโครงการ “Care D+ Team” หรือญาติเฉพาะกิจ เป็นมิตรถาวร เป็นทีมเชื่อมประสานใจ ทำให้ผู้มารับบริการทราบข้อกังวล เข้าใจถึงขั้นตอนการรักษาต่างๆ   

สธ.ร่วมจุฬาฯ พัฒนาหลักสูตรอบรมสร้างทีมประสานใจ

“โครงการนี้ได้รับความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีหลักสูตรถึง 7 บทเรียนด้วยกัน เน้นการสื่อสารสร้างความเข้าใจ มีหลักจิตวิทยาการสื่อสาร ทั้งออนไซต์ ออนไลน์ มีผู้มาลงทะเบียน 10,550 คน เมื่อจบหลักสูตรเป้าหมายแรกสุดคือ1,000 คนในเดือนธันวาคม และ1 มกราคม 2567 จะส่งมอบทีมให้สถานพยาบาล และวันที่ 13 เมษายน 2567 ก็จะส่งมอบทั้งหมด 10,000 คนที่จบหลักสูตรไปยังสถายพยาบาลทุกระดับ”นพ.ชลน่านกล่าว

โครงการ “Care D+ Team” หนึ่งในควิกวิน 100 วัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน หรือควิกวิน(Quick Win) ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขสามารถขับเคลื่อนได้ทัน 100 วันใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า โครงการแคร์ดีพลัสทีมเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน (Quick Win) ที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอต่อรัฐบาลว่าจะต้องทำให้สำเร็จภายใน 100 วัน ซึ่งวันนี้ถือว่าเริ่มแล้วในการเข้าสู่กระบวนการ และการวัดผลสัมฤทธิ์ คือ วันที่ 1 มกราคม 2567 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการเริ่มอบรมกันแล้ว และจะสิ้นสุดโครงการในเดือนมิถุนายน 2567 โดยเราจะขยายตัวไปเรื่อยๆ

อบรมชุดแรกพร้อมดำเนินการ 1 พันคนใน ธ.ค.นี้

นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า ฉะนั้น แคร์ดีพลัสทีมเป็น 1 ใน 13 นโยบาย ที่ สธ. จะต้องทำ เพื่อแก้ปัญหาให้แก่บุคลากรในเชิงโครงสร้างและระบบ เช่น การลดความแออัด การจัดบริการที่ดี การใช้บัตรประชาชนใบเดียวที่จะเริ่มนำร่องในวันที่ 1 ม.ค.2567 ใน 4 จังหวัดนำร่อง ส่วนวันที่ 2 เม.ย.2567 จะขยายการนำร่องเป็น 4 เขตสุขภาพ ทั้งนี้ เราจะทำให้บุคลากรมีขวัญกำลังใจ  ป้องกันแก้ไขภัยร้ายต่างๆ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้ทำหน้าที่ของท่านอย่างเต็มความสามารถ ตนเชื่อว่าวิชาชีพนี้มีจิตใจที่บริสุทธิ์มาก เห็นเพื่อนมนุษย์ที่ลำบากตกทุกข์ได้ยากก็ทุ่มเทเสียสละช่งยเหลือ นี่คือพื้นฐานจิตใจของพวกเราที่ดีอยู่แล้ว

ค่าตอบแทนทีมประสานใจ หากทำงานนอกเวลาจะมีค่าล่วงเวลา

ผู้สื่อข่าวถามว่าการสร้างทีมประสานใจ จะต้องมีค่าตอบแทนเพิ่มเติมหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า  วันนี้เราสร้าง Care D+ ใน รพ.ทุกแห่ง โดยทางหน่วยบริการนั้นๆจะเป็นผู้ที่บริหารจัดการทรัพยากรของตนเอง ส่วนเรื่องค่าตอบแทนก็จะเป็นไปตามเงินเดือนปกติ แต่หากทำงานนอกเวลาก็จะมีค่าล่วงเวลาในการทำงานเช่นกัน ทั้งนี้ ในอนาคตอาจจะมีการสร้างทีมสื่อสารที่ไม่ใช้บุคลากรทางการแพทย์เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ด้านงานสาธารณสุข  เอาความรู้ตรงนั้นมาใช้ก็จะช่วยได้ก็จะเป็นการสร้างอาชีพได้

 

เมื่อถามว่าในส่วนของการให้บริการใน รพ. ที่ยังพบปัญหาว่าพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ ใช้คำพูดกับผู้ป่วยและญาติ ที่ไม่เหมาะสมนั้น จะต้องดำเนินการอย่างไร นพ.ชลน่านกล่าวว่า Care D+ ปฏิบัติการด่านหน้าที่มีความแออัดยัดเยียดของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยนอก หรือผู้ป่วยฉุกเฉิน ส่วนการพัฒนาบุคลากรใน รพ. ต่างๆ เป็นเรื่องที่เราต้องทำในวาระปกติอยู่แล้ว ตามคุณภาพมาตรฐาน รพ. ที่ต้องได้รับการรับรองจากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ HA ทั้งนี้ บุคลากรจะต้องได้รับการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นส่วนของบุคลากร หรือพฤติกรรมการบริการที่ต้องเป็นเลิศ

ด้าน ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี ด้านการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์ แผน การงบประมาณ และสุขภาวะ จุฬาฯ กล่าวว่า สธ. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง การสื่อสารอย่างเข้าอกเข้าใจ (Emphatic Communication) ในภาคการดูแลสุขภาพ ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยร่วมกันพัฒนาหลักสูตรมาตรฐาน Care D+ เป็นการสื่อสารในการสร้างความเข้าใจกับผู้ป่วยและญาติเพื่อให้รู้สึกคลายกังวล สร้างความเข้าอกเข้าใจให้กับประชาชน ทำให้ประสิทธิภาพในการบริการประชาชทำได้สูงสุด โดยหลักสูตร 7 บทเรียน จะมีทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติ หลังจากนั้นก็จะมีการสอบวัดผลด้วย

สำหรับโครงการอบรม Care D+ กระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง การสื่อสารอย่างเข้าอกเข้าใจ (Emphatic Communication) ในภาคการดูแลสุขภาพ ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยร่วมกันพัฒนาหลักสูตรมาตรฐาน Care D+ เพื่อยกระดับคุณภาพการสื่อสารในภาคการดูแลสุขภาพ อบรมบุคลากรสาธารณสุขให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการสื่อสารมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการบริหารจัดการภาวะวิกฤตทางการสื่อสาร (Crisis Communication Management) และการสื่อสารด้วยความเข้าใจ เชื่อมอารมณ์ความรู้สึกกัน (Emphatic Communication) ซึ่งจะทำให้ทีม Care D+ สามารถรับฟังผู้ป่วยและญาติอย่างเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ สามารถวิเคราะห์และประมวลได้ว่า มีอารมณ์ความรู้สึก ความประสงค์ หรือมีข้อติดขัดติดใจอย่างไร เพื่อจะได้บริหารจัดการหรือตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดความไม่เข้าใจกันหรือความขัดแย้งระหว่างกันลงได้