ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอชลน่าน” มั่นใจทีม CareD+ ลดความขัดแย้ง ปลุกขวัญกำลังใจบุคลากรสธ.กลับคืน ขณะที่ค่าตอบแทนหากทำนอกเวลาราชการต้องจ่ายให้ ชี้ช่วงแรกทีมประสานใจเป็นพยาบาล แต่ระยะต่อไปจะเป็นบุคลากรกลุ่มอื่นๆ หรือประชาชนที่สนใจเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ เหตุไม่อยากเบียดบังภาระงานทางการแพทย์ ด้านวิทยาลัยบริหารสาธารณสุขเผยรายละเอียดหลักสูตร

 

ตามที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เปิดโครงการขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสังคม “Care D+ ” ประจำการทุก รพ. จำนวน 10,550 คนทั่วประเทศ ประเดิม 1,000 คน ธ.ค.นี้ ก่อนส่งมอบสถานพยาบาลเพื่อให้บริการประชาชนครบ 1 หมื่นภายใน เม.ย.67 นั้น หลายคนอาจสงสัยว่า โครงการ Care D+ ช่วงแรกจะเป็นการฝึกบุคลากรที่เป็นพยาบาลด่านหน้าที่ต้องพบปะคนไข้ และญาติ ซึ่งหากให้พวกเขามาอบรมจะกระทบต่อภาระงานที่มี ณ ปัจจุบันหรือไม่นั้น

(ข่าวเปิดโครงการ Care D+: เริ่มแล้ว! ทีมประสานใจ “Care D+”  ประจำ รพ. ชุดแรก 1 พันคน ธ.ค.นี้ ญาติเฉพาะกิจลดความขัดแย้ง(ชมคลิป)

เรื่องนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  กล่าวถึงโครงการ CareD+ ในการอบรมบุคลากรในโรงพยาบาลสังกัดสธ.ว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นบุคลากรของสธ. ที่เป็นพยาบาลมาอบรมและเป็นนักประสานใจ แต่จริงๆสิ่งที่เรามุ่งหวัง คือ งานด้านนี้เป็นเรื่องการสื่อสาร ไม่ใช่การรักษาพยาบาล ดังนั้น การที่จะนำบุคลากรการแพทย์ หรือพยาบาลมาทำหน้าที่ประสานใจ ก็อาจจะสูญเสียโอกาสในการดูแลรักษาพยาบาลประชาชนได้  ดังนั้น  หากสามารถพัฒนาบุคลากรของเราให้มีฐานความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุข และการสื่อสารการให้กำลังใจประชาชนก็สามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ที่สนใจได้ด้วย

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เมื่อมีการให้บุคลากรในรพ.มาอบรมและเป็นหนึ่งในทีมประสานใจนั้น ก็จะใช้กลไกการบริหารจัดการที่ผู้บริหารแต่ละหน่วยบริการต้องดูแลว่า จะกระทบการบริการด้านอื่นหรือไม่  และพิจารณาความเหมาะสมว่า จะจัดสรรคนมาดูแลได้หรือไม่ อย่างที่กล่าวว่า ตนให้ความสำคัญเรื่องนี้ว่า แม้เราจะทำงานในการดูแลสุขภาพดีอย่างไร แต่เมื่อมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น สิ่งดีๆที่เคยทำมาก็จะไม่ได้รับการพูดถึงเลย ซึ่งมุมนี้จะกลับไปทำลายขวัญกำลังใจของคนปฏิบัติงาน  ดังนั้น การวางแนวทางนี้ จัดโครงการนี้คนทำงานก็มีกำลังใจขึ้น ประชาชนก็ได้ประโยชน์ ทุกฝ่ายได้ประโยชน์หมด เป็นการลงทุนไม่สูง ถือว่าคุ้มค่ามาก การอบรมก็หลักสูตรสั้น สามารถออกไปทำงานได้แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามถึงค่าตอบแทนให้ทีม CareD+ จะต้องมีหรือไม่ รัฐมนตรีว่าการสธ.กล่าวว่า ถ้าเราใช้บุคลากรปกติก็จะได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง แต่หากจำเป็นต้องทำนอกเวลา ก็จะมีค่าตอบแทนนอกเวลา 

ดร.สุดคนึง ฤทธิ์ฤาชัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยนักบริหารสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) กล่าวถึงหลักสูตรการเรียนการสอนโครงการขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสังคม หรือ Care D+ ว่า โครงการดังกล่าวเป็นไปตามที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลภายในการอบรมโครงการเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ว่า เป็นการดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2534 ในช่วงที่ พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ ที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข  ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักสารนิเทศ ซึ่งได้ทำหลักสูตรการประชาสัมพันธ์

ดร.สุดคนึง กล่าวอีกว่า ช่วงที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการต่อเนื่องในการยกระดับการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์กับผู้มารับบริการ ทั้งผู้ป่วย ญาติ ที่มารับบริการหน่วยบริการของกระทรวงฯ ซึ่งมีการดำเนินการเพียงแต่ไม่เป็นหลักสูตรที่ทันสมัย เหมาะในยุคปัจจุบัน ซึ่งเราปรับหลักสูตรให้เข้ากับยุคสมัย และยังเป็นการเรียนที่สะดวกมีทั้งออนไลน์ ออนไซต์ในบางพื้นที่เฉพาะ ทำให้เข้าถึงง่ายสำหรับผู้ให้บริการสามารถมาอบรมเรียนที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ ที่สำคัญหลักสูตรเรายังยกระดับตามปัญหาที่พบในปัจจุบัน เช่น  ปัญหาการร้องเรียนต่างๆ  การสื่อสารอย่างไรให้เกิดความเข้าใจ ไม่เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการดูแลจนถึงระยะท้ายของชีวิต ซึ่งทั้งหมดจะมีอยู่ 7 บทเรียนเพื่อสื่อสารในบริบทที่แตกต่างกันออกไป

“แต่ละบทเรียนก็จะเน้นในเรื่องการสื่อสารที่ทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจกัน ไม่ว่าจะเป็นญาติหรือผู้ป่วย ซึ่งหวังว่า เมื่อได้มีการทำความเข้าใจกันระหว่างมารับบริการ ตั้งแต่มาถึงและรักษาในโรงพยาบาล จนรักษาหาย หรือกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็จะมีการสื่อสารดูแลให้กำลังใจครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งหลักสูตรนี้ได้รับความร่วมมือกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการมาร่วมพัฒนาและอบรมบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เราหวังว่าเมื่อจบหลักสูตรบุคลากรทุกคนจะมีความเข้าใจในการสื่อสาร และมีทักษะในการนำไปใช้เพื่อให้บริการประชาชนเป็นญาติเฉพาะกิจ เป็นมิตรถาวรตลอดไป” ผอ.วิทยาลัยนักบริหารสาธารณสุข

สำหรับนักประสานใจที่เข้าอบรม ณ ขณะนี้มีผู้สนใจลงทะเบียนเข้ามาจำนวน 10,550 คนจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงฯ ทุกระดับ ทั้งโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) โรงพยาบาลชุมชน(รพช.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)โดยภายในวันที่ 29 ธันวาคมนี้ จะมีบุคลากรชุดแรกที่ผ่านการอบรมหลักสูตรจำนวน 1,000 คนเพื่อประจำการในโรงพยาบาลสังกัดสธ. จากนั้นภายในวันที่ 30 เมษายน 2567 จะมี 10,000 คน จากนั้นก็จะขับเคลื่อนต่อเนื่องให้มีการสมัครและอบรมเรื่อยๆจนปิดโครงการในเดือนมิถุนายน 2567  เมื่อสิ้นสุดโครงการก็จะมีการประเมินและพิจารณาว่าจะขยายผลโครงการอย่างไรต่อไป

“การสมัครจะให้เขตสุขภาพเป็นศูนย์กลาง เพื่อเปิดให้โรงพยาบาลแต่ละจังหวัดในเขตสุขภาพนั้นๆ ส่งบุคลากรเข้าอบรม ซึ่งขณะนี้หากโรงพยาบาลในสังกัดสนใจส่งบุคลากรมาเพิ่มเติมก็ยังสามารถทำได้ โดยติดต่อไปยังเขตสุขภาพที่ตนสังกัดอยู่ ทางโครงการยังเปิดรับสมัครผู้สนใจต่อเนื่อง” ดร.สุดคนึงกล่าว

ดร.สุดคนึง ฤทธิ์ฤาชัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยนักบริหารสาธารณสุข

 

อย่างไรก็ตาม การวัดประเมินผลนั้น เมื่อจบทุกหน่วยการเรียน จะให้ทำแบบทดสอบว่ามีความรู้ความเข้าใจและมีทักษะนำไปใช้จริง ประกอบกับจะมีการติดตามโครงการ โดยพิจารณาจากจำนวนข้อร้องเรียนลดลงจากเดิมหรือไม่ รวมทั้งพิจารณาจากอัตราความพึงพอใจของผู้รับบริการ เป็นต้น

“จริงๆบุคลากรเรามีทักษะอยู่แล้ว การอบรมก็จะเป็นลักษณะทั้ง Upskill และ Reskill และบางโรงพยาบาล เราจะจัดทีมออนไซต์ไปอบรมด้วย หรือหากอบรมไปแล้ว บุคลากรหน้างานที่ทำงานตรงนี้หากมีข้อสงสัย ในระบบยังมี Line OA เพื่อให้สอบถามเข้ามาด้วย ซึ่งเราจะมีแอดมินคอยตอบให้ตลอด สิ่งสำคัญหลักสูตรยังแนะนำในเรื่องการรับฟัง การฟังอย่างเข้าใจ เพื่อสื่อสารออกไปอย่างเหมาะสมได้” ผอ.วิทยาลัยฯ กล่าว

ทั้งหมดเป็นอีกนโยบายควิกวินที่รัฐบาลเพื่อไทย ในส่วนกระทรวงสาธารณสุขจัดให้บุคลากร และประชาชนผู้รับบริการ เพื่อหวังว่า ความเข้าใจในการสื่อสารจะเพิ่มมากขึ้น ลดปัญหาการด่าทอ การไม่เข้าใจกันได้ งานนี้ต้องมารอติดตามความสัมฤทธิ์ผล การประเมินว่าออกมาเป็นอย่างไร...